หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา ลงมติเห็นชอบ “ขาดลอย” ด้วยคะแนนเสียง 287 เสียง เป็นผลให้ไม่เพียงผู้เสียหาย หรือญาติที่มีความหวัง แต่รวมถึงอนาคตของสังคม 

ไม่กี่วัน ก่อนสภามีมติเห็นชอบ “ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสพูดคุยถึงเส้นทางกฎหมาย รวมถึงข้อห่วงใยหลายประการที่น่าสนใจจากหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และเป็นผู้มีบทบาทผลักดันร่างกฎหมาย

นางอังคณา นีละไพจิตร ในฐานะอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ กมธ.วิสามัญร่างกฎหมาย หรืออีกสถานะคือภรรยา ทนายสมชาย  นีละไพจิตร บุคคลสูญหายตั้งแต่ปี 47 เล่าถึงที่มาว่า เป็นเวลากว่า 10 ปีที่ไทยเคยลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ เมื่อปี 55 ก่อนกระทรวงยุติธรรมจัดทำร่างกฎหมายโดยเปิดรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน

กระทั่งปี 59 ครม.มีมติเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีโดยให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลฯ รวมทั้งเห็นชอบร่างกฎหมายที่กระทวงยุติธรรมนำเสนอ จากนั้นเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา 2 ครั้ง ร่างแรกถูกทำให้ตกไป ส่วนร่างที่ 2 ก็ตกไปอีก เพราะ สนช.หมดวาระ จนเดือน ต.ค.64 จึงถูกหยิบยกมาพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ก่อนวันที่ไทยจะเข้าสู่การทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) ไม่กี่วัน

เดิมชั้นกมธ.สภาผู้แทนราษฎร ร่างกฎหมายถือว่าสอดคล้องอนุสัญญา CAT และอนุสัญญา ICPPED แต่ในชั้นวุฒิสภาหลายมาตราสำคัญถูกแก้ไขหรือตัดออก เช่น 1.ข้อห้ามไม่ให้นิรโทษกรรม มีการตัดข้อความมาตรา 12 วรรคสอง ซึ่งระบุว่า “กฎหมายนิรโทษกรรมและข้อยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายใดไม่ให้นำมาใช้บังคับกับความผิดตาม พ.ร.บ.นี้” เท่ากับว่าสามารถออกกฎหมายงดเว้นความผิดได้

2.อายุความ มีการตัดมาตรา 32 หมวดการดำเนินคดี ซึ่งตามอนุสัญญาสหประชาชาติไม่ควรกำหนดอายุความ เพราะเป็นความผิดร้ายแรง หรือหากมีอายุความก็ต้องให้นานที่สุด เดิมร่าง ส.ส.ระบุไว้ 40 ปี ซึ่งเป็น 2 เท่าของอาชญากรรมปกติ เพราะเกี่ยวข้องกับการฆ่า อำพรางศพ แต่เมื่อไม่เขียนไว้จะไปเข้าตาม ป.วิอาญา คือ 20 ปีที่น้อยลงกว่าเดิมทั้งที่เป็นกฎหมายป้องกัน อย่างไรก็ตาม หากมองความคืบหน้าพบว่ามีการเพิ่มถ้อยคำว่า “อายุความสำหรับความผิดตามมาตรา 7 (กระทำให้สูญหาย) มิให้เริ่มนับจนกว่าจะทราบชะตากรรม”

3.การตั้งคณะกรรมการ ปรับไม่ให้สรรหา แต่มาจากการแต่งตั้งของ ครม. และเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งมองว่าทำให้ขาดการมีส่วนร่วมประชาชน และตัวแทนผู้เสียหาย และ 4.การรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ มาตรา 30

ขณะที่การบันทึกภาพและเสียงระหว่างการจับ ควบคุมตัว และสอบสวนนั้น เห็นว่าควรบัญญัติเรื่องมาตรการป้องกันหรือเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการกระทำการทรมาน อาทิ ติดตั้งกล้องตลอดการปฏิบัติหน้าที่ จัดให้มีระบบเก็บข้อมูล และเข้าถึงได้เมื่อต้องการตรวจสอบ เพื่อเป็นหลักประกันคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่รัฐหากถูกร้องเรียน เพราะมีหลักฐานมาแสดงได้

ทั้งนี้ มองข้อดีการตัดอำนาจศาลทหาร ทำให้แม้ผู้กระทำผิดเป็นบุคคลในอำนาจศาลทหารแต่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบจะมีอำนาจตัดสิน นอกจากนี้ร่างกฎหมายระบุอำนาจสืบสวนสอบสวนเป็นของพนักงานสืบสวน พนักงานอัยการ พนักงานฝ่ายปกครอง ทำให้ประชาชนสามารถร้องกับหน่วยงานท้องที่เกิดเหตุได้ หากพบการกระทำทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย

พร้อมทิ้งท้ายที่ผ่านมาเหตุการณ์ที่ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากประชาชนฟ้องอาญาจะหาพยานหลักฐานยากมาก สุดท้ายมีกี่คดีที่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐมารับผิดชอบได้ หรือหากหาตัวได้จริง จะมีกี่คนที่ได้ตั๋วลอยนวลไม่ต้องรับผิดชอบ

เป็นอีกประเด็นต้องติดตาม เมื่อกฎหมายอาจเป็นแค่เครื่องป้องกัน แต่ยุติการกระทำเป็นการปฏิบัติของบุคคล.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]