เมื่อเดือนที่แล้ว นายหวัง อี้ รมว.การต่างประเทศจีน เสนอเรื่องจีเอสไอ ต่อสำนักงานเลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในกรุงจาการ์ตา โดยระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เขาได้เน้นย้ำความพยายามของรัฐบาลปักกิ่ง ในการส่งเสริมจีเอสไอ และบูรณาการเรื่องนี้ ให้เข้ากับแนวทางที่มีอยู่ต่ออาเซียนในฐานะการรวมกลุ่ม และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะภูมิภาค

นับตั้งแต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เปิดตัวแผนริเริ่มนี้ นักการทูตหลายคนของรัฐบาลปักกิ่ง วางกรอบว่า สิ่งนี้เป็นวิธีแก้ปัญหาของจีนในการป้องกันความขัดแย้ง และส่งเสริมเสถียรภาพท่ามกลางความท้าทายที่เกิดจากโรคโควิด-19, การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้น และสงครามในยูเครน อีกทั้งยังเป็นการถ่วงดุลแนวทางของประเทศอื่น เช่น สหรัฐ ด้วย

ขณะที่จีเอสไอ ยังคงมีเนื้อหาคลุมเครือค่อนข้างมาก จีนได้เปิดตัวแผนริเริ่มดังกล่าวกับแต่ละประเทศแล้ว โดยที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความสำคัญ ซึ่งหลังจากที่มีการเปิดเผยจีเอสไอได้ไม่นาน นักการทูตจีน ส่งคำสุนทรพจน์และเขียนบทความคิดเห็นพิเศษเกี่ยวกับแผนริเริ่มไปยังแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควบคู่กับแผนริเริ่มการพัฒนาโลก (จีดีไอ) ที่นายสีได้เผยในสุนทรพจน์ของเขาต่อสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) เมื่อปีที่แล้ว

นายหวังพูดถึงจีเอสไอว่า เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามพัฒนาสันติภาพและเสถียรภาพระดับภูมิภาค ซึ่งมีการเน้นย้ำก่อนหน้านี้ในคำกล่าวของเขา เกี่ยวกับการเป็นส่วนหนึ่งของทิศทางสำคัญประการที่ 2 จาก 5 ประการ ในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและจีน โดยประการแรกเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ส่วนอีก 3 ประการที่เหลือ จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนา, วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, นวัตกรรม และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน

ทว่าการที่จีเอสไอจะแปรเปลี่ยนจากวาทศิลป์สู่ความเป็นจริงได้หรือไม่นั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง และมันไม่ได้ปราศจากความท้าทายโดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับข้อเสนออื่นของจีน ที่ยังคงไม่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม การวางตำแหน่งจีเอสไอที่เฉียบแหลมมากขึ้นของจีน ด้วยวิสัยทัศน์ “เอเชียเพื่อคนเอเชีย” ที่เกี่ยวข้องกับทางเลือก “ภายนอก” กำลังเผชิญกับการโต้กลับ เนื่องจากหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างตระหนักถึงช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างวาทศิลป์และความเป็นจริง เมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งของรัฐบาลปักกิ่ง รวมถึงข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

สิ่งเหล่านี้อาจไม่ลดความสำคัญของจีเอสไอ หรือความพยายามของจีน ในการส่งเสริมแผนริเริ่มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภายในอาเซียนได้ ในทางกลับกัน มันจะเสริมสร้างความสำคัญของการพิจารณาแผนริเริ่มอย่างจีเอสไอมากยิ่งขึ้น ในฐานะที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทบาทความมั่นคงระดับภูมิภาคที่กำลังเติบโตของจีน และความพยายามแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อรวมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ขยายออกไป ให้เป็นข้อเสนอที่สามารถได้รับความสนใจภายในภูมิภาค และวางตำแหน่งตัวเองได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับคู่แข่งประเทศอื่น

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES