ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดขณะนี้ ปรากฏการณ์หนึ่งที่มีการแสดงท่าทีคือ การออกมา call out หรือการเรียกร้องข้อเสนอต่างๆ ต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นไปในลักษณะ บอกเล่าความเดือดร้อน ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ที่หลายเรื่องมีความไม่ชัดเจน เพื่อให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหา ซึ่งผลของการคอลเอาต์ก็ทำให้รัฐบาลรับฟังและหันกลับมาพิจารณาทบทวนนโยบายต่างๆ ได้ เช่น การสั่งวัคซีน mRNA มาเพิ่ม

หรืออย่างล่าสุดกรณีของ การกระจายวัคซีนไฟเซอร์ลอตบริจาคจากสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโด๊ส ก็มีการทำไกด์ไลน์ให้กับบุคลากรด่านหน้าที่จะต้องรับที่มีเงื่อนไขมากมาย เอาเป็นว่า ไกด์ไลน์แรกคือจะเพิ่มภูมิได้ต่อเมื่อเป็นผู้ฉีดซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม แต่ผลจากการคอลเอาต์ของเหล่าบุคลากรด่านหน้าและภาคประชาชนที่เห็นความสำคัญของการทำงานด่านหน้า ทำให้มีการปรับไกด์ไลน์เสียใหม่ ..การคอลเอาต์จึงน่าจะเรียกว่าเป็น “อาวุธสำคัญ” ของประชาชน

เชื่อว่า หลายคนอยากคอลเอาต์ให้สำเร็จอีกเรื่อง คือ การแจก rapid antigen test kit (ATK) ฟรีสำหรับประชาชน เพราะมันเป็น สวัสดิการที่ควรจะหาซื้อได้ในราคาถูกกว่านี้หรือฟรีด้วยซ้ำ และคนหนึ่งจะต้องตรวจซ้ำมากกว่ารอบเดียว อย่างระยะฟักเชื้อ 5-7 วันก็ตรวจรอบนึง แต่ถ้าภูมิดี อาจไม่พบในระยะฟักเชื้อระยะแรก ดังนั้น มันต้องมีการตรวจใหม่ ถ้ายังขายราคาแพงต่อชิ้นก็เข้าไม่ถึงคนจน ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์หรือ ศบค.ต้องมีมาตรการอะไรออกมา

การคอลเอาท์อีกเรื่องหนึ่งที่เห็นมาก คือ การเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกหรือยุบสภา ซึ่งถ้าพูดกันโดยหลักการเมือง “ไม่มีรัฐบาลไหนจะเปลี่ยนขั้วตอนที่ตัวเองกำลังอยู่ในภาวะเพลี่ยงพล้ำ” ไม่เช่นนั้นจะกลับมายาก และอีกส่วนหนึ่งเพราะการดำเนินการอะไรต่างๆ มันก็จะสะดุดในช่วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการ เช่น เรื่องการอนุมัติเบิกจ่ายงบประมาณ กว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่กันเสร็จก็มีปัญหาวิ่งต่อรองทางการเมืองกันอีก กว่าอะไรจะเข้ารูปเข้ารอย สถานการณ์โรคจะแรงขึ้นหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม เมื่อ การคอลเอาต์มีพลังต่อการกำหนดนโยบายและท่าทีของรัฐบาลได้ระดับหนึ่ง ทำให้เกิดกระแสที่หลายๆ คน เรียกร้องให้เหล่าคนดัง หรือพวกผู้มีอิทธิพลทางสังคม (influencer) ออกมาคอลเอาต์บ้าง ทั้งด้วยเหตุผลว่าสียงที่ไปถึงรัฐบาลจะได้ดังขึ้น และถ้าออกมาแสดงท่าทีในลักษณะที่ตรงกับความคิดและทัศนคติของผู้ติดตามหรือแฟนคลับ ก็จะเรียกคะแนนนิยมได้มากโข เป็นเรื่องปกติที่ถ้าเรารักชอบใครเราย่อมมีความหวังกับท่าทีของคนๆ นั้น

การคอลเอาต์ก็ทำกันต่อไป ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่การไปกดดันให้ใครต้องคอลเอาต์ โดยอ้างว่า คนๆ นั้นผู้ติดตามเยอะ การพูดจะมีน้ำหนักนี่ เป็นสิ่งที่มันดูไม่ค่อยงามเท่าไร ยิ่งการลากคนที่ไม่ยอมคอลเอาต์มาขึงพืดด่าในโลกโซเชียลฯ ยิ่งไม่ใช่สิ่งที่พึงกระทำ เพราะเราเรียกร้องที่จะไม่สร้างความรุนแรงหรือ ล่าแม่มดกัน คนดังบางคนก็ถูกตั้งคำถามว่าทำไมไม่คอลเอาต์จนดูแล้วรู้สึกสงสาร ทั้งที่เขามีวิธีช่วยเหลือสังคมในแบบของเขา  

ยืนยันว่า การคอลเอาต์ทำได้ในระบอบประชาธิปไตย เรามีสิทธิเต็มที่ในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเพราะถือว่า “เป็นลูกจ้างประชาชน” ค่าจัดซื้อจัดจ้างอะไรของรัฐบาลก็เงินภาษี ถ้ามันไม่เข้าท่าก็ส่งเสียงกันให้เปลี่ยนแปลงในชั้นนโยบาย ..อย่างไรก็ตาม ในกระแสคอลเอาต์ มันก็มีอีกมุมหนึ่ง ที่ไม่ถึงกับเป็นชั้นนโยบายแต่สร้างความช่วยเหลือได้มาก คือสิ่งที่เรียกว่า การ call help ซึ่งถ้าจะจำกัดความ ก็น่าจะประมาณ “ออกมาร่วมมือกันช่วย”

ในท่ามกลางกระแสการคอลเอาต์ ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่พอจะมีกำลังทรัพย์ กลุ่มที่พอจะรวมตัวกันประสานงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนในนามกลุ่มต่างๆ ได้ เช่น กลุ่มเส้นด้าย, กลุ่มเป็ดไทยสู้ภัย หรือเพจต่างๆ อย่างเพจหมอแล็บแพนด้า ออกมาช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ ทั้งการรับส่งผู้ป่วย การประสานงานให้แบบ one stop service มูลนิธิกระจกเงา ส่งมอบและรับของบริจาค, แท็กซี่โควิด-19 รับส่งผู้ป่วยโควิด โทร. 09-6771-1687 ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน

ที่เป็น คนดัง ออกมาให้ความช่วยเหลือ อาทิ Pimrypie-พิมรี่พาย ส่งกล่องกำลังใจ สิ่งของช่วยเหลือสำหรับผู้ขาดแคลนและกักตัว ติดต่อเฟซบุ๊ก pimrypie.official, เพจเราต้องรอด ที่มีดาราสาว ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ และจ๊ะ อาร์สยาม นงผณี มหาดไทย ช่วยประสานงานผู้ป่วย ติดต่อเฟซบุ๊ก savethailandsafe, เพจของณวัฒน์ อิสรไกรศีล โครงการเป็นโควิดต้องมีที่รักษา ติดต่อเฟซบุ๊ก NawatTV, กลุ่มองค์กรทำดีของบุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี จัดหารถพยาบาลสำหรับผู้ป่วย ติดต่อ โทร. 0-2063-2323  เฟซบุ๊ก boompanadda2000, เพจสรยุทธ์กรรมกรข่าว sorrayuth9115

และก็ยังมีดารา นักแสดง นักร้องชื่อดังหลายคน ออกมาช่วยมอบสิ่งของจำเป็นให้บุคลากรทางการแพทย์ ทั้ง ชุดพีพีอี รถขนส่งผู้ป่วย และถุงยังชีพช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่างๆ สมทบทุนจากเพื่อนๆ ดาราๆ นักแสดง ร่วมกันมอบสิ่งของจำเป็นให้บุคลากรทางการแพทย์ทั้งชุด PPE รถขนส่งผู้ป่วย และออกมามอบถุงยังชีพช่วยเหลือประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ อย่างเช่นกรณี ตูน บอดี้สแลม ที่เคยวิ่งจากเหนือลงใต้ ก็ได้ ร่วมกับมูลนิธิก้าวคนละก้าวออกมาบริจาคอุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาล, ดาราหนุ่ม อาร์ต-พศุตม์ บานแย้ม ร่วมกับเพื่อนๆ ดาราและกลุ่มจิตอาสากู้ภัย สมทบทุนซื้อชุดพีพีอีมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่ทีมอาสากู้ภัยจัดรถรับส่งผู้ป่วยโควิดไปโรงพยาบาล

หรือ อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ มอบเครื่องผลิตออกซิเจนให้โรงพยาบาล, เวฟ-สาริน บางยี่ขัน และภรรยา ซื้อรถส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษามอบให้ ทีมเราต้องรอดของ ได๋-ไดอาน่า, ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เกต บริจาคเงินและเครื่องผลิตออกซิเจน, มีน-พีชญา วัฒนามนตรี ซึ่งแม้จะ คอลเอาต์เรื่องรัฐบาลออกประกาศปิดกั้นเสรีภาพการสื่อสาร ก็ร่วมกับครอบครัวบริจาคเงินและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลหลายแห่ง รวมทั้งมอบถุงยังชีพ, แอน ทองประสม เหมาซื้อมังคุด กะหล่ำปลี เพื่อช่วยเกษตรกร ที่ขายสินค้าไม่ได้ในช่วงนี้ เป็นการช่วยทางอ้อมอีกทางหนึ่ง

และยังมีธารน้ำใจจากอีกหลายๆ คน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนดัง แต่เป็นคนที่พอมีกำลังทรัพย์ในการช่วยเหลือประชาชนฝ่าวิกฤติโควิด ก็ออกมาช่วยในรูปแบบต่างๆ  แต่หลายกรณีไม่ค่อยเป็นข่าวเท่าการออกมาคอลเอาต์นัก ซึ่งมันก็น่าจะเป็นข่าวเพื่อให้คนป่วยที่อัตราการติดเชื้อหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกวันนี้ ได้รู้ช่องทางอื่นๆ ในการช่วยเหลือตัวเองหรือคนใกล้ชิด นอกจากการพึ่งพารัฐซึ่งทรัพยากร, บุคลากรก็มีไม่ค่อยเพียงพอ สายด่วนโทรฯ ติดยาก

แต่ประเด็นที่ต้องบอกให้ “พักก่อน” กันไว้บ้างคือในสภาวะแบบนี้ การไปสร้างความเกลียดชังนี่ไม่มีประโยชน์นัก อย่างกรณีดาราหนุ่ม อาร์ต-พศุตม์ ก็มีข่าวว่า โดนรีพอร์ตเฟซบุ๊กหลังจากถ่ายทำคลิปการใช้กระชาย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเหตุผลคือไม่ยอมคอลเอาต์ตามที่หลายคนต้องการหรือไม่ ..ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่น่าจะใช่เรื่องที่เอาสะใจหรือเอาชนะคะคานกัน นาทีนี้เรารู้ว่า อัตรากำลังคนของสาธารณสุขไม่เพียงพอ ทรัพยากรของรัฐก็ไม่เพียงพอ ใครช่วยเหลือได้ก็ช่วยกันไปก่อน.. ส่วนเรื่องตรวจสอบรัฐบาลก็เรื่องหนึ่ง เช่นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่พรรคเพื่อไทยเปิดช่องทางให้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาลมาใช้เป็นเครื่องมือซักฟอก ถ้าเชื่อในระบบก็น่าจะใช้วิธีตามระบบ

การบริหารจัดการของรัฐบาลเองก็ไม่ได้ถูกใจใครนักในภาวะโรคระบาดเช่นนี้ แต่จะมองว่า การที่ฝ่ายต่างๆ ต้องออกมาให้ความช่วยเหลือ คือ รัฐล้มเหลวเพียงมุมเดียวมันก็เป็นการดูใจแคบ ในต่างประเทศเวลาเกิดภัยพิบัติก็พร้อมรับความช่วยเหลือจากคนในประเทศหรือแม้แต่ต่างประเทศยื่นมือเข้ามา เพราะหลายครั้งที่เหตุการณ์รุนแรงจนการจัดการจากภาครัฐอย่างเดียวก็ทำไม่ทัน  และมันมีประเด็นของมนุษยธรรมที่มีผู้ต้องการเข้ามาช่วยด้วย     

นาทีนี้ ทั้ง call out หรือ call help ถ้ามันทำให้สถานการณ์ทุเลาเบาบางลงได้ด้วยการร่วมแรงร่วมใจ ก็น่าจะช่วยกันทำ คนที่ไม่ call out  หลายคนเขาอาจกำลังปิดทองหลังพระจริงๆ อยู่ ยิ่งขณะนี้ยิ่งส่งเสริมเรื่องการขอเตียงโรงพยาบาลจากผู้ป่วยสีเขียว ให้ผู้ป่วยที่อาการไม่หนักมากใช้วิธีกักตัวที่บ้าน ก็ต้องมีการส่งข้าว ส่งยา ยิ่งต้องพึ่งกำลังอาสาสมัครมากขึ้น (ซึ่งตรงนี้รัฐบาลจะประสานกองทัพเอากำลังพลมาช่วยด้วยได้หรือไม่)

แน่นอน การ call help มันคือน้ำใจที่เขา “จัดการได้เท่าที่ทรัพยากรของบุคคลหรือเอกชนเอื้ออำนวย” แต่ในชั้นนโยบายและชั้นการจัดซื้อจัดจ้างของจำเป็นอำนาจอยู่ที่ภาครัฐ สิ่งที่รัฐต้องทำคือการสร้างความมั่นใจเรื่องการกระจายวัคซีนให้เร็วที่สุด มากที่สุด ยืนยันว่าการติดโควิดไม่ได้เป็นแล้วตายทุกคน แต่ต้องมีภูมิต้านทานจากวัคซีน รับยาทันก่อนเชื้อลงปอด ..ดังนั้น วัคซีน ยาฟาวิฟิราเวียร์ต้องพอ ตรวจต้องเร็ว ตรงนี้รัฐสร้างความมั่นใจให้ประชาชนด้วย

มี call help ช่วยสถานการณ์ไว้ได้ระดับหนึ่ง ที่ประชาชนช่วยกัน แต่ส่วนที่เป็นหน้าที่ภาครัฐก็ต้องเข้มข้น เข้มแข็ง  กระจายงาน อย่ามีปัญหาทุจริต จนเสียง call out กลายเป็นการลงถนนไล่รัฐบาลที่รุนแรงขึ้น. 

…………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”