งานแฮนด์เมดประเภทงานปั้นดินญี่ปุ่น-ดินไทย เป็นโมเดลจิ๋วรูปจำลองต่าง ๆ สามารถนำไปต่อยอดสร้างสรรค์เป็นสินค้าได้หลากหลาย โดยการนำไปตกแต่งบนของใช้ต่าง ๆ ให้เกิดความสวยงาม ที่สำคัญเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงานได้อีกด้วย อย่างเช่น “เคสโทรศัพท์มือถือ” ตกแต่งด้วย “ดินปั้นรูปเมนูอาหาร” ของ “กัญชนก ต๊ะมามูล” ที่ทำการปั้นดินทำเป็นเมนูอาหารต่าง ๆ ทั้ง อาหารไทย ฝรั่ง และขนมหวาน แล้วนำมาตกแต่งลงบนเคสโทรศัพท์มือถือ ทำให้ชิ้นงานมีความโดดเด่นดูสวยแปลกตา มีความแตกต่าง จนได้รับความนิยมจากลูกค้าเป็นอย่างดี…ซึ่งวันนี้ทีมงานคอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอไว้ให้พิจารณา…
กัญชนก ต๊ะมามูล เจ้าของผู้ที่ทำปั้นดินเป็นเมนูอาหารต่าง ๆ แล้วนำมาต่อยอดสร้างสรรค์ทำเป็นสินค้าหลากหลายประเภททั้ง เครื่องประดับ เคสโทรศัพท์มือถือ และที่ติดหลังโทรศัพท์ (Griptok) ขายสร้างรายได้ โดยเจ้าตัวเล่าว่า…เป็นคนที่ชอบทำงานแฮนด์เมดงานฝีมือมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว ซึ่งช่วงที่ยังเรียนมหาวิทยาลัยก็เคยทำชิ้นงานเคสโทรศัพท์มือถือเรซิ่นขาย จนเรียนจบมาก็มีความคิดที่อยากทำธุรกิจทำงานของตัวเอง ก็เลยทำชิ้นงานแฮนด์เมดขายต่อแต่ก็เริ่มต่อยอดมองหาทำชิ้นงานรูปแบบใหม่ ๆ ออกมาเพิ่ม จนไปสะดุดตากับงานโมเดลจิ๋วจากดินปั้น ซึ่งก็มีความคิดว่าทำไมงานโมเดลเป็นได้แค่ของที่ไว้ตั้งโชว์ จริง ๆ น่าจะนำมาสร้างมูลค่ามากกว่านี้ได้ จึงเกิดไอเดียในการนำงานโมเดลดินปั้นมาตกแต่งลงบนเคสโทรศัพท์ให้เกิดความสวยงามน่าสนใจ ที่สำคัญเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงานอีกด้วย
เมื่อคิดว่าจะทำชิ้นงานดินปั้นแต่ด้วยความที่ไม่มีความรู้ด้านการปั้นอย่างลึกซึ้ง ก็เลยเริ่มศึกษาเรียนรู้วิธีการปั้นดิน และนำมาฝึกหัดทดลองปั้น ลองผิดลองถูกอยู่ระยะหนึ่งก็เริ่มที่จะมีความชำนาญ โดยโมเดลที่เลือกปั้นนั้นก็จะเป็นพวกอาหารและขนม เพราะตอนนั้นมองว่ายังไม่ค่อยมีคนทำกันมากเท่าไร เลยเลือกที่จะปั้นเป็นรูปอาหารเพื่อสร้างความแตกต่างจากคนอื่น ซึ่งสินค้าที่เริ่มทำออกมาขายช่วงแรก ๆ ก็จะเป็นพวกเครื่องประดับต่าง ๆ มีทั้งตุ้มหู สร้อย กำไล สายนาฬิกา พวงกุญแจ และก็พัฒนาต่อยอดทำสินค้ารูปแบบอื่นออกมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันก็ได้ทำเป็นเคสโทรศัพท์มือถือ และที่ติดหลังโทรศัพท์ (Griptok) ออกมา ซึ่งก็เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากลูกค้าเป็นอย่างดี
“ชิ้นงานเคสมือถืออาหารดินปั้นที่สร้างสรรค์ทำออกมาเน้นให้มีความคล้ายคลึงเมนูอาหารต่าง ๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้เหมือนมากเน้นให้ดูน่ารัก มีสีสันสดใส และมีความแปลกสะดุดตา เป็นจุดเด่นที่ทำให้ลูกค้าให้ความสนใจ ที่สำคัญชิ้นงานที่ทำนั้นจะคำนึงถึงการใช้งานได้จริง ไม่หนาและดูเยอะไป จนได้แค่สวยแต่ใช้งานจริงไม่ได้ ” เจ้าของชิ้นงานบอกถึงจุดเด่นของสินค้าที่ทำให้ได้รับความนิยมจากลูกค้าเป็นอย่างดีมาตลอด
ทุนเบื้องต้น ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าอุปกรณ์และวัตถุดิบ
ทุนวัสดุ อยู่ที่ประมาณ 30% จากราคาขาย ซึ่งราคาขายเคสโทรศัพท์ดินปั้นรูปอาหารอยู่ที่ 350 บาทขึ้นไป ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า และรูปแบบความยากง่ายของเมนูอาหารต่าง ๆ ที่ปั้นตกแต่งลงบนเคสมือถือ…นอกจากนั้นยังมีชิ้นงานดินปั้นที่นำไปสร้างสรรค์เป็นสินค้าประเภทอื่น ๆ อีก อาทิ ที่ติดหลังโทรศัพท์ (Griptok), ตุ้มหู, สร้อยคอ, กำไล, พวงกุญแจ, โมเดล, นาฬิกา, รองเท้า, แม็กเน็ต เป็นต้น
วัสดุอุปกรณ์ ที่ใช้ทำ หลัก ๆ คือ…เคสโทรศัพท์มือถือ, ดินไทย, ดินญี่ปุ่น, นํ้ายาเคลือบ, กาว, สีสำหรับใช้ผสมดิน, อุปกรณ์สำหรับใช้ตกแต่ง เป็นต้น
ขั้นตอนการทำ…เคสมือถือตกแต่งดินปั้นรูปอาหาร
เริ่มจากออกแบบเมนูอาหารที่ต้องการจะทำ หลังจากได้รูปแบบเมนูอาหารที่ต้องการจะทำแล้ว ก็มาทำการเตรียมดิน โดยนำดินไทยหรือดินญี่ปุ่น มาทำการนวดและผสมสีตามที่ต้องการ อยากได้ดินเป็นสีอะไรก็ใช้สีนั้นทำการผสมลงไปในดิน แล้วทำการนวดให้สีเข้าเป็นเนื้อเดียวกับดิน เท่านี้ก็จะได้ดินที่เป็นสีตามต้องการ
หลังจากที่ผสมสีดินได้ตามที่ต้องการแล้วก็ลงมือทำการปั้นตามแบบได้ทันที หรือจะใช้วิธีนำดินไปกดลงบนพิม์ที่ทำไว้ก็ได้ เมื่อปั้นแบบอาหารตามที่ต้องการเสร็จแล้วก็ตั้งพักทิ้งไว้รอให้ดินแห้งสนิทแบบธรรมชาติ ใช้เวลาประมาณ 1-3 วัน ขึ้นอยู่กับความหนาของชิ้นงานแต่ละชิ้น พอแบบดินปั้นแห้งสนิทดีแล้วก็นำมาตกแต่งลงบนเคสโทรศัพท์มือถือ เริ่มจากการนำเคสมือถือมาเช็ดทำความสะอาดพื้นผิว เช็ดเอาฝุ่นละอองออกให้หมดก่อน และนำชิ้นงานดินปั้นมาวางเรียงตามแบบ ทำการยึดติดด้วยกาวให้แน่นหนา หลังจากตกแต่งเสร็จแล้วก็นำไปเคลือบด้วยนํ้ายาเคลือบเงาให้ทั่ว เสร็จแล้วก็พักทิ้งไว้รอให้นํ้ายาเคลือบเงาแห้ง เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำพร้อมขายได้ทันที…
“คนที่สนใจทำงานแฮนด์เมดประเภทนี้อาจจะต้องใจเย็น และมีความละเอียด เพราะเป็นงานฝีมือ เป็นงานปั้นที่เป็นชิ้นเล็ก ๆ สำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านการปั้นมาก่อนก็ไม่ใช่เรื่องยาก แค่มีใจรักพยายามศึกษาเรียนรู้ และมีความพยายามฝึกหัดทำบ่อย ๆ ก็จะเกิดความชำนาญขึ้นมาเอง ที่สำคัญจะต้องมีไอเดียความคิดสร้างสรรค์ออกแบบชิ้นงานให้มีความแปลกสะดุดตาไม่ซํ้าใครเพื่อจะได้เป็นจุดเด่ดให้โดนใจลูกค้า” เจ้าของชิ้นงานแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจอยากทำชิ้นงานแฮนด์เมดประเภทนี้
สนใจงาน “เคสมือถือรูปอาหารดินปั้น” และสินค้าประเภทอื่น ๆ ของ กัญชนก สามารถติดตามดูสินค้าได้ที่ เฟซบุ๊ก : Gokudera jewerly หรือ อินสตาแกรม : Gokudera.jw หรือทางแอพพลิเคชั่น ขายของออนไลน์อย่าง Shopee, Lazada, Lineshop ชื่อร้านว่า gokuderajw และนี่ก็นับเป็นอีกหนึ่งไอเดียในการนำวัสดุดินมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานที่ยังสามารถใช้เป็น “ช่องทางทำกิน” ขายสร้างรายได้น่าสนใจ.
บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