จริงอยู่ที่กาลเวลาได้เปลี่ยนไป แต่บอลลีวูด ซึ่งเป็นเสาหลักด้านวัฒนธรรมของอินเดียสมัยใหม่ ก็กำลังสูญเสียเสน่ห์ของมันด้วยเช่นกัน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของบริการสตรีมมิ่ง เช่น เน็ตฟลิกซ์ และแอมะซอน ไพรม์ ในช่วงการระบาดโรคโควิด-19 ร่วมกับความเหนื่อยล้าบอลลีวูด ที่มีมากขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มองว่าภาพยนตร์เช่นนี้เชยและล้าสมัย

Reuters

จากภาพยนตร์บอลลีวูด 26 เรื่องที่เข้าฉายในปีนี้ มี 20 เรื่อง หรือคิดเป็นสัดส่วน 77% ที่ประสบความล้มเหลว มากกว่าอัตราล้มเหลวในปี 2562 ที่ 39% ประมาณ 2 เท่า ก่อนที่การระบาดใหญ่จะส่งผลกระทบต่อสังคม

อนึ่ง รายรับจากบ็อกซ์ออฟฟิศของอินเดียเพิ่มขึ้นทุกปีนานนับทศวรรษ จนแตะถึงประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 73,000 ล้านบาท) เมื่อปี 2562 ก่อนที่จะร่วงลงในช่วงการระบาดใหญ่ และแทบไม่มีสัญญาณที่จะฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง บริษัทวาณิชธนกิจ “เอลารา แคปิตอล” คาดการณ์เฉพาะรายได้จากภาพยนตร์บอลลีวูดจะลดลง 45% ในไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบกับระดับก่อนการระบาดของโรคโควิด-19

พนักงานตรวจบัตรเข้าชมภาพยนตร์ ที่โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่ง ในเมืองอาห์เมดาบัด

เนื่องจากบอลลีวูดไม่สามารถรับผู้ชมได้อีกต่อไป ทางอุตสาหกรรมจึงต้องมีการปรับตัว หากหวังที่จะอยู่รอดและเติบโตได้ ด้วยเหตุนี้ เหล่าผู้บริหารและผู้ผลิตภาพยนตร์อินเดีย จึงพยายามทำความเข้าใจกับปัญหาและสร้างการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายของการไปดูภาพยนตร์คืออีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่คอหนังและผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้กล่าวถึง เมื่ออินเดียกำลังต่อสู้กับวิกฤติค่าครองชีพ เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก จนผู้ชมในประเทศบางคนรู้สึกถึง “ความไม่คุ้มค่า” ในการเสียเงินและเวลาเพื่อไปโรงภาพยนตร์ ขณะที่บริการสตรีมมิ่งตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขามากกว่า

การออกนอกบ้านไปชมภาพยนตร์บนจอใหญ่สำหรับครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน มักจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 3,000-5,000 รูปีอินเดีย (ประมาณ 1,380-2,300 บาท) ซึ่งเป็นราคาที่สูงในประเทศที่คนจำนวนมากอาศัยอยู่ในความยากจน ขณะที่รายได้ต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 160,000 รูปีอินเดีย (ประมาณ 73,600 บาท) และค่าสมัครสมาชิกรายเดือนสำหรับบริการสตรีมมิ่งอย่าง เน็ตฟลิกซ์ เริ่มต้นเพียงประมาณ 150 รูปีอินเดีย (ประมาณ 69 บาท) เท่านั้น

ด้านนายคาราน เทารานี นักวิเคราะห์สื่อจากเอลารา แคปิตอล กล่าวว่า เขาคาดว่าจะมีการปรับสมดุลในการจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับนักแสดงนำ โดยโปรดิวเซอร์ส่วนใหญ่หันไปใช้โมเดลการแบ่งปันรายได้ และงบประมาณของภาพยนตร์ที่ใช้ไปกับการผลิตและเทคนิคพิเศษมากขึ้น ทว่าจะไม่มีการยกเครื่องบอลลีวูดแต่อย่างใด.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS