อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา ในวัย 91 ปี มุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูระบบคอมมิวนิสต์ที่เสื่อมโทรมด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจและประชาธิปไตย ซึ่งเขาไม่มีความตั้งใจที่จะล้มเลิกมันเลยแม้แต่น้อย แต่เขากลับปลดปล่อยกองกำลังที่อยู่เหนือการควบคุม และพบว่าตัวเองกำลังอยู่ในส่วนกลางที่หดตัวลง ระหว่างกลุ่มคนหัวรั้นที่ตั้งใจจะรักษาอำนาจจากศูนย์กลาง และกลุ่มผู้แบ่งแยกที่มุ่งมั่นจะทำลายมัน


หลังจากหลายทศวรรษของความตึงเครียดและการเผชิญหน้าในสงครามเย็น กอร์บาชอฟได้ทำข้อตกลงด้านอาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐ และนำพาสหภาพโซเวียตเข้าใกล้ชาติตะวันตกมากกว่าครั้งไหน นับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทว่าเขาต้องเห็นมรดกของตัวเองถูกทำลายในช่วงเดือนสุดท้ายของชีวิตที่ยืนยาวของเขา เมื่อการปฏิบัติการทางทหารของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ในยูเครน ทำให้ชาติตะวันตกถล่มการคว่ำบาตรในรัฐบาลมอสโก รวมถึงการที่นักการเมืองในรัสเซียและชาติตะวันตกต่างพูดถึงสงครามเย็นครั้งใหม่ และความเสี่ยงของสงครามโลกครั้งที่ 3 อย่างเปิดเผยอีกด้วย


ทั้งนี้ นโยบายของเขาเกี่ยวกับ “กลาสนอสต์” (เสรีภาพในการแสดงออก) และ “เปเรสทรอยกา” (การปรับโครงสร้างใหม่) เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการถกเถียงในสาธารณะอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์รัสเซีย จนจัตุรัสมอสโกพลุ่งพล่านไปด้วยการอภิปรายอย่างกะทันหัน, การตรวจสอบและควบคุมเนื้อหาทั้งหมดหายไป และแม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์อันศักดิ์สิทธิ์ก็ถูกบังคับให้เผชิญหน้ากับอาชญากรรม ในยุคของนายโจเซฟ สตาลิน


อย่างไรก็ตาม ปัญหาในรัสเซียมีเพิ่มมากขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ “รัฐประหารเดือนสิงหาคม” ที่จัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มที่เรียกกันว่า “คณะกรรมการภาวะฉุกเฉิน” อันประกอบไปด้วยหัวหน้าคณะกรรมการความมั่นคงแห่งรัฐ (เคจีบี), นายกรัฐมนตรี, รมว.กลาโหม และรองประธานาธิบดี ซึ่งพวกเขากลัวการล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์อย่างสมบูรณ์ และพยายามป้องกันไม่ให้อำนาจไหลออกจากศูนย์กลางไปยังสาธารณรัฐ ซึ่งกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดและอำนาจมากที่สุดในขณะนั้นคือ รัสเซียของอดีตประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน

Voice of America


แม้การเลือกตั้งที่เป็นอิสระ, เสรีภาพในการนำเสนอข่าวและข้อมูล, สภาผู้แทนราษฎร และระบบหลายพรรคจะกลายเป็นจริงภายใต้การดูแลของกอร์บาชอฟ แต่สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ซึ่งเป็นรัฐคอมมิวนิสต์แห่งแรก รวมถึงเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่ส่งมนุษย์คนแรกขึ้นสู่อวกาศ และกระจายอิทธิพลไปทั่วโลกนั้น ไม่มีอยู่อีกแล้ว


ความสำเร็จของกอร์บาชอฟไม่ได้รับการชื่นชมในรัสเซีย ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใจ เพราะรัสเซียสามารถจัดการกับบรรดานักปฏิรูปอย่างรุนแรงได้ ขณะที่กลุ่มคนหัวแข็งกล่าวหาว่าเขาทำลายเศรษฐกิจที่วางแผนไว้ และละทิ้งความสำเร็จของคอมมิวนิสต์ที่มีมานานกว่า 70 ปี ส่วนนักวิจารณ์เสรีนิยมกล่าวว่า กอร์บาชอฟเป็นคนที่พูดมากเกินไป, ประนีประนอมมากเกินไป และขัดขวางการปฏิรูปที่เด็ดขาด


อย่างไรก็ดี การที่กอร์บาชอฟได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2533 และมีชื่อเสียงอันโด่งดังในต่างประเทศ เขาจึงค่อย ๆ เข้าที่เข้าทางกับอาชีพที่ 2 โดยเขาเคยพยายามก่อตั้งพรรคสังคมประชาธิปไตยมาหลายครั้ง, เปิดคลังสมอง, มูลนิธิกอร์บาชอฟ และร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์โนวายากาเซตา ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ทำเนียบเครมลิมมาจนถึงทุกวันนี้


แม้โศกนาฏกรรมของเขาคือการพยายามออกแบบโครงสร้างขนาดใหญ่ที่แข็งแรงออกมาใหม่ เพื่อทำให้สหภาพโซเวียตคงอยู่ และรักษาระบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งท้ายที่สุด เขากลับต้องเฝ้าดูการสิ้นสุดของทั้งสองอย่าง แต่ถึงอย่างนั้น โลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES