“มันฝรั่ง” วัตถุดิบหลักสำหรับครัวเรือนไม่ว่าจะซื้อมาแบบสด หรือแปรรูปเตรียมไว้แล้ว อยู่ในกลุ่มพืชผลฤดูร้อนที่ได้รับผลกระทบในปีนี้ จากอุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ และภัยแล้งครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 500 ปี ของยุโรป


สภาพอากาศแห้งแล้งในเยอรมนี, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศแถบตะวันตกเฉียงเหนือที่มีผลผลิตมันฝรั่งส่วนใหญ่ในสหภาพยุโรป (อียู) อาจผลักดันการผลิตของภูมิภาคให้ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และต่ำกว่าที่เคยกิดขึ้นในภัยแล้งปี 2561 ตามข้อมูลของนักวิเคราะห์จากตลาดมันฝรั่งโลก


แม้ผู้ผลิตหลายรายในยุโรปกล่าวเตือนว่า การประมาณการพืชผลเป็นข้อมูลเบื้องต้น ก่อนที่การเก็บเกี่ยวจะเริ่มดำเนินการในเดือน ก.ย.นี้ อีกทั้งฝนและอุณหภูมิที่เย็นลงในช่วงที่ผ่านมา อาจช่วยบรรเทาวิกฤติได้ แต่ในฟาร์มบางแห่ง ความหวังเหล่านั้นช่างริบหรี่


กระทรวงเกษตรเยอรมนีไม่ได้ระบุการคาดการณ์การเก็บเกี่ยว ในรายงานพืชผลเมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา แต่กล่าวว่า โอกาสสำหรับการปลูกมันฝรั่งนั้น “แย่ลงอย่างมาก”


นอกจากนี้ ฝรั่งเศสอาจได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน เนื่องจากผลผลิตอาจอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 20 ปี อย่างน้อย 20% ตามข้อมูลของกลุ่มผู้ผลิตในฝรั่งเศส “ยูเอ็นพีที” แม้การชลประทานจะยับยั้งผลกระทบของภัยแล้งในฟาร์มที่ครบครัน แต่พืชผลยังคงเหี่ยวแห้งเพราะช่วงอากาศร้อนต่อเนื่อง


ทั้งนี้ ความร้อนถูกมองว่าเป็นความเสี่ยงต่อทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิต โดยรูปร่างและสีของหัวมันจะเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิที่สูง ซึ่งอาจกลายเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวสำหรับการแปรรูปมันฝรั่งตามเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในสัญญาได้

Reuters


“มันจะสร้างความเสียหายต่อสุตสาหกรรมและผู้บริโภค แต่กลุ่มที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือ เกษตรกร” นายคริสตอฟ เวอร์มิวเลน ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มอุตสาหกรรมเบลเยียม “เบลกาพอม” ประมาณการว่าพืชผลของประเทศอาจลดลงมากถึง 30%


ด้าน นายปาสคาล วิลลาร์ต ผู้จัดการร่วมของบริษัทเมซ็อง อ็องตวน ร้านขายมันฝรั่งทอดชื่อดังของเบลเยียม กล่าวว่า ปัญหามันฝรั่งคุณภาพดีที่มีวางจำหน่ายน้อยลง จะมีแนวโน้มผลักดันราคาให้สูงขึ้นได้อีก


ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทอาหารระดับโลกอย่าง “แมคโดนัลด์” ก็ขึ้นราคาอาหารด้วยเช่นกัน เพื่อตอบสนองต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ขยับตัวขึ้น ขณะที่ นายเบอร์นาร์ด อูย็อง กรรมการผู้จัดการหน่วยงานมันฝรั่งของฝรั่งเศส “จีไอพีที” กล่าวว่า เกษตรกรฝรั่งเศสเมื่อปี 2561 จำเป็นต้องเจรจาสัญญาใหม่กับผู้ซื้ออย่าง แมคเคน เพื่อให้สามารถทำมันฝรั่งทอดที่สั้นลงได้ เพราะภัยแล้งในปีนั้น และปัญหาที่เกิดขึ้นในปีนี้อาจคล้ายคลึงกัน


แม้ผู้บริโภคบางคนอาจรู้สึกว่า ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากวิกฤติมันฝรั่งที่เกิดขึ้น แต่ในห่วงโซ่อุปทาน ฟาร์มและบริษัทหลายแห่งอาจต้องทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างผลผลิต ซึ่งตรงข้ามกับสถานการณ์เมื่อ 2 ปีก่อน ที่การล็อกดาวน์เพราะการระบาดโรคโควิด-19 ทำให้สต็อกมันฝรั่งเพิ่มมากขึ้นในยุโรปตอนเหนือ.


เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS