สัปดาห์นี้ “ทีมข่าวอาชญากรรม” ขอพามาพูดถึงประเด็น “อายุความ” ในมุมมองต่างๆ ของผู้อยู่ในแวดวงกฎหมาย เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น

“วัตถุประสงค์ของประเทศที่ให้มีอายุความ เพราะเชื่อว่าการพิสูจน์ความจริงนั้น ต้องรีบทำให้เร็วที่สุด ในขณะที่พยานหลักฐานยังสดและใหม่ เพราะโอกาสที่ศาลจะตัดสินผิดพลาดคลาดเคลื่อนจะมีน้อย ยิ่งทิ้งเวลาไว้นานเท่าใด หลักฐานต่างๆ ยิ่งสูญหายมากขึ้น โอกาสที่ศาลจะตัดสินยกฟ้อง หรือผิดพลาดก็มีมากขึ้นไปด้วย ดังนั้น เพื่อเร่งรัดให้ตำรวจเร่งจับกุมคนร้ายและเร่งรัดให้อัยการรีบฟ้อง จึงจำเป็นต้องมีอายุความ อายุความจึงมีประโยชน์ที่จะเป็นสภาพบังคับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเร่งรัดการสืบสวนสอบสวน ฟ้อง และตัดสินคดีโดยเร็วนั่นเอง…” เป็นเนื้อความตอนหนึ่งของ ดร.ธีร์รัฐ ไชยอัคราวัชร์ ผู้พิพากษา ที่เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอายุความคดีไว้

ขณะที่ นายศีรวิษ สุขชัย ทนายความ ระบุในฐานะนักกฎหมาย ว่า การดำเนินคดีอาญาต้องกระทำต่อหน้าจำเลย เพื่อให้มีโอกาสรับรู้ถึงข้อกล่าวหา จะปฎิเสธหรือต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ดังนั้น การฟ้องคดีอาญาจึงต้องได้ตัวจำเลยมาฟังการพิจารณา และให้มีโอกาสตั้งทนายความ หรือได้รับทนายความที่รัฐจัดหาให้ เพื่อช่วยเสนอพยานหลักฐาน รวมถึงการซักค้านพยานของโจทก์

นอกจากนี้ การดำเนินคดีอาญาต้องกระทำภายในกำหนดอายุความ หากไม่ได้ตัวจำเลยหรือได้มาแล้ว แต่จำเลยหลบหนีจนพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ตาม ป.อาญา มาตรา 95 หรือ มาตรา 98 เป็นอันขาดอายุความ

และด้วยคดีขาดอายุความ เป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 39 (6) ซึ่งบางครั้งระหว่างการดำเนินคดีจำเลยที่หลบหนีไปหลังกระทำความผิด หรือเมื่อถูกจับตัวได้และได้รับการปล่อยชั่วคราวแต่หลบหนี และบางกรณีไม่สามารถหาตัวจำเลยได้ หรือบางกรณีปรากฏตัวให้เห็น แต่จำเลยหนีไปต่างประเทศ ทำให้กระบวนพิจารณาคดีอาญาต้องหยุดหรือรอ จนกว่าจะจับตัวได้ จึงจะนำมาฟ้องหรือดำเนินคดีต่อได้

เพราะการฟ้องต้องมีตัวจำเลยมาพร้อมคำฟ้อง หรือการพิจารณาต้องกระทำต่อหน้าจำเลย เมื่อไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาได้จน “เกินกำหนดอายุความ” ฟ้องร้อง หรืออายุความล่วงเลยการลงโทษ จึงทำให้ “ผู้เสียหาย” พลาดโอกาสให้จำเลยต้องรับโทษ หรือชดใช้เยียวยาความผิด แม้แต่รัฐก็ไม่อาจดำเนินการกับผู้กระทำความผิดนั้นได้อีกต่อไป หากคดีนั้นขาดอายุความ จึงเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่ทำให้ผู้กระทำความผิดนั้นยังคงลอยนวลอยู่ได้

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าควรให้มีการแก้ไข ป.อาญา เกี่ยวกับเรื่องอายุความ โดยกำหนดให้คดีอาญาที่มีโทษร้ายแรงตั้งแต่จำคุก 15 ปี ถึงโทษประหารชีวิต “ไม่มีอายุความ” และควร “ขยายอายุความ” การดำเนินคดีอาญา เพื่อให้การบังคับใช้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังแก้ปัญหาผู้กระทำความผิดที่หลบหนี หรือเมื่อถูกจับตัวได้และได้รับการปล่อยชั่วคราวไปแต่หลบหนี ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ผู้เสียหายสามารถดำเนินคดี นำตัวมารับโทษตามกฎหมายได้ต่อไป

อีกด้านหนึ่ง นายนิพนธ์ จันทเวช โฆษกสภาทนายความ ให้มุมมองว่า การที่ผู้กระทำผิดหลบหนีจนคดีความหมดอายุก็เหมือนผู้กระทำผิดได้รับการลงโทษแล้ว เนื่องจากต้องใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ ต้องคอยระแวง ระวัง กลัวถูกตามเจอ หรือถูกจับกุม ไม่สามารถพบปะผู้คน ต้องทนทุกข์ 10-20 ปี หากผู้กระทำผิดยอมเข้ากระบวนการ แม้จะรับโทษตามกฎหมาย อาจจะใช้กรรมน้อยกว่าเวลาคดีความหมดอายุก็เป็นได้

ส่วนผู้ต้องหาบางรายใช้วิธีหลบหนีไปต่างประเทศที่อยู่นอกอำนาจอธิปไตย ตำรวจหรือหน่วยงานไทยไม่สามารถตามไปจับได้ ทั้งยังต้องดูอีกว่าประเทศที่หลบหนีไปนั้นมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไทยด้วยหรือไม่ ตามความเห็นส่วนตัวมองว่า เวลาของอายุในคดีความของประเทศไทยเหมาะสมพอสมควร และใช้กฎหมายฉบับนี้มานานแล้ว แม้จะมีการปรับแก้ไขอยู่เรื่อยๆ

แต่ในอนาคตหากภาคสังคม ประชาชน นักวิชาการ เห็นสมควรแก้ไขเรื่อง “การพักอายุคดีความ” หากผู้ร้ายหนีออกนอกประเทศ แล้วผลักดันยื่นเสนอแก้กฎหมายผ่านทาง ส.ส. และรัฐสภา ก็เป็นแนวทางในอนาคตได้.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]