เมืองปูซาน ซึ่งมีประชากรประมาณ 3.5 ล้านคน เป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของเกาหลีใต้ รองจากกรุงโซล ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ และเป็นเมืองท่าสำหรับการถ่ายลำขนาดใหญ่อันดับสองของโลก รองจากสิงคโปร์

World EXPO 2030 BUSAN, KOREA

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิ.ย. 2564 รัฐบาลเกาหลีใต้ยื่นเรื่องต่อองค์การนิทรรศการนานาชาติ ( บีไออี ) เพื่อเสนอชื่อเมืองปูซาน ให้เข้ารับการพิจารณาเป็นเจ้าภาพ “เอ็กซ์โป 2030” หรืองานนิทรรศการโลก ประจำปี 2573 ภายใต้สโลแกน “เปลี่ยนแปลงโลกของเรา เพื่อนำทางไปสู่อนาคตที่สดใส” ( Transforming Our World, Navigating Toward a Better Future )

ทั้งนี้ คณะกรรมการเอ็กซ์โป 2030 ของเมืองปูซาน นำเสนอคุณสมบัติของนครแห่งนี้ ภายในกรอบ “3ดับเบิลยู” ( 3Ws ) ซึ่งอาจเรียกตามแบบไทยได้ว่า “3ดี” ได้แก่ การพัฒนาที่ดี “well-developed” ตำแหน่งที่ตั้งที่ดี “well-placed” และ การได้รับประสบการณ์ที่ดี “well-experienced”

Arirang News

สำหรับ การพัฒนาที่ดีนั้น เมืองปูซานมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ จากการเคยเป็นผู้รับความช่วยเหลือทางการเงิน กลายมาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคใต้ของประเทศ ได้ภายในระยะเวลาเพียงครึ่งศตวรรษ ถือได้ว่า เมืองปูซานมีบทบาทสำคัญ ในการร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาเกาหลีใต้ จากการเป็น “ประเทศด้อยพัฒนา” สู่การเป็น “ประเทศกำลังพัฒนา” และกลายเป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว” ในปัจจุบัน

ภาพจำลองเมืองอัจฉริยะ “ปูซาน อีโค-เดลตา”

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งเมืองอัจฉริยะ “ปูซาน อีโค-เดลตา” ( Busan Eco-Delta Smart City ) ซึ่งนอกจากมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว โครงการ ปูซาน อีโค-เดลตา ยังถือเป็นเมืองอัจฉริยะนำร่องของเกาหลีใต้ ในการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าอย่างสูงสุด

ยิ่งไปกว่านั้น เมืองปูซานยังเป็นเมืองใหญ่เพียงแห่งเดียวบนโลกในตอนนี้ ซึ่งบรรจุประเด็นเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก ให้เป็นหนึ่งในนโยบายบริหารหลักของท้องถิ่น เพื่อป้องปรามและบรรเทาความเสียหาย จากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกที่มีต่อชุมชนให้ได้มากที่สุด โดยเทศบาลเมืองปูซานบัญญัตินโยบาย ดำเนินงาน และปรับปรุงแผนการดังกล่าว ทุก 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2555

สำหรับสาระสำคัญของแผนการนี้ มุ่งเน้นการแก้ไขและพัฒนาให้ครอบคลุมหลายส่วนที่สำคัญ และมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำ ระบบนิเวศ การบริหารจัดการที่ดิน การเกษตรและการประมง กิจการสาธารณสุข อุตสาหกรรม และพลังงาน

วัดแห่งหนึ่ง ในภูมิภาคปูซาน ย็องนัม

ในด้าน การมีตำแหน่งที่ตั้งที่ดี เมืองปูซานถือเป็นศูนย์กลางทั้งระบบขนส่งสาธารณะ และระบบโลจิสติกส์ เรียกได้ว่าเป็น “ประตูอีกบานหนึ่ง” เชื่อมระหว่างเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ขณะที่ในแต่ละปี เมืองปูซานต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศ จากทั้งในและต่างประเทศ ปีละหลายล้านคน ซึ่งเดินทางมาท่องเที่ยวและเยี่ยมชมสถานที่ และงานสำคัญซึ่งจัดขึ้นที่เมืองแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นชายหาด แม่น้ำ ภูเขา และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน หนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติขนาดใหญ่ที่สุดของทวีปเอเชีย

ในส่วนของ การได้รับประสบการณ์ที่ดีนั้น เมืองปูซานผ่านประสบการณ์การจัดงานใหญ่ระดับภูมิภาคและระดับโลกมาแล้ว นั่นคือ เอเชียนเกมส์ เมื่อปี 2545 การประชุมกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ( เอเปค ) เมื่อปี 2548 และการประชุมสุดยอดวาระพิเศษ ระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) กับสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อปี 2562 ตลอดจนการเป็นเจ้าภาพงานประชุมและงานแสดงด้านเทคโนโลยีอีกหลายงาน

หมู่บ้านวัฒนธรรม “คัมชอน” ในเมืองปูซาน

แม้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี แต่เมืองปูซานยังคงความเป็นธรรมชาติ และการอนุรักษ์สถานที่สำคัญซึ่งสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ และความเป็นมาของอารยธรรมเกาหลีได้เป็นอย่างดี ความผสมผสานอย่างลงตัวในทุกมิติของเมืองปูซาน เป็นได้ทั้งตัวอย่างและกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ให้กับเมืองใหญ่ของอีกหลายประเทศบนโลก รวมถึงไทย ซึ่งมีแผนพัฒนาหลายจังหวัดให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายยุทธศาสตร์แห่งชาติในระยะยาวด้วย.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : World EXPO 2030 BUSAN, GETTY IMAGES