แม้จะมีคำชี้แจงจาก กระทรวงคมนาคม และ รมว.คมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ถึงการเข้าไปบริหารจัดการ 3 ท่าอากาศยาน (สนามบิน) ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้แก่ สนามบินกระบี่, อุดรธานี และบุรีรัมย์ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ

เป็นการเพิ่มศักยภาพจากสนามบินระดับจังหวัด ยกระดับเป็นสนามบินระดับภาคและสนามบินศูนย์กลางรอง ในอนาคต รวมทั้งลดภาระงบประมาณภาครัฐในการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยาน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ห้วงอากาศและโครงข่ายท่าอากาศยานของประเทศในภาพรวมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในรูปแบบ Cluster ด้านการขนส่งทางอากาศ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานของประเทศไทย สนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมทั้งรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ

แต่ก็ยังมีข้อกังขาจากประชาชนและสังคมที่เห็นต่างอยู่ไม่น้อย ว่าทำไม? ต้องจำเพาะเจาะจง 3 สนามบินแห่งนี้ เพราะสนามบินทำเลทอง ”กระบี่” สร้างรายได้หลักให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ส่วนสนามบินบุรีรัมย์ รมว.ศักดิ์สยาม ต้องการอัพเกรดสนามบินในดินแดนบ้านเกิดของตัวเองใช่หรือไม่?? พร้อมคำถาม? บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บริการจัดการสนามบินในความรับผิดชอบ 6 แห่งประกอบด้วย สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ แม่ฟ้าหลวงเชียงราย ภูเก็ต และสนามบินหาดใหญ่ ได้ดีเพียงใด? ในเมื่อสนามบินสุวรรณภูมิร่วงจากอันดับโลกลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังกลัวว่า ทอท.บริหารจัดการค่าบริการรวมทั้งค่าธรรมเนียมต่างๆ ในสนามบินจะแพงขึ้น!!

รมว.ศักดิ์สยาม ย้ำว่า หลังจากเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการให้ ทอท.บริหารจัดการ 3 สนามบินแทน ทย. กระทรวงฯ อยู่ระหว่างนำความเห็นของกระทรวงการคลังมาพิจารณา พร้อมจัดทำข้อมูลแนวทางการให้ ทอท. เข้าไปดูแล และบริหารจัดการ 3 ท่าอากาศยานโดยเปรียบเทียบกับที่ ทย. ดำเนินการ การคาดการณ์ประมาณผู้โดยสาร, แผนการลงทุน, แผนพัฒนาท่าอากาศยาน, ประมาณการรายได้-รายจ่าย, ผลตอบแทนทางการเงิน, ผลกระทบต่อ ทย. และ ทอท. ตลอดจนแผนบริหารความเสี่ยงกรณีดำเนินการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

จะเร่งรายงานข้อมูลเพิ่มเติมให้ ครม.รับทราบและคาดว่า ทอท. จะเริ่มเข้าบริหารจัดการ3ท่าอากาศยานได้ในช่วงต้นปี 66

ด้าน ทอท. ยืนยันว่า มีแผนพัฒนา 6 สนามบินในหน้าตักอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เปิดประกวดราคา (ประมูล) จัดหาผู้รับจ้างออกแบบรายละเอียด (Detail Design) การก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) เฟส 3 วงเงินกว่า 600 ล้านบาทแล้ว 2 ครั้ง แต่มีผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียวคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เสนอเรื่องไปยังฝ่ายพัสดุ พร้อมยืนยันความจำเป็นว่าต้องดำเนินโครงการต่อไป หากยกเลิกประมูล และเปิดประมูลใหม่ จะทำให้โครงการล่าช้า และส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในภาพรวมได้

อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติของฝ่ายพัสดุ หากเห็นชอบคาดว่าภายในเดือน ก.ย.65 จะประกาศผู้ชนะการประมูล และเริ่มศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการฯ ได้ โดยใช้เวลาประมาณ 1 ปี จะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 66 จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการเปิดประมูลหาผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนา ทดม. เฟส 3 วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท เริ่มก่อสร้างได้ประมาณปี 67 ใช้เวลาประมาณ 3 ปี เปิดบริการได้ประมาณปี 70 จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารของ ทดม. ได้เพิ่มขึ้น เป็นประมาณ 50 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 30-40 ล้านคนต่อปี

โครงการพัฒนา ทดม. เฟส 3 ประกอบด้วย การก่อสร้างหลุมจอดอากาศยานด้านทิศเหนือของ ทดม. เพิ่มเติม 12 หลุมจอด, ปรับปรุงอาคารคลังสินค้าเดิม และการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 3 ซึ่งเดิมเป็นอาคารในประเทศ และถูกปิดใช้งานมานาน โดยจะปรับให้เป็นอาคารระหว่างประเทศ รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศที่คาดว่าจะกลับมาปกติประมาณปี 70 ได้ทันพอดี

ในส่วนของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการพัฒนา ทดม. เฟส 3 เบื้องต้นผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาอีไอเอ (คชก.) แล้ว อยู่ระหว่างแก้ไขอีกเล็กน้อย เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป

ส่วนระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับ ที่จะให้บริการภายใน ทดม. จะรวมอยู่ในแผนการพัฒนาพื้นที่ด้านใต้ของ ทดม. ซึ่งจะเปิดประมูลต่อไป ขณะที่การก่อสร้างอาคาร Junction Terminal จะพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ตั้งอยู่คั่นกลางระหว่างอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน (อาคาร 2) และอาคารหลังที่ 3 โดยสามารถเชื่อมต่อการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟทางไกล รถโดยสารสาธารณะ และรถแท็กซี่ได้ด้วย จะเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนในระยะถัดไปเช่นเดียวกัน

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม จะทรงคุณค่า ถ้าทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสิ่งสำคัญ

ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง