อีกทั้งคดีที่ฝ่ายชายที่ถูกแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นบุคคลที่มีสถานะที่สังคมจับตาว่าจะมีผลต่อคดีหรือไม่?? ก็เกิดขึ้นครึกโครมต่อเนื่อง โดยคดีหนึ่งยังไม่ทันจะจบ…คดีอื่นก็เกิดซ้อนขึ้นมาเรื่อย ๆ… ทั้งนี้ “คดีละเมิดทางเพศ” ที่อื้ออึงหลาย ๆ คดีในช่วงหลัง ๆ มานี้ จะจบอย่างไร?? ฝ่ายชายจะผิด-ไม่ผิด?? ก็ต้องตามดูกันไป… อย่างไรก็ตาม กับภาพรวมเกี่ยวกับคดีแบบนี้โดยไม่เฉพาะเจาะจงที่คดีใด วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนย้อนดูชุดข้อมูลชุดหนึ่งที่ยังน่าสนใจ-น่าพิจารณา… 

ย้อนดู “คดีทางเพศ” กับการ “สู้ให้ชนะ”

ย้อนดู “มุมสะท้อนเชิงวิชาการที่น่าคิด”

ทั้งนี้ ชุดข้อมูลที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนย้อนดูกันในวันนี้มีการเผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์ทีดีอาร์ไอ โดยเป็นบทความชื่อ “สู้ให้ชนะ : บนความไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหายในคดีการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ” จัดทำโดย ดร.บุญวรา สุมะโน และ ชาตบุษย์ฮายุกต์ ซึ่งได้ระบุถึงเรื่องนี้ไว้สรุปได้ว่า… การคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นจนเกิดกระแสครึกโครมสังคมไทยหลาย ๆ กรณีนั้น บางกรณีผู้ถูกกล่าวหาเคยก่อเหตุในลักษณะเดียวกันมาหลายครั้งในอดีต จนนำสู่การตั้ง “คำถาม” จากสังคมว่า… เหตุใดจึงไม่สามารถเอาผิดตั้งแต่เมื่อกระทำผิดครั้งแรก?? จนทำให้มีเหยื่อจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ในบทความที่มีการเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของทีดีอาร์ไอดังกล่าว ได้มีการระบุไว้อีกว่า… มิอาจปฏิเสธว่า… ในประเทศไทย “ยังมีช่องว่างในกระบวนการยุติธรรม” และ “ยังมีปัญหาจากค่านิยมทางสังคม”  ที่ทำให้ “ผู้เสียหายจากการถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศยังต้องเผชิญความเสียเปรียบอยู่หลายประการ” จนถึงขนาดมีคำกล่าวว่า “ถึงสู้ไปก็ไม่ชนะ!!” โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดคำกล่าวดังกล่าวนี้ กรณีนี้ก็สามารถแบ่งออกตามขั้นตอนการดำเนินคดี…

สำหรับ “ช่องว่าง-ปัญหา” ที่ทำให้ “เหยื่อเสียเปรียบเมื่อเข้าสู่กระบวนการต่อสู้ทางคดี” นั้น ในบทความดังกล่าวได้ระบุแจกแจงไว้ว่า… เริ่มต้นจากขั้นแรก คือ… “การแจ้งเหตุ” โดยจาก ค่านิยมชายเป็นใหญ่ และมักจะด้อยค่าผู้หญิง ที่ยังคงฝังรากลึก นี่ทำให้ที่ผ่านมานั้น เมื่อเกิดกรณีความผิดเรื่องเพศ ไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ค่านิยมนี้ยังเป็น อุปสรรคที่ทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าแจ้งเหตุหรือตัดสินใจแจ้งความ เพราะ… เหยื่อมักจะถูกถามหาถึงพยานหลักฐานที่เห็นชัดเจนและเป็นรูปธรรม ว่าผู้เสียหายโดนคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ ทางเจ้าหน้าที่ถึงจะรับแจ้งความไว้…

จุดนี้ “ทำให้เหยื่อเหมือนถูกคุกคามซ้ำ!!”

