เป็นหนึ่งในประเด็นร้อนของสังคมไทยในเวลานี้ คือเรื่องราวความเป็น “อภิสิทธิ์ชน” ของกลุ่มข้าราชการทหาร ตำรวจ และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามข่าวที่ว่ามีการ “ยัด” สาวคนสนิทของ ส.ว.คนหนึ่งเข้ามาเป็นตำรวจ จนได้ยศ “สิบตำรวจโท” สังกัดกองกำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 กองบัญชาการตำรวจสันติบาล (บช.ส.) และมีชื่อไปโผล่ช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4 (ส่วนหน้า) นั่นคือพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่สิบตำรวจโทหญิงคนดังกล่าวจะไปช่วยราชการที่ กอ.รมน.ภาค 4 (ส่วนหน้า) หรือเปล่าไม่ทราบ! เพราะมีข่าวว่าเธอก่อเหตุทำร้ายทหารหญิงรับใช้ยศ “สิบโท” ที่บ้านพักใน จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ของกองทัพภาคที่ 1 และ “สิบโทหญิง” คนนี้ถูกแฉประวัติว่า เธอเป็นทหารประจำอยู่ที่โรงเรียนช่างฝีมือทหาร ต่อมาถูก ส.ว.อีกคนที่เป็นระดับ “นายพล” ทำหนังสือขอตัวจากผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเธอให้ไปช่วยราชการที่วุฒิสภา แล้วไฉนจึงโผล่ไปทำงานเป็นคนรับใช้ของสิบตำรวจโทหญิง สรุปว่า 2 สาวที่ว่านี้ ทำงานในหน้าที่ราชการ หรือว่าทำงานส่วนตัวให้ ส.ว. ซึ่งเป็นการเบียดเบียนเงินภาษีของประเทศ ทั้งในรูปของเงินเดือนประจำ และค่าตอบแทนต่างๆ

ไร้คอมมิวนิสต์-ทหารไม่ไปไหน-แผ่อำนาจมากกว่าเก่า

เกี่ยวกับเรื่องนี้ทีมข่าว Special Report ได้สนทนากับ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (อดีตเลขาฯ สมช.) เกี่ยวกับเรื่องของ กอ.รมน. กับบทบาทหน้าที่ควรจะเปลี่ยนแปลงไปในยุคปัจจุบัน

พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ได้ติดตามเรื่องราวของ “สิบตำรวจโทหญิง-สิบโทหญิง” แล้วรู้สึกสะท้อนใจว่า ว่าสถาบันหลักของชาติ คือทหาร ตำรวจ หรือแม้กระทั่ง ส.ว. เป็นกันไปได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ?


ก่อนอื่นต้องบอกว่าเมื่อก่อนประเทศไทยมี พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 บังคับใช้เรื่อยมา โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้ง ในปี 2512 และปี 2522 แต่หลังจากนั้นได้ยกเลิกไป แล้วมี พ.ร.บ.การรักษาความั่นคงภายในราชอาณาจักร ขึ้นมาบังคับใช้ โดย พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในฯ ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือของปี 2551 ซึ่งทุกประเทศประชาธิปไตย ประเทศที่เจริญแล้วก็มีกฎหมายตัวนี้บังคับใช้ทั้งนั้น แต่เรื่องของการทำ “โครงสร้าง” และ “อัตรากำลัง” เขาจะเป็น “อินเตอร์” กว่าบ้านเรา คือไม่เอาทหารเข้ามายุ่งมากนัก

ในขณะที่ประเทศไทยเมื่อยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ไปแล้ว แต่เหมือนยกโครงสร้างเดิมมาวางไว้ใน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในฯ และทหารยังไม่ยอมไปไหน แถมขยายอำนาจไปทุกจังหวัด พยายามแสดงบทบาทหน้าที่นอกเหนือจากภารกิจหลักของกองทัพ

พล.ท.ภราดร กล่าวต่อไปว่า ภาพชัดมากเลยคือ “กอ.รมน.ใหญ่” จะมีนายกรัฐมนตรีเป็น ผอ.รมน. ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นรอง ผอ.รมน. และเสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) เป็นเลขานุการ รมน.

ในยุครัฐบาลที่มีนายกฯมาจากพลเรือน ภาพของ กอ.รมน. น่าจะดูดีและเป็นอินเตอร์ขึ้นมาหน่อย! แต่ยุคนี้ทหารคุมหมด ตั้งแต่ ผอ.รมน.-รอง ผอ.รมน.-เลขาฯ รมน. โดย “กอ.รมน.ใหญ่” จะมีอำนาจในการจัดโครงสร้าง และจัดอัตรากำลัง มีการออกคำสั่งให้กอ.รมน.ภาค (ภาค 1-2-3-4) ไปออกคำสั่งย่อยในเรื่องของโครงสร้างและอัตรากำลังอีกขั้นตอนหนึ่ง

บัญชีผี “นายพัน-นายพล” ก็มี!

สมมุติโครงสร้าง กอ.รมน.ภาค 4 (ภาคใต้) ต้องใช้อัตรากำลัง ในปีงบประมาณนี้ 5 หมื่นคน ก็ต้องแบ่งสัดส่วนลงไปในรายละเอียดว่าเป็นกำลังทหารของ 3 เหล่าทัพจำนวนเท่าไหร่ ทหารพรานเท่าไหร่ ตำรวจกี่นาย อาสาสมัครของมหาดไทยกี่นาย และพลเรือนกี่คน เป็นต้น ตามภารกิจหน้าที่ตามสายการบังคับบัญชา สายการข่าว สายพลเรือน แต่ส่วนใหญ่กว่า 70% เป็นกำลังพลกองทัพบก

“ประเภทที่ว่าใส่อัตรากำลังกันไว้ก่อน แต่ใช้จริงๆ จำนวนเท่าไหร่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง สมมุติว่าตอนทำโครงสร้างใส่อัตรากำลังไว้ 100 คน อันนี้ใส่เผื่อกันไว้แล้วนะ บนพื้นฐานของความยืดหยุ่นกับสถานการณ์ แต่จริงๆ ใช้แค่ 70 คนก็พอ เรียกมาบรรจุแค่ 70 คนพอแล้ว แต่ความจริงคือยัดกันมาเต็ม 100 คน โดยอีก 30 คนเป็นพวกบัญชีผี ตัวตนอาจไม่ได้อยู่ในพื้นที่เลย โดยตอนแรกมาแบบเนียนๆ ก่อน คือมาช่วยราชการ แล้วค่อยๆ ขยับเข้ามาประจำ เหมือนสวมหมวก 2 ใบ ได้สิทธิพิเศษเพิ่ม ได้เงินเพิ่มพิเศษ ได้เงินค่าเสี่ยงภัย ทั้งที่ตัวตนอาจอยู่ที่ราชบุรีและกรุงเทพฯ”

อดีตเลขาฯ สมช.กล่าวย้ำว่า “บัญชีผี” มีชื่อไปอยู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ตัวไม่ได้ลงไป คงไม่ได้มีแค่ทหาร-ตำรวจชั้นประทวนเท่านั้น แต่ระดับ “นายพัน-นายพล” ก็มี พวกนายพลตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ อยู่กรุงเทพฯ ไม่มีอะไรทำ ไม่มีลูกน้อง ก็จับยัดใส่ไปเป็นหัวหน้าส่วนข่าว กอ.รมน. ได้ทั้งเงินประจำตำแหน่งเพิ่มเข้ามา และมีผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย เหล่านี้เป็นต้น

หลังการทำรัฐประหารปี 57 กอ.รมน.ภาค 4 กอ.รมน.ภาค 4 (ส่วนหน้า) ใช้งบประมาณมากขึ้นทุกปี จากปี 57 ที่ 8,200 ล้านบาท เป็น 8,910 ล้านบาทในปี 58 พอปี 59 ขยับเป็น 10,201 ล้านบาท ปี 60 เพิ่มเป็น 10,410 ล้านบาท พอปี 61-62 ยังใช้เกินหมื่นล้านบาท ปี 63 ถูกตรวจสอบมากขึ้นหรือเปล่าจึงลดลงมาเหลือ 9,849 ล้านบาท ปี 64 จำนวน 8,855 ล้านบาท ด้วยอัตรากำลัง 7 หมื่นคน (ปี 58-59) ส่วนปี 63-64 ประมาณ 5 หมื่นคน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงทั้งเรื่องของงบประมาณ และอัตรากำลัง

ยึดหลักเจรจาจะลดกำลัง กอ.รมน.ลงได้ 1 ใน 3

ตั้งแต่รัฐประหารปี 57 เรื่อยมา การแก้ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนการ “ซอยเท้า” อยู่กับที่! ทั้งที่ใช้งบประมาณมาก ใช้คนมาก แถมยังใช้กฎหมายมาก ทั้งกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้ามองย้อนไปก่อนรัฐประหาร เราจะพยายามใช้การเจรจาเป็นหลัก ใช้การเมืองนำการทหาร เรามีชุดเจรจาสันติภาพสันติสุขอยู่ในพื้นที่หลายร้อยคน ถ้าเน้นบทบาทการทำงานของชุดเจรจาสันติภาพสันติสุขให้มากๆ กว่านี้ ตนเชื่อว่าจะสามารถลดอัตรากำลังของ กอ.รมน.ภาค 4 (ส่วนหน้า) ลงได้ประมาณ 1 ใน 3 ของอัตรากำลังปัจจุบัน แต่เมื่อยุคนี้ใช้ทหารนำ ภาพที่ออกมาดูแข็งกระด้าง อีกฝ่ายรู้สึกหวาดระแวงจึงไม่อยากเจรจาพูดคุยด้วย ตรงนี้แหละที่บอกว่า 8 ปีที่ผ่านมา คุณยังซอยเท้าอยู่กับที่

ทหารต้องลดบทบาทใน กอ.รมน. ไม่ใช่แทรกซึมขยายบารมีอยู่ทุกจังหวัด คือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น ผอ.รมน.ในระดับจังหวัดก็จริงอยู่ แต่มีทหารระดับ “พันเอก” ไปนั่งเป็นรอง ผอ.รมน.จังหวัด แล้วผู้ว่าฯ ต้องอยู่ภายใต้ของ ผอ.รมน.ภาค (แม่ทัพภาค) สรุปคือทหารเข้าไปคุมทั้งหมด อันที่จริงแล้วทหารควรดูแลเรื่องความมั่นคง แค่พื้นที่ในรัศมี 2 กิโลเมตร จากแนวชายแดน ถ้าลึกเข้ามาเกิน 2 กิโลเมตร ควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองคือผู้ว่าฯ-ตำรวจท้องที่ ถ้ามีเรื่องหนักๆ ก็เอาตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เข้ามาช่วยได้ คือถ้าลึกจาก 2 กิโลเมตรเข้ามา ไม่ควรเป็นงานของทหารแล้ว เช่น งานปราบปรามยาเสพติด คนลักลอบเข้าเมือง ให้ตำรวจกับฝ่ายปกครองเขาทำไป

ส่วนงานบรรเทาสาธารณภัย จะมี พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 บังคับใช้อยู่ โดยมีมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ ถ้าเกิดปัญหาน้ำท่วม ทหารเข้ามาช่วยได้เมื่อมีการร้องขอ และเข้ามาในฐานะผู้สนับสนุน แต่ไม่ใช่ตัวหลัก

“วันนี้ 3 จังหวัดภาคใต้ยังมีใช้กฎอัยการศึกอยู่ ทหารมีอำนาจในการเข้าตรวจค้น จับกุม โดยไม่ต้องขอหมายศาล และมีอำนาจในการควบคุมตัวไว้ 7 วัน ต่างจากตำรวจที่มีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย-ผู้ต้องหาได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร ปัจจุบันยังไม่ยอมยกเลิก โดยอ้างเหตุผลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งที่ควรใช้กฎหมายควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขก็พอแล้ว

ดังนั้นการที่ประเทศไทย ยังมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปทั่วราชอาณาจักร ถ้านักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากต่างประเทศที่มีความละเอียดรอบคอบและพิถีพิถัน เขาจะไม่มาเมืองไทย เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นมา เขากลัวคุณใช้กฎหมายพิเศษกับเขา ดังนั้น กอ.รมน.ต้องคำนึงถึงความอ่อนไหวในเรื่องเหล่านี้ให้มาก” พล.ท.ภารดร กล่าว