บางคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า ในประเทศไทยยังมีพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารอีกจำนวนมาก ที่ยังขาดแคลน ชาวบ้านยากจน ไร้ไฟฟ้าและน้ำประปาใช้สอยในชีวิตประจำวัน การเดินทางที่รถยนต์เข้าไม่ถึง ต้องใช้เรือในการเดินทาง และการศึกษาที่เข้าไม่ถึง เป็นสิ่งสำคัญ!!
พื้นที่ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ก็เป็นอีกแห่งหนึ่ง สภาพพื้นที่เป็นภูเขาส่วนใหญ่ ชาวบ้านส่วนมากมีอาชีพเกษตรกรรม และประมงน้ำจืด ไม่มีสถานที่ในการจัดการเรียนการสอน นักศึกษาจึงต้องขวนขวายหาความรู้ โดยการเดินทางมาเรียนที่ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอทองผาภูมิ
โดยนักศึกษาหมู่ที่ 1 บ้านอีต่อง เดินทางมาเรียนด้วยรถโดยสารประจำทางและรถส่วนตัว ซึ่งระยะทางนั้นไกลมาก เนื่องจากเป็นภูเขา ถนนคดเคี้ยวลาดชัน ในส่วนของหมู่ที่ 2 บ้านโบอ่อง, หมู่ที่ 3 บ้านใหม่ไร่ป้า และหมู่ที่ 4 บ้านปิล๊อกคี่ ทั้ง 3 หมู่บ้านนี้ เป็นหมู่บ้านดั้งเดิมอยู่เกาะกลางน้ำ ต้องใช้เรือในการเดินทาง พอมาถึงฝั่ง ก็เดินทางต่อด้วยรถโดยสารประจำทาง เพื่อมาเรียนระยะทางไกล และใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง
จากปัญหาดังกล่าว นายธิติพนธ์ ระลอกแก้ว ผอ.สนง.กศน.จ.กาญจนบุรี เล็งเห็นว่า จะต้องส่งเสริมการศึกษาให้กับประชาชนผู้ด้อย พลาด และขาดโอกาสทางการศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไปให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาในรูปแบบการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาต่อเนื่อง และการศึกษาตามอัธยาศัย อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
โดยมอบหมายให้ น.ส.ณธชศมล เซี่ยงว่อง รักษาการ ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอสังขละบุรี รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ กศน.อำเภอทองผาภูมิ และนายอัฐพล กลีบทอง ครู กศน. ตำบลปิล๊อก ติดตามการดำเนินการสร้างศูนย์การเรียน กศน.ตำบลปิล๊อก เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษา กศน. และเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับนักศึกษาและประชาชนในตำบลปิล๊อก
และนักเรียนที่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนเพียงหลวง 3 (บ้านเหมืองแร่อีต่อง) ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อกคี่ ให้ได้รับการศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และเป็นศูนย์ส่งเสริมฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิต
นายอัฐพล กลีบทอง ครู กศน. ตำบลปิล๊อก กล่าวว่า ตนเองได้รับการบรรจุเป็นพนักงานราชการมา 5 ปี ที่ กศน.อำเภอทองผาภูมิ รับผิดชอบพื้นที่ตำบลปิล๊อก เดิมทีศูนย์การเรียนการสอนของ กศน.ปิล๊อก ตั้งอยู่หมู่บ้านอีปู่ และหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ได้ขอพื้นที่คืน จึงไม่มีสถานที่ให้นักศึกษาได้เรียนกัน ตนจึงมีความคิดที่จัดการเรียนการสอนบนแพขึ้นมา จึงไปปรึกษาผู้บังคับบัญชา ผู้นำท้องถิ่น เห็นตรงกัน เปิดการเรียนการสอนเพื่อที่ไม่ให้นักเรียนต้องเดินทางไกล
“ที่ผ่านมาอุปสรรคมีมาก ไม่มีงบประมาณที่ใช้สร้างแพศูนย์การเรียนรู้ จึงระดมทุนผู้ที่มีจิตศรัทธาที่เห็นการเรียนการสอนเป็นเรื่องสำคัญมาร่วมด้วยช่วยกัน ส่วนวิธีการก่อสร้าง ก็ค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากต้องสร้างแพอยู่บนผิวน้ำ ความยาวของแพ 20 เมตร กว้าง 10 เมตร ค่าก่อสร้างมีราคาแพงรวมทั้งค่าขนส่ง ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี เป็นเงินประมาณ 800,000 บาท จนมาแล้วเสร็จในปีนี้ แต่ยังไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าจัดการเรียนการสอนได้เบื้องต้น”
นายอัฐพล กล่าวอีกว่า ตนรักอาชีพครู ถึงแม้เงินเดือนจะเพียงน้อยนิด ก็สู้ทนฝ่าอุปสรรค อยู่ในถิ่นทุรกันดาร น้ำไม่มี ไฟเข้าไม่ถึง เวลาเข้าพื้นที่ต้องนั่งเรืออย่างเดียว ไม่สบายอย่างที่คิด กว่าจะสร้างแพศูนย์การเรียนต้องใช้เวลาถึง 5 ปี ได้รับการบริจาคจากกลุ่มเพื่อนมาช่วย เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 หลังจากจบการศึกษา สามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รับรองคุณวุฒิการศึกษา
โดยศูนย์ กศน.ปิล๊อก เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง ม.6 แบ่งวันกันมาเรียน ป.4 เรียนวันพุธ ม.1-ม.3 เรียนวันพฤหัสบดี ม.4-ม.6 เรียนวันศุกร์ ปัจจุบันทางเรามีนักศึกษาทั้งหมด 43 คน แยกเป็นหญิง 30 คน ชาย 13 คน เป็นคนในพื้นที่ทั้งหมด ส่วนอุปสรรคในการเดินทางมาเรียน คือทางเราไม่มีเรือเป็นของตนเอง ที่ผ่านมาต้องนั่งรถจากในตัวอำเภอทองผาภูมิ และมานั่งเรือต่อบ้านท่าแพ หมู่ 2 ต.ท่าขนุน ต้องจ้างเรือชาวบ้านหรือเรือเมล์ เพื่อมารับตนเองเข้าไปที่ศูนย์ กศน.ปิล๊อก ใช้เวลานั่งเรืออีก 50 นาที ถ้าเรามีเรือเอง ก็จะสะดวกในการเดินทางรับนักศึกษามาเรียน
นายอัฐพล กล่าวอีกว่า ในการเรียนการสอน ครูต้องปรับทุกมิติ แม้แต่สภาพอากาศของพื้นที่ด้วย ที่นี่ฝนตก 8 เดือน แดดออก 4 เดือน สู้กับธรรมชาติอีกทางหนึ่ง ความเป็นอยู่ของชุมชนส่วนมากเป็นชาวกะเหรี่ยง ครูต้องใส่กางเกงขาสั้นมาสอนหนังสือ นั่งเรือข้ามน้ำ นักศึกษาบางคนไม่มีชุดนักศึกษามาเรียน เราเป็นครูก็อนุโลมให้ เพื่อที่จะให้เขาได้เข้าถึงการศึกษา
“บางครั้งนักศึกษามาเรียนต้องนำลูกมาด้วย เนื่องจากไม่มีใครดูแล บางทีพายุเข้า ฝนตกหนักไม่สามารถนั่งเรือกลับไปบ้านได้ จึงต้องหุงหาอาหารพักกันบนแพของ กศน.ปิล๊อก ก่อนหน้านี้ตนเองก็เคยเหนื่อยถึงกับถอดใจ เพราะที่นี่ไม่สบายเหมือนครูทั่วไป บางครั้งก็อยากจะกลับไปอยู่ใกล้ครอบครัวเหมือนคนอื่นบ้าง แต่ก็คิดว่าเมื่อเลือกที่จะเป็น “ครู” แล้ว ก็ยอมทิ้งทุกอย่างได้เพื่อทำหน้าที่ให้ดีที่สุด”
“ถึงแม้ตอนนี้ศูนย์การเรียนรู้ กศน. ตำบลปิล๊อก จะยังไม่พร้อมถึง 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากยังขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอนหลายอย่าง และการเดินทางที่ไม่สะดวก อย่างไรก็ตาม อยากจะขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวหรือผู้ใจบุญทุกท่าน ที่มีโอกาสเข้ามาในพื้นที่ ได้แวะมาเที่ยวชมสัมผัววิถีชีวิตของครูและนักศึกษาที่นี่ ทางเรายินดีต้อนรับทุกท่าน หากท่านใดต้องการช่วยเหลือสนับสนุนให้โอกาสทางการศึกษา ติดต่อบริจาคได้ที่ กศน.อำเภอทองผาภูมิ” นายอัฐพล กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน น.ส.ภัทรนันท์ ตราสาโรจน์ นักศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย กล่าวว่า หนูเป็นตัวแทนนักศึกษา ขอกราบขอบพระคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกท่าน ที่เมตตาสร้างศูนย์การเรียนลอยน้ำ ที่สร้างโอกาสทางการศึกษาให้พวกหนู พวกหนูขอสัญญาว่า จะตั้งใจเรียนและเป็นเด็กดีของคุณครู ขอบคุณที่ส่งคุณครูมาหาพวกหนู ที่อยู่ห่างไกลความเจริญ พวกหนูจะรอคณะผู้ใหญ่ใจดีทุกท่าน ที่จะมาหาพวกหนูนะคะ..
คอลัมน์ : นิยายชีวิต โดย : อสงไขย
เรื่องและภาพโดย : จิตรภานุ ทองผาภูมิพรทวี จ.กาญจนบุรี
แนะนำเรื่องราวชีวิตดั่งนิยาย หรือสอบถามได้ที่ [email protected]
[[คลิก]] อ่านเรื่องราว “นิยายชีวิต” เพิ่มเติมได้ที่นี่..