นิโคล ครามาริตช์ มีถุงชอปปิง 46 ใบในโรงรถของเธอ, ไบรอัน ออตโต มี 101 ใบ, ลิลิ แมนนุซซา มี 74 ใบ, ลิซ่า บุนเดสเฮม มี 89 ใบ

พวกเขาบางคนไม่รู้ว่าจะทำยังไงกับถุงพวกนี้ดี ขณะที่บางคนคิดจะเอาไปต่อยอดทำอย่างอื่น เช่น นำไปเย็นทำผ้าม่านกั้นห้อง หรือตั้งแผงแจกถุงชอปปิงให้ยืมหรือนำไปใช้ฟรี

คำถามก็คือทำไมคนเหล่านี้ถึงต้องเก็บถุงชอปปิงมากมายขนาดนี้ไว้ที่บ้านด้วย?

พวกเขาเหล่านี้เป็นชาวนิวเจอร์ซีย์ ส่วนถุงชอปปิงกองเป็นภูเขาเลากาในบ้านของพวกเขา คือผลกระทบข้างเคียงจากกฎหมายใหม่ของรัฐ ซึ่งห้ามร้านค้าของชำและซูเปอร์มาร์เกตใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง รวมถึงถุงกระดาษ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

กฎหมายนี้มีเป้าหมายที่จะลดขยะที่เกิดจากถุงพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง ซึ่งนับว่ามีเจตนาดั้งเดิมที่ดี แต่ขณะนี้กลับสร้างปัญหาโดยไม่ได้ตั้งใจแก่ผู้คนจำนวนมาก ที่เกี่ยวข้องกับบริการสั่งซื้อสินค้าประเภทอาหารและของใช้ประจำวันแบบจัดส่งถึงที่ หรือให้ผู้ซื้อไปรับ ณ จุดรับ-ส่ง โดยผู้ให้บริการจะต้องเปลี่ยนไปใช้ถุงชอปปิงแบบใหม่ ที่มีความทนทานและนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ขณะที่ผู้สั่งซื้อก็จะมีถุงประเภทนี้สะสมอยู่ในบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวนครั้งที่มีของมาส่ง

ขณะที่รัฐอื่น ๆ หลายรัฐในสหรัฐอเมริกาสั่งแบนเฉพาะถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งเท่านั้น นิวเจอร์ซีย์กลับส่งแบนทั้งถุงพลาสติกและถุงกระดาษ โดยอ้างว่าถุงเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังแบนการใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร และสั่งห้ามร้านอาหารแจกหลอดพลาสติก เว้นแต่ลูกค้าจะสั่ง 

เอมิลี่ กอนยู สาววัย 22 ปี ที่ทำงานเป็นพนักงานบริการรับจัดส่งของชำตามออร์เดอร์ของบริษัทอินสตาทาร์ท บอกว่า เธอแปลกใจมากที่บริษัทของเธอไม่มีแผนการปรับตัวใด ๆ เพื่อรับมือกับกฎหมายใหม่ โดยทำเพียงแค่เปลี่ยนไปใช้ถุงแบบที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้เท่านั้น 

กอนยู ยังบอกอีกว่า เธอต้องใช้ถุงแบบกลับมาใช้ซ้ำได้เหล่านี้เป็นจำนวนมากถึง 50 ใบต่อวัน ซึ่งเธอคิดว่าถุงส่วนใหญ่ก็จะกลายเป็นขยะอยู่ดี

ชีลี มิลเลอร์ อาจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน อธิบายว่า เมื่อเทียบกับถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ถุงแบบที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้เหล่านี้ จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมได้ก็ต่อเมื่อมีคนนำกลับมาใช้ซ้ำจริง ๆ 

แม้ว่าถุงพลาสติกบาง ๆ ที่ใช้กันทั่วไปเมื่อก่อนนี้จะส่งผลกระทบหลายอย่างต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในแง่ของการกำจัดขยะและการย่อยสลาย แต่เชื่อหรือไม่ว่า ถุงแบบใช้ซ้ำซึ่งโดยทั่วไปจะผลิตจากสารโพลีโพรพิลีนนั้น จะต้องนำกลับไปใช้ซ้ำอย่างน้อย 10 ครั้ง จึงจะคุ้มต้นทุนที่ใช้ในการผลิตทั้งในแง่ของพลังงานและวัสดุ ขณะที่ถุงที่ตัดเย็บจากผ้าฝ้ายจะมีจุดคุ้มทุนที่สูงกว่า

ความจริงแล้ว กฎหมายแบนถุงพลาสติกและถุงกระดาษของนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งบังคับใช้กับร้านค้าของชำและซูเปอร์มาร์เกตที่มีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 2,500 ตารางฟุต ต้องการกระตุ้นให้ลูกค้าที่มาซื้อของในร้านเลิกรับถุงทั้งสองประเภทจากทางร้าน และนำถุงของตัวเองมาใส่ของที่ซื้อไป 

แต่กฎหมายดังกล่าว ดูเหมือนจะมองข้ามธุรกิจการสั่งซื้อของออนไลน์ไปเสียได้

ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา สหรัฐมีการชอปปิงของชำผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ขณะที่ลูกค้าที่ไปซื้อของที่ร้านหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ระบาด ก็มีพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนไป ผลสำรวจตลาดการค้าของชำออนไลน์พบว่ามีสัดส่วนประมาณ 6% ของสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นการสั่งซื้อออนไลน์

บ็อบ สมิธ สมาชิกวุฒิสภาจากนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้สนับสนุนกฎหมายแบนการใช้ถุงทั้งสองประเภท ยอมรับว่าการบังคับใช้กฎหมายใหม่นี้ ย่อมก่อให้เกิดความขลุกขลักบ้าง แต่ทางการก็กำลังหาทางแก้ไขปัญหากันอยู่ โดยอาจมีการแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุญาตให้มีการใช้ถุงกระดาษบรรจุสินค้าสำหรับคำสั่งซื้อจากช่องทางออนไลน์

อาจารย์มิลเลอร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า สถานการณ์ถุงชอปปิงล้นบ้านประชาชนในนิวเจอร์ซีย์นี้ สะท้อนให้เห็นภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากการตั้งนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อม เธอกล่าวว่า ถ้าหากเราไม่สนใจต่อผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากนโยบายเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นสถานการณ์เหมือนเล่นเกมไล่ทุบตัวตุ่นในรู 

นั่นก็คือความพยายามแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง กลับส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาอีกอย่างหนึ่งขึ้นมาแทน.

แหล่งข้อมูล : nytimes.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES