…เป็นสถานการณ์สำคัญที่มีการสะท้อนไว้บนเวทีเสวนา Little Big Communities Talk season 2 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ฉายภาพให้สังคมไทยหันมาใส่ใจตระหนักถึงปัญหานี้…

“พ่อแม่วัยรุ่น” แม้ลดลงจากในอดีต…

กระนั้น…ก็ยังมี “สถานการณ์น่าห่วง!!”

สถานการณ์พ่อแม่วัยรุ่น “พ่อแม่วัยใส” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อในวันนี้ ฉายภาพไว้โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ และกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ผ่านหัวข้อ “พ่อแม่วัยรุ่นกับปัญหาความยากจนข้ามรุ่นของสังคมไทย” ซึ่งเป็นการฉายภาพไว้ในเวทีเสวนาที่จัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ โดย ศ.ดร.สมพงษ์ ชี้ไว้ว่า… หากสังคมไทยไม่ยื่นมือให้ความช่วยเหลือพ่อวัยรุ่นแม่วัยใสเหล่านี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะถูกส่งผ่านไปสู่รุ่นลูก ก็จะเกิด “ความยากจนข้ามรุ่น” ขึ้นมา…

นี่เป็น “ระเบิดเวลาอีกลูกในสังคมไทย”

ทั้งนี้ ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุไว้ว่า… ปี 2553 สังคมไทยเคยต้องตกใจเมื่อพบสถิติ “พ่อแม่วัยใส” ในเวลานั้นว่า…มีตัวเลขอยู่มากกว่า 120,000 คน และยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ โดยปี 2554 มีสถิติคลอดในแม่วัยรุ่นสูงถึง 128,763 คน ซึ่งในจำนวนพ่อแม่วัยใสกลุ่มนี้…ส่วนใหญ่ เป็นเด็กและเยาวชนที่มีอายุช่วง 10-19 ปี ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นปัญหาที่ใหญ่มากในเวลานั้น จนทำให้คณะรัฐมนตรี ต้องจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาออกมาในช่วงนั้น ทั้งการออก พ.ร.บ.ต่าง ๆ และแนวทางต่าง ๆ เพื่อจะลดปัญหาเรื่องนี้ …นี่เป็นสถานการณ์ในอดีต กรณี “ปัญหาพ่อแม่วัยใส” ที่ครั้งหนึ่งเคยทำให้สังคมไทยต้องตกใจ…

ศ.ดร.สมพงษ์ สะท้อนถึงปัญหาเรื่องนี้ไว้อีกว่า… จากแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ที่เคยมีออกมา ก็ส่งผลให้ตัวเลข “พ่อแม่วัยรุ่น” ลดลง โดยผลสำรวจปี 2563 พบว่า…ไทยมีแม่วัยใสอยู่ที่ราว 56,000 คน จึงมีการตั้งเป้าเอาไว้ว่า… ภายในปี 2569 ประเทศไทยจะต้องมีแม่วัยใสลดลงมาเหลือแค่ 0.5 ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ในกลุ่มเด็กช่วงอายุ 10-14 ปี ส่วนช่วงอายุ 15-19 ปี ลดลงเหลือ 28.7 และเป้าคือ 25 ต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงเป้าที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ตัวเลขจะลดลงมามากจากในอดีตแล้ว แต่ก็ยังคง พบ “กรณีปัญหาสำคัญ” นั่นคือ “การส่งต่อปัญหาข้ามไปสู่รุ่นลูก” ซึ่งประเด็นนี้ทาง ศ.ดร.สมพงษ์ ได้มีการหยิบยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี โดยระบุว่า… มีกรณีของแม่วัยใสคนหนึ่งที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพราะตั้งครรภ์ และต้องทำงานในโรงงานวันละ 8 ชั่วโมง แต่รายได้ก็ไม่พอ จนต้องทำโอที ทำให้ต้องทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ จนเป็นเส้นเลือดขอดทั้งที่ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ ขณะที่ลูกสาวก็โตขึ้นมาโดยขาดการเอาใจใส่ เติบโตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ไม่สู้ดี จนสุดท้าย ลูกก็ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร อีกรุ่นหนึ่ง!!…

“พอลูกสาวรายนี้คลอดลูกออกมาแล้ว สุดท้ายตัวลูกสาวคนนี้เองก็ต้องเข้าไปทำงานในโรงงานเหมือนกับคุณแม่ของตัวเอง เป็นวงจรสืบต่อกัน…” …ทาง ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุไว้ถึงกรณีตัวอย่างของ “วงจรปัญหา” นี้…

ไม่มี “ระบบช่วยเหลือ” ปัญหาก็ถูกส่งต่อ

จากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ ทาง ศ.ดร.สมพงษ์ เน้นย้ำไว้ว่า… จำเป็นที่สังคมไทยต้องเข้าแทรกแซง เพื่อ “ตัดวงจรแม่วัยใส” เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการส่งต่อปัญหาไปเรื่อย ๆ รุ่นแล้วรุ่นเล่าไม่จบสิ้น โดย การตัดวงจรปัญหานี้สามารถทำได้ด้วยความช่วยเหลือจากภาครัฐและภาคประชาสังคม ที่เข้าไปช่วยออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กกลุ่มนี้ ในลักษณะ “Family Center” ซึ่งเด็กจะมีชีวิตที่ดีขึ้น และค่อย ๆ เกิดแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการศึกษา หลังจากแรงบันดาลใจเรื่องนี้หายไปพร้อมกับการตั้งครรภ์ในระหว่างเรียน นอกจากนั้นเด็กก็จะได้มีเวลาเรียนรู้ที่จะอยู่กับครอบครัวและลูกของตัวเอง…

นี่เป็น “ข้อเสนอแนะ” เพื่อตัดวงจรปัญหา

นอกจากนั้น นักวิชาการท่านเดิมยังระบุไว้ด้วยว่า… ไทยจำเป็นต้องเร่งช่วยเหลือเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ให้เร็วที่สุด เนื่องจากปัญหาพ่อแม่วัยใสนี้ไม่เพียงวงจรปัญหาไม่จบสิ้น แต่ยัง “ส่งผลถึงโครงสร้างเศรษฐกิจครัวเรือน” จากการที่ “ส่งต่อความยากจนข้ามรุ่น” ซึ่งจากการทำงานของ กสศ. พบว่า…เด็กกลุ่มที่พร้อมจะส่งต่อปัญหาความยากจนข้ามรุ่นนั้นส่วนใหญ่เป็นเด็กระดับข้างล่างสุดเกือบทั้งหมด ซึ่ง กสศ.เร่งให้การช่วยเหลืออยู่ในขณะนี้ ทั้งการดำเนินชีวิต การศึกษา รวมถึงการส่งเสริมทักษะต่าง ๆ ทางอาชีพ โดยหวังว่าเด็กกลุ่มนี้จะทยอยเข้าไปทดแทนแรงงานนอกระบบได้ในอนาคต

“การให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนนั้น ขณะนี้มองที่การพัฒนาการศึกษาหลักสูตรระยะสั้น เพื่อให้เด็กมีความรู้หรือทักษะติดตัวเร็วที่สุด เพื่อที่จะไปเริ่มต้นประกอบอาชีพ ซึ่งเมื่อมีกระบวนการประคับประคองให้เด็ก ก็จะช่วยตัดวงจรปัญหานี้ได้”…ทาง ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุถึงแนวทางเร่งด่วนเพื่อลดปัญหา “พ่อแม่วัยใส” เพื่อไม่ให้ปัญหานี้…

เป็น “ปัญหาที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น”…

เป็น “วังวนปัญหาชีวิตไม่จบไม่สิ้น” …

เป็น “อีกทุกข์อมตะในสังคมไทย!!”.