เหลืออีกไม่ถึง 4 เดือน ก็จะหมดปีกันอีกแล้ว ทั้งที่ยังมี “วิบากกรรม” อีกมากมาย ที่ประชาชนคนไทยยังต้องเผชิญอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ตามตัวเลขแล้วเศรษฐกิจไทยจะเริ่มโงหัวกันขึ้นมาได้บ้างก็ตาม

แต่การโงหัวของเศรษฐกิจ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยอิ่มหมีพีมันกันทั่วหน้า แต่เป็นการโงหัวในบางธุรกิจ บางอุตสาหกรรมเท่านั้น

ในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้ว การฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึงเช่นนี้ มีการเรียกันว่าเป็นการฟื้นตัวแบบ “เคเชฟ” โดยเฉพาะบรรดากลุ่มเปราะบางที่ยังไม่สามารถมีรายได้กลับมาอย่างเต็มที่

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากผลสำรวจของบรรดาสารพัดสำนักวิจัย ได้ออกมาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่คนไทยทั้งชาติยังเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องโดยเร็วที่สุด และยังหมายความรวมไปถึงการเพิ่มรายได้

อย่าลืมว่า!! ที่ผ่านมารัฐบาลกำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน หากรายได้ของคนไทยยังไม่เพิ่มขึ้น แล้วการ “ลดหนี้” จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ต่อให้หน่วยงานของรัฐเด้งรับคำสั่ง ออกทุกมาตรการเพื่อ “ต่อลม” ให้หายใจได้คล่องขึ้น สะดวกขึ้น

หากรายได้ไม่เพิ่มขึ้น ก็ไม่ต้องคาดหวังว่าหนี้ที่มีอยู่จะลดลงได้ แต่การเพิ่มรายได้ไม่ได้หมายความถึงเพียงแค่…การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาล แต่ต้องอยู่ที่ภาพรวมภาพใหญ่ของประเทศที่ต้องเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน

นั่นหมายความว่าประชาชนคนไทยยังต้องหาวเรอรอกันต่อไป!!

มีข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่คาดการณ์ว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2 ของปีนี้ จะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.78 ล้านล้านบาท ขณะที่ไตรมาสก่อนหน้านั้น หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 14.65 ล้านล้านบาท

การเป็นหนี้ที่เกิดขึ้น ยังหนี้ในส่วนของการอุปโภคบริโภค ที่การให้สินเชื่อยังโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนี้ที่ไม่มีหลักประกัน อย่าง หนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล ที่ยอดการปล่อยสินเชื่อยังคงอยู่ในระดับสูง

ขณะที่แบงก์ชาติเอง ระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทย มาจากการก่อหนี้เกินตัว การก่อหนี้เกินจำเป็น มาจากการก่อหนี้เพื่อใช้อุปโภคบริโภค และ 1 ใน 4 ของครัวเรือน ยังมีรายได้ไม่เพียงพอกับการชำระหนี้

ไม่เพียงเท่านี้!! 2 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น มาจากเศรษฐกิจที่หดตัว และ 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือน มาจากภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเพราะการใช้มาตรการ “พักหนี้” ที่ทำให้หนี้สะสมมากขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มสภาพคล่องให้ครัวเรือน

แม้ว่าในเรื่องของหนี้เสียหรือเอ็นพีแอล ในภาพรวมแล้วจะมีสัดส่วนที่ลดลง ก็ตาม โดยอยู่ที่ 2.88% หรือคิดเป็นยอดคงค้างที่ประมาณ 5.27 แสนล้านบาท ก็ตาม แต่ยังไว้วางใจไม่ได้ว่าหนี้ดีจะไหลกับเข้ามาเป็นหนี้เสียมากขึ้นอีกหรือไม่? และอย่างไร?

เพราะอย่าลืมว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ออกมาตรการ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้หลังจากต้องทนทุกข์ทรมานจากวิกฤติเศรษฐกิจก่อนหน้า และวิกฤติที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ขณะที่บัญชีหนี้สินที่มีการเริ่มค้างชำระตั้งแต่ 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน แต่ยังไม่เกิน 3 เดือน กำลังไหลเข้ามาเป็นหนี้เสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง…ในเวลานี้ มาตรการที่ภาครัฐเคยออกมาสนับสนุน ได้จบสิ้นไปแล้ว ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา

อย่างที่บอก ณ เวลานี้ ต้นทุนชีวิตเพิ่มขึ้นมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของการดำรงชีพ จากราคาพลังงาน ราคาสินค้า ขณะที่การช่วยเหลือของรัฐบาล ด้วยงบประมาณที่จำกัด อาจช่วยได้บ้าง แต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่

การออกมาตรการทางการเงินช่วยเหลือแบบหว่านถ้วนหน้า คงเกิดขึ้นไม่ได้อีก เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาจงใจเบี้ยวหนี้ อย่างที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวเรื่องของการเบี้ยวหนี้การจ่ายเงิน กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ถึงขนาดให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้การเบี้ยวหนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง

เรื่องราว ข้อเรียกร้องเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่ควรเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด แต่ปัญหา? คือจะทำอย่างไร? เพราะข้อจำกัดทางเศรษฐกิจนั้นมีมากมาย

การจับมือกันระหว่างแบงก์ชาติและกระทรวงการคลัง เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ก.ย. – 30 พ.ย.นี้ ภายใต้งานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน โดยการเปิดให้บรรดาลูกหนี้เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้กับแบงก์เจ้าหนี้

งานนี้…จะเป็นผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับลูกหนี้ว่าต้องการแก้ไข หรือยกระดับชีวิตตัวเองให้ดีขึ้นแค่ไหน เพราะอย่างน้อยก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการ “ต่อลม” ให้เดินหน้าได้อีกสักระยะ

หลักใหญ่ใจความที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ ตัวของลูกหนี้ ก็จริง แต่อีกทางก็ขึ้นอยู่กับฝีมือการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยเช่นกัน!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”