คณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติว่าจ้าง บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัทเอพซิลอน จำกัด เป็นที่ปรึกษาศึกษาและออกแบบรายละเอียดโครงการทางพิเศษ( ทางด่วน)สายใหม่สายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี วงเงินประมาณ 380 ล้านบาทระยะเวลา 540 วัน

กทพ.วางเป้าหมายเร่งรัดโครงการนี้ให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องผจญการจราจรติดขัดบนถนนรังสิต-นครนายก รวมทั้งขยายโครงข่ายทางด่วนจากกรุงเทพฯสู่ จ.นครนายกและจ.สระบุรี ช่วยระบายรถสู่ภาคกลาง ภาคอีสานและภาคเหนือในช่วงเทศกาล ซึ่งบอร์ดให้แบ่งดำเนินงานเป็น2ระยะ(เฟส ) ได้แก่ เฟสที่ 1 ทางพิเศษฉลองรัช-นครนายก และเฟสที่2 นครนายก-สระบุรี เพื่อให้โครงการเดินหน้ารวดเร็วขึ้น

เบื้องต้นโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี มีระยะทาง 104.7 กม. ประมาณการลงทุนรวมทั้งสิ้น 80,594.31 ล้านบาท เป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 7,395.42 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง (รวมค่าควบคุมงาน) 73,198.89 ล้านบาท เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรไปกลับ (ทิศทางละ 3 ช่อง)

ส่องแนวเส้นทางเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางพิเศษฉลองรัช(ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์) ที่ด่านจตุโชติบริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษกช่วงบางพลี-บางปะอิน) ไปทางทิศตะวันออกตัดผ่านถนนหทัยราษฎร์และถนนนิมิตใหม่ จากนั้นเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตัดผ่านถนนลำลูกกา บริเวณ กม. 22+500 ผ่านทางหลวงชนบท นย. 3001 และถนนรังสิต-นครนายกบริเวณ กม.59+800 แล้วขึ้นไปทางทิศเหนือตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 33 (ถนนสุวรรณศร) บริเวณกม.116+000

แนวสายทางขนานทางหลวงหมายเลข 3222 เชื่อมโครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) และทางเลี่ยงเมืองสระบุรี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 362) ด้านตะวันออกสิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) บริเวณ กม.10+700 อ.แก่งคอย จ.สระบุรี มีจุดพักรถ 1 แห่ง บริเวณแยกบางอ้อ อ.บ้านนา จ.นครนายก และจุดบริการ 1 แห่ง ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี

ทางด่วนสายนี้มีทางขึ้น-ลง 9 แห่งเชื่อมต่อถนนสายหลัก ตามพิกัดดังนี้ จุดที่ 1 ทางขึ้น-ลงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก จุดที่ 2 ทางขึ้น-ลง ถนนหทัยราษฎร์ จุดที่ 3 ทางขึ้น-ลง ถนนลำลูกกา จุดที่ 4 ทางขึ้น-ลง ทางหลวงชนบท นย.3001 (องครักษ์) จุดที่ 5 ทางขึ้น-ลง ถนนรังสิต-นครนายก (บางอ้อ) จุดที่ 6 ทางขึ้น-ลง ถนนสุวรรณศร (บ้านนา) จุดที่ 7 ทางขึ้น-ลง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) จุดที่ 8 ทางขึ้น-ลง ถนนเลี่ยงเมืองสระบุรี และจุดที่ 9 ทางขึ้น-ลง ถนนมิตรภาพ

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานบอร์ดกทพ. ให้คำมั่นว่า บอร์ดได้เร่งรัดกำหนดออกแบบรายละเอียดให้แล้วเสร็จภายในปี 64 จากนั้นนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ขออนุมัติดำเนินโครงการ และร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เพื่อจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลเฟสแรกจากรามอินทรา-นครนายก ในปี65 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปีเปิดบริการปี 68

คิดดูเล่นๆ หากใช้ความเร็ว 100-120 กม.ต่อชม. ซึ่งเป็นความเร็วที่กทพ.ให้ใช้ใกล้เคียงกับที่กรมทางหลวง(ทล.) กำหนดความเร็วของมอเตอเวย์ไม่เกิน120 กม. ต่อชม. ทางด่วนสายใหม่นี้จะทำให้ประชาชนเดินทางจากกรุงเทพฯไปถึงจ.สระบุรีในระยะทาง 104 กม. ภายในเวลาประมาณ 1 ชม.เท่านั้น และยังเชื่อมต่อการเดินทางไปภาคอีสานได้ภายในไม่เกิน 3 ชม. จากปกติช่วงเทศกาลใช้เวลาเดินทางกว่าค่อนวัน

ย้อนดูทางด่วนที่กทพ.เปิดบริการแล้ว 9 เส้นทาง มีระยะทางรวม 225 กม. ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง ประกอบด้วย 1. ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ระบบทางด่วนขั้นที่ 1) ระยะทาง 27.1 กม. 2. ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่2 ) 38.4 กม. 3. ทางพิเศษฉลองรัช (ทางด่วนสายรามอินทรา – อาจณรงค์) 18.7 กม. 4. ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางด่วนสายบางนา – ชลบุรี) 55 กม. 5. ทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด) 32 กม.

6. ระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายใต้ ตอน S 1 มีจุดเริ่มต้นจากปลายทางพิเศษฉลองรัชและซ้อนทับไปตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานครจากทางแยกต่างระดับอาจณรงค์เชื่อมต่อกับทางพิเศษบูรพาวิถี 4.7 กม. 7. ทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ 22.5 กม. 8. ทางพิเศษสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก 9.5 กม. และ 9. ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก ระยะทาง 16.7 กม. ซึ่งเปิดบริการล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2559

อดใจรอ ทางด่วนสายใหม่ เป็นทั้งทางเลี่ยงและวิ่งลัดเชื่อมกรุงเทพฯ ภาคกลาง แอ่วเหนือและอีสานบ้านเฮา แต่ก็ต้องแลกด้วยค่าบริการผ่านทางเพื่อความฉิว
……………………………
คอลัมน์ : มุมคนเมือง
โดย “เทียนหยด”