นอกจากนี้ “ข้อจำกัดทางด้านบุคลากร” นี่ก็นับเป็นอีกประเด็นสำคัญที่เป็นสาเหตุช่องว่าง-ปัญหา ที่ทำให้การแจ้งเหตุคดีความผิดในลักษณะนี้มีน้อยมากกว่าที่ควรจะเป็น โดยย้อนดูปี 2564 ทั่วประเทศไทยมีพนักงานสอบสวนหญิงแค่ราว 700 คน หรือไม่ถึง 10% ของพนักงานสอบสวนทั้งหมด ที่มีอยู่ทั้งประเทศประมาณ 10,000 คน ทำให้สถานีตำรวจบางแห่งไม่มีพนักงานสอบสวนหญิงประจำอยู่ โดยที่เหยื่อมักไม่กล้าที่จะเล่าเหตุการณ์ให้พนักงานสอบสวนผู้ชายฟัง

ขั้นที่สอง คือ… “การสอบสวนและรวบรวมหลักฐาน” โดยหลายกรณี ผู้เสียหายต้องกลับไปยังสถานที่เกิดเหตุเพื่อแสดงให้ตำรวจดูว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ “ซ้ำเติมจิตใจผู้เสียหาย!!” นอกจากนั้น เนื่องจากกฎหมายมองว่าหากมีความ “ยินยอม” เกิดขึ้น การกระทำที่กล่าวอ้างย่อมไม่ถือว่าผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องร้องหรือแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายผู้กระทำจะพยายามใช้หลักฐานอื่นโจมตีผู้เสียหาย เช่น ข้อความเชิงชู้สาว รูปถ่ายในชุดวาบหวิว รวมถึงการที่ผู้เสียหายไม่ปฏิเสธพฤติกรรมคุกคามอย่างชัดแจ้ง ขณะที่การพิสูจน์ความยินยอมก็มีประเด็นที่ซับซ้อน…

ถัดมาขั้นที่สาม คือ… “การดำเนินคดีในศาล” การพิจารณาคดีอาญาจะใช้ระบบกล่าวหา ผู้เสียหายต้องพิสูจน์ว่าถูกกระทำจริง โดยหากไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็จะทำให้ผู้กระทำพ้นข้อกล่าวหา ซึ่ง การเล่าเหตุการณ์อย่างละเอียดในศาลอีกครั้งไม่ใช่เรื่องง่ายของเหยื่อ โดยเฉพาะเมื่อถูกตั้งคำถามถึงความยินยอม หรือที่สื่อในทางกล่าวโทษผู้เสียหาย เช่น แต่งกายยังไง ดึกดื่นออกมาทำไม อีกทั้งมีประเด็น บทลงโทษที่ไม่จูงใจให้เอาผิด อาทิ กรณีไม่เข้าข่ายอนาจารหรือข่มขืน จะเป็นแค่ความผิดลหุโทษ มีโทษสูงสุดเพียงจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เท่านั้น…

และขั้นสุดท้าย คือ… “การชดเชยและช่วยเหลือเหยื่อ” ที่แม้ผู้เสียหายจะขอรับค่าเสียหาย เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ หรืออื่น ๆ ได้ตามกฎหมาย แต่ก็มีการจำกัดความผิดที่กระทำต่อผู้เสียหายไว้ โดยต้องเป็นความผิดเกี่ยวกับเพศที่เป็นการข่มขืนกระทำชำเราหรืออนาจารเท่านั้น ไม่ครอบคลุมไปถึงการทำให้เหยื่อขายหน้า หรือการรังแกข่มเหงคุกคาม จนทำให้เหยื่อได้รับการเยียวยาน้อยกว่าความผิดอื่น ๆ …นี่ก็เป็นอีก ช่องว่าง ที่มีการสะท้อนไว้ในบทความที่เผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์ทีดีอาร์ไอ บทความชื่อ “สู้ให้ชนะ : บนความไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหายในคดีการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ” โดย ดร.บุญวรา สุมะโน และ ชาตบุษย์ ฮายุกต์ …ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลจากที่ระบุมาข้างต้น ก็ล้วนน่าพิจารณา… 

“เหยื่อทางเพศ” เป็นเหยื่อก็ “ยังสู้ยาก!!”

สู้ยาก “ทั้งที่เป็นการสู้ทางคดีกับคนผิด”

หรือ “นี่เป็นเหตุที่คดีทางเพศยังอื้อ??”.