การเมืองไทยในยุคมี รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มักจะมีความเข้มข้นเดือดทุกครั้ง เวลามีการเปิดประชุมสภา ไม่ว่าจะเป็นสมัยสามัญหรือวิสามัญ ยิ่งการเปิดสภาสามัญในวันที่ 22  พฤษภาคม 2563  ถือเป็นห้วงเวลาสำคัญ เนื่องจากจะมีการพิจารณากฎหมายที่มีความสำคัญ เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังจากประเทศไทยต้องเผชิญกับเชื้อไวรัสโควิด-19 

ประกอบด้วย พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท)

พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563  พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563

และ พ.ร.บ. การโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 รวมถึงการเสนอญัตติด่วนต่อสภาฯ ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อติดตามการใช้งบประมาณตาม พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ

อย่างไรก็ตามแม้ 6 พรรคฝ่ายค้านนำโดย “เพื่อไทย(พท.)” จะกำหนดยุทธศาสตร์  เพื่อหวังจะสร้างกระแส โดยใช้ มาตรการสำคัญของภาครัฐ มาเป็นเครื่องมือในการโชว์ผลงาน แต่ด้วยดุลอำนาจที่เปลี่ยนไป โดย ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลมี 265 เสียง ฝ่ายค้านเหลือแค่ 224 เสียง หลังจาก  พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ต้องถูกยุบไป เลยทำให้การคุมเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลไม่น่าจะมีปัญหา

มิหนำซ้ำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยังมีบาดแผลสำคัญ จากผลงานการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในฝ่ายบริหาร ยังทำให้เกิดความหวาดระแวงระหว่าง “พท.” กับ “อนค.” ก่อนจะถูกยุบไป  อันเนื่องมาจากคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ (ศาล รธน.)  ในคดีเงินกู้ และหันมาทำงานการเมืองในชื่อ “พรรคก้าวไกล“ (กก.)

อีกทั้งยิ่งมีข่าวสมาชิกพท.บางคน เล่นบทมวยล้มต้มคนดู แกล้งทำข้อสอบรั่ว อภิปรายเยิ่นเย้อ จนทำให้รัฐมนตรีบางคน ที่มีชื่อถูกซักฟอก ไม่ถูกอภิปราย ยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ต้องลดน้อยลงไปอีก

นอกจากนี้ยังมีข่าวว่า พรรคแกนนำฝ่ายค้านก็มีปัญหาความขัดแย้งภายใน เกิดการไม่ยอมรับในบทบาทของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์”

ประธานยุทธศาสตร์ พท. จนทำให้ “นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล” รู้จักกันในนาม “เสี่ยเพ้ง“ ต้องล่าถอยไป ยิ่งส่งผลต่อการดูแลส.ส. เพราะตามธรรมเนียมของทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน นอกเหนือจากเงินเดือน ยังมีปัจจัยพิเศษที่ใช้ในการลงพื้นที่ และดูแลชาวบ้าน  

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก กับความเคลื่อนไหวของนักการเมือง ในการทำกิจกรรมรูปแบบต่างๆ เพื่อไม่ให้ตนเองต้องถูกลืม ยิ่งนักการเมืองในพท.คิดว่า “รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสกัด ไม่ให้พท.ชนะเลือกตั้ง เพราะหากได้ ส.ส. เขตก็จะไม่ได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้การเลือกตั้งล่าสุดที่พท.ชนะเลือกตั้งได้ ส.ส. เขต 136 คน แต่ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อสอบตกหมด”

ยิ่งทำให้ นักการเมืองซีกขั้วอำนาจเก่า ต้องดิ้นรนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีบางกลุ่มเจ็บปวด  จากการไปร่วมก่อตั้ง พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และต้องถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีพฤติกรรมขัดกับรัฐธรรมนูญ  อันเนื่องมาจากการดึง “บุคคลชั้นสูง” มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

แต่อำนาจเป็นสิ่งหอมหวล อย่าลืมว่า ขั้วอำนาจเก่าที่มีพท.เป็นแกนนำ ต้องหลุดพ้นจากการเป็นรัฐบาลมาเกือบ 7 ปี ภายหลังถูก ”คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ยึดอำนาจมาตั้งเดือนพฤษภาคม 2557  หนทางในการดิ้นกลับคืนสู่อำนาจ จึงมีความจำเป็น

ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดก็ตาม  อีกทั้งยังเชื่อว่าหลังจาก “พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” พ้นจากวาระจากการดำรงตำแหน่งการเมือง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะถึงคราวดับสูญ เกิดการแตกแยก เพราะมีนักการเมืองจากหลายค่าย มารวมตัวกันแบบหลวมๆ

ไล่ตั้งแต่รายงานข่าวผ่าน “สื่อบางสำนัก” ระบุว่า ขณะนี้อดีตแกนนำและผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ประกอบด้วย นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, นพ.

สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ นายภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งล้วนเป็นคนสำคัญของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยและหารือกันอย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์การเมืองและสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ที่เห็นตรงกันว่ามีปัญหาอย่างมาก

อ้างว่าหากไม่เร่งหาทางออก ทั้งวิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจ จะยิ่งเกิดปัญหารุนแรงมากกว่านี้ และเห็นตรงกันว่าผู้นำรัฐบาลปัจจุบันไม่มีศักยภาพเพียงพอจะแก้ปัญหาประเทศได้ และมองว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศ จนนำมาสู่การตั้งกลุ่ม CARE ขึ้น ย่อมาจาก Continue Ability Renew Efficiency

รายงานข่าวยังระบุอีกว่า ขณะนี้มีประชาชนที่คิดเหมือนกับแกนนำกลุ่มนี้ ตอบรับเข้าร่วมพูดคุยกับทางกลุ่ม ซึ่งเป็นบุคคลล้วนเป็นผู้มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์จากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งแวดวงการเมือง เศรษฐกิจ นักวิชาการ สื่อสารมวลชน กลุ่มสตาร์ทอัพ ประมาณ 30-40 คนเช่น ดร.โกร่ง นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกฯ, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, นายดวงฤทธิ์ บุนนาค, นายอนุสรณ์ ธรรมใจ, นายโชติชัย เจริญงาม, นายศุภวุฒิ สายเชื้อ เป็นต้น มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปัญหาของประเทศ รวมทั้งพูดคุยและเสนอแนะเพื่อทางออก

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ทางแกนนำกลุ่ม เตรียมจัดตั้งเป็นเพจ CARE ขึ้น เพื่อสื่อสารกับประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย คาดว่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์นี้ โดยบุคคลที่ตอบรับจะมาร่วมพูดคุยปัญหาและร่วมกันหาทางออก เพราะทุกฝ่ายห่วงใยเห็นตรงกันว่าประเทศถึงทางตันแล้ว และเมื่อทุกฝ่ายมีจุดร่วมที่ตรงกัน อาจจะนำไปสู่การตั้งพรรคการเมืองใหม่ต่อไป

ด้าน “นายจาตุรนต์ ฉายแสง”  อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระแสข่าวการตั้งพรรคการเมืองใหม่โดยระบุว่า  ได้ออกจากพท.  มาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ ปี 2562 ในช่วงปลายปี 2561 เพื่อมาอยู่ ทษช. ต่อมาพรรคถูกยุบ ตนไม่ได้ถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง เพราะไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค จึงยังทำงานการเมืองต่อได้

นายจาตรุนต์ กล่าวต่อว่า หลังจากการเลือกตั้ง ตนไม่ได้กลับไปพท. และได้ใช้เวลาทั้งหมด ในฐานะนักการเมืองที่ไม่มีสังกัดพรรค ในการพูดคุยกับนักการเมือง นักธุรกิจ อดีตข้าราชการ รวมถึงคนรุ่นใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาบ้านเมือง ปรับความคิด ซึ่งบางทีก็ใช้ความรู้เหล่านี้ ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเรื่อยมา จนกระทั่ง มีความเห็นที่จะต้องตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาอีก เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน

นายจาตุรนต์ ยืนยันว่า พรรคการเมืองดังกล่าว ที่จะจัดตั้งขึ้นในอนาคต ไม่ใช่พรรคสาขาของพท. และเป็นอิสระจากพท. และพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ใช่ทษช.2  ไม่ใช่พรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาให้เพื่อไทย อันเนื่องด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ใช่การรวมกันของกลุ่มคนเดือนตุลา ไม่ใช่การรียูเนียน แต่จะเป็นรวมคนที่หลากหลาย ที่จะร่วมกันสร้างพรรคการเมืองเพื่อประชาชน

ขณะที่ยังมีรายงานข่าวระบุอีกว่า สำหรับกระแสข่าวการตั้งพรรคการเมืองใหม่ แยกตัวออกจากพท. ยอมรับว่ามีการพูดคุยกันระหว่างแกนนำระดับผู้ใหญ่ของพรรคจริง แต่เป็นการคุยกันในกรอบกว้างๆ โดยผู้ใหญ่ที่พรรคให้ความเคารพเสนอให้แกนนำคนสำคัญของพรรคจำนวนหนึ่งไปคิดวางโมเดล การตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาอีก 1 พรรค

เพราะหากรัฐธรรมนูญยังแก้ไขไม่ได้และเป็นเช่นนี้ต่อไป อย่างไรก็ต้องมีอีก 1 พรรคขึ้นมา เพื่อใช้เป็นพรรคบัญชีรายชื่อ เหมือนเมื่อครั้งตั้งทษช. ที่สำคัญเมื่อดูจากสภาพรัฐบาลในการบริหารงานที่ล้มเหลว ผิดพลาดจนสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ คาดการณ์ว่าโอกาสที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ในช่วงปลายปี อาจจะมีโอกาสเป็นไปได้

สำหรับโมเดลที่คิดกันไว้คร่าวๆ ขณะนี้คือ จะดึงคนจากอดีตพรรคไทยรักไทย (ทรท.)  ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จทั้งเรื่องการแก้ไขวิกฤติ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและโรคระบาด ซึ่งประชาชนให้การตอบรับอย่างมาก กลับมารีแบรนด์กันอีกครั้ง โดยมีอดีตแกนนำและผู้ก่อตั้งทรท.จำนวนหนึ่ง  อาทิ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นต้น ซึ่งเป็นคนสำคัญของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นผู้ขับเคลื่อนพรรคใหม่ที่จะเกิดขึ้น

จากนี้ต้องจับตาดูว่า “พรรคใหม่“ ของขั้วอำนาจเก่า จะเผยโฉมได้เมื่อไหร่  เพียงแต่ก่อนหน้านี้มีข่าว “นายทักษิณ“ ไปพูดคุยกับ “ผู้มากบารมี” และรับปากว่า จะยุติบทบาททางการเมือง เพียงแต่… ถ้ามีข่าว อดีตนายกฯ ที่กลายเป็นผู้ต้องหาหนีคดี กลับมาชักใยทางการเมืองอีกนั้น  คำถามคือ… บทสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไร.

คอลัมน์ สืบเสาะเจาะข่าว
โดย “ระฆังแก้ว”