สัปดาห์ก่อน ทีมข่าว 1/4Special Report ได้เกาะติดปัญหา การผัวผวนของราคายางพารา จากราคาที่กำลังไต่ขึ้นไปถึง 80 บาท สูงสุดในรอบ 3 ปี แต่พอจะตกก็ดิ่งลงมาอย่างรวดเร็วในเวลาเพียงไม่กี่วัน แทบจะเหลือเพียง 3 กิโลร้อย จนทำให้ทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ กำลังตรวจสอบพร้อมเร่งหาต้นสายปลายเหตุ

บรรดาเกษตรกรชาวสวนยางพารา ต่างมีคำถามค้างคาใจว่า ใครบ้าง? มีส่วนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากเหตุการณ์ผันผวนราคาผิดปกติครั้งนี้ และที่สำคัญอยากรู้ “ใคร” คือผู้ควบคุมราคายางพาราในไทยอย่างแท้จริง ?

อย่างไรก็ดีในช่วงเดือน พ.ย. 63  ยังมีผลผลิต “ปาล์มน้ำมัน” เป็นที่น่าจับตาไม่น้อยเช่นกัน ราคาก็ยังปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาปาล์มน้ำมันรับซื้อที่หน้าโรงงานในแหล่งผลิต (สุราษฎร์ธานี กระบี่ และ ชุมพร) ราคาปรับตัวขึ้นจากกิโลกรัม ละ 4.10– 5.00 บาท ( 1 ต.ค. 63) เพิ่มเป็นกก.ละ 6.00–7.00 บาท (16 พ.ย. 63) นอกจากนี้ราคาของ “น้ำมันปาล์มดิบ” ก็ปรับตัวขึ้น กก.ละ 25.00–25.25 บาท

เป็นที่น่าสังเกต ยังไม่เคยมีมาก่อนที่ราคา ลูกปาล์มสด หรือ ปาล์มทลาย จะมีราคาพุ่งสูงขึ้นในเดือนเดียวไปถึงกิโลกรัมละ 7 บาท จนมีคำถามมากมายเกิดขึ้นว่า ราคาที่ลานปาล์ม และ โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ รับซื้อผลผลิตลูกปาล์มสด และปาล์มทะลาย เป็นราคาถูกปั่นจากตลาดต่างประเทศ เช่นเดียวกับราคายางพาราคาหรือไม่ ดังนั้นบรรดาเกษตรที่ปลูกปาล์มน้ำมันจึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด

หลายปัจจัยทำให้ปาล์มน้ำมันราคาพุ่ง                                   

ทีมข่าว 1/4Special Report ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายชัยฤทธิ์ ถ่ายย้วน นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน จ.ตรัง และคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมัน (กนป.) ถึงสาเหตุของราคาปาล์มน้ำมันที่พู่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นายชัยฤทธิ์ กล่าวว่า สาเหตุมาจากทั้งปัจจัยภายในประเทศ และนอกประเทศ โดยปัจจัยภายในประเทศคือ ราคาปาล์มน้ำมันที่ตกต่ำมากว่า 2 ปี ทำให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันขาดการบำรุงรักษาทำให้ผลผลิตของปาล์มในปี 2563 หายไปจากตลาด กว่า 10 ล้านตัน (จากที่เคยมีถึง  17 ล้านตัน) ส่วนปัจจัยที่มาจากต่างประเทศ ทราบว่าเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองในหลายประเทศ ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ น้ำมันถั่วเหลือง ที่ใช้บริโภคในครัวเรือนมีราคาแพงโรงงานผู้ผลิตต้องหันมาใช้ ปาล์มน้ำมัน ทดแทน  เป็นเหตุให้โรงงานเหล่านี้ แย่งกันซื้อผลผลิตจากเกษตรกร จนทำให้ราคาปรับสูงขึ้นตามความต้องการของโรงงาน

นอกจากนี้ยังมีวิกฤติของโควิด-19 ทำให้ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตปาล์มน้ำมัน และส่งออกอันดับ 2 ของโลก ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีแรงงานในสวนปาล์ม จนไม่สามารถนำผลผลิตออกสู่โรงงานเหมือนปกติ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ น้ำมันปาล์ม จากโรงสกัดมีไม่เพียงพอ และอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือการที่ กระทรวงพลังงาน ส่งเสริมให้นำน้ำมันปาล์ม มาใช้เป็นสวนผสมของ น้ำมันดีเซล บี 10 และ น้ำมันดีเซล บี 100 ทำให้ผลผลิตไม่พอเพียงกับความต้องการของตลาด

“ดังนั้นราคาปาล์มที่พุ่งสูงขึ้นในขณะนี้ เชื่อว่าต่างกับราคายางพารา เพราะสาเหตุหลักเกิดขึ้นจากการ ขาดแคลนผลปาล์ม ที่โรงงานในประเทศต้องการ อย่างไรก็ดีการที่ปาล์มมีราคาสูงก็ยังไม่ได้ทำให้ชาวสวนปาล์มร่ำรวยขึ้น เพราะชาวสวนส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรรายย่อย ไม่ได้มีผลผลิตที่จะเก็บไปขายจำนวนมาก ผิดกับสวนปาล์มของบรรดานายทุนรายใหญ่ ๆ ที่ได้รับอานิสงส์จากราคาปาล์มน้ำมันที่พ6jงสูงไปแบบเต็ม ๆ” นายชัยฤทธิ์ กล่าว

ระวัง “นายทุน” ลักไก่ขึ้นราคาน้ำมันปาล์ม

นายนัครินทร์ บุญคง เกษตรกรเจ้าของสวนปาล์ม อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ให้สัมภาษณ์ว่า โดยข้อเท็จจริง การทำสวนปาล์มของเกษตรกรชาวสวนปาล์มนั้น มี ต้นทุน อยู่ที่ประมาณ 3.80 บาท ส่วน ราคาคุ้มทุน ของเกษตรกรอยู่ที่ กก.ละ 4.20 บาท แต่ถ้าจะให้ชาวสวนปาล์ม อยู่ได้อย่างมั่นคง ราคาปาล์มที่เกษตรกรขายให้กับลานเท หรือ โรงงานต้องอยู่ที่ กก.ละ 5 บาท  วันนี้ที่ราคาปาล์มขึ้นไปถึง 7-8 บาท เป็นเพราะผลผลิตไม่มี เนื่องจากปีที่ผ่านมาราคาตกต่ำ เจ้าของสวนปาล์มส่วนใหญ่ต่างก็เหมือนจะทิ้งไม่ลงทุนใส่ปุ๋ย ไม่บำรุงรักษา  อย่างไรก็ดีอีก 3 เดือน เชื่อว่าเมื่อถึงฤดูกาลที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น พ่อค้า และโรงงาน คงจะต้องกดราคารับซื้อลงมาเหลือ กิโลกรัมละ 3 บาทเหมือนทุกครั้ง ทั้งนี้การแย่งกันซื้อผลผลิตจากชาวสวน แม้จะทำให้ราคาผลปาล์มสูงขึ้น แต่ก็ไปสร้างปัญหาที่เป็น ห่วงโซ่กลางน้ำ และ ปลายน้ำ นั่นคือ โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ไม่สามารถจะเดินเครื่องได้เต็มเวลา

ขณะที่โรงงานของ กลุ่มทุนใหญ่ จะมีแบบครบวงจรทั้ง โรงสกัด, โรงกลั่น และ โรงงานผลิตน้ำมัน ถึงจะมีผลกระทบแต่ก็ไม่มาก เพราะน้ำมันที่กลั่นได้ส่วนหนึ่งส่งขายต่างประเทศในราคาแพง ส่วนหนึ่งขายในประเทศได้มากขึ้น และเชื่อว่า ในไม่ช้านี้ ผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม เพื่อการบริโภคจะต้องอ้างถึงต้นทุนของปาล์มที่แพงขึ้นอาจขอปรับราคาขายปลีก ที่วันนี้ กระทรวงพาณิชย์ กำหนดราคาไว้ที่ 42 บาท ซึ่งโดยข้อเท็จจริงราคานี้ก็เป็นราคาที่ถูกคำนวณต้นทุนของการรับซื้อผลปาล์มที่ กก.ละ 7 บาทไว้แล้ว ดังนั้นถ้ากระทรวงพาณิชย์ตามเล่ห์กลของกลุ่มทุนไม่ทันจะถูกอ้างเรื่องปาล์มราคาแพง ตีกินเพื่อสร้างกำไรในทันที

นายนัครินทร์ กล่าวต่อว่า แต่กับ วิสาหกิจ หรือ สหกรณ์ ในพื้นที่ คือ ผู้ได้รับผลกระทบ เพราะวัตถุดิบที่แพงขึ้น และมีปริมาณน้อยลง ขาดสภาพคล่องของเงินทุนในการแข่งขัน จนมีการประกาศปิดกิจการ ทำให้คนงานตกงาน ซึ่งนี่คือผลพวงที่เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ของภาคใต้และหากผลปาล์มยังออกสู่ตลาดน้อยลง สิ่งที่หน่วยงานเกี่ยวข้องต้องรับมือคือ ราคาน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค กลุ่มโรงงานผู้ผลิต ซึ่งผูกขาดอยู่เพียงไม่กี่โรง จะขอปรับราคาขายปลีกหรือไม่ และหากยอมให้มีการปรับราคาสูงขึ้นตามราคาผลปาล์มที่แพงกว่าเดิม 1 เท่าตัว ก็จะเท่ากับเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่ต่างเดือดร้อนจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทั้งจากวิกฤติโควิด-19 และจากความล้มเหลวของการแก้ปัญหาของภาครัฐ

นอกจากนี้รวมทั้งการใช้น้ำมันปาล์ม เป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำมันดีเซล บี 10 ซึ่งถูกจัดให้เป็นน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันทุกปั๊มต้องจำหน่าย เมื่อราคาน้ำมันปาล์มสูงขึ้น ต้นทุนของการผลิต บี 10 ก็ต้องเพิ่มขึ้น วันนี้ ราคาดีเซล บี 10 แตกต่างจาก ดีเซล บี 7 ลิตรละ 2 บาท โดยรัฐบาลชดเชยให้โรงกลั่นน้ำมันลิตรละ 3 บาท ถ้าราคาน้ำมันปาล์ม ที่ใช้เป็นส่วนผสมแพงขึ้นกระทรวงพลังงานจำเป็นต้องปรับราคาให้แพงขึ้นหรือไม่ และหากต้องปรับราคาตามต้นทุนน้ำมันปาล์ม ก็เท่ากับเป็นการผลักภาระให้กับประชาชนอีกต่อหนึ่ง

หวั่นลักลอบนำเข้าน้ำมันต่างประเทศ

อีกประเด็นที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อราคาปาล์มในประเทศแพง กลุ่มทุน ก็อาจจะขออนุญาตกระทรวงพาณิชย์ ในการ นำเข้า น้ำมันปาล์ม จากประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ตรงนี้คือเรื่องใหญ่ เพราะทุกครั้งที่มีการอนุญาตให้นำเข้า ราคาปาล์มในประเทศก็จะร่วงลงอย่างรวดเร็วทันที และผู้ที่รับเคราะห์คือ เกษตรกรชาวสวนปาล์มนั่นเอง  แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเป็นการเปิดช่องโหว่ให้มีการ ลักลอบขนน้ำมันเถื่อน จากประเทศเพื่อนบ้าน ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตทำให้ราคาปาล์มตกต่ำ เพราะมีการลอบขนน้ำมันเถื่อนเข้ามา

ดังนั้นเรื่องของเกษตรกรชาวสวนปาล์ม จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ จะต้องตามให้ทันเล่ห์กลของ ’กลุ่มทุน“ ปัญหาของเกษตรกรชาสวนปาล์มอยู่ที่ไหน และจะแก้อย่างไรเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่ว่า ’เกษตรผลิต พาณิชย์ขาย“ เพราะถ้าทำได้จริง เกษตรกรไม่ว่าจะเป็นชาวสวนสวนปาล์มและสวนยาง คงจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง อย่าให้บทสรุปสุดท้าย ผู้ได้รับประโยชน์แท้จริง ยังไม่ใช่เกษตรกร!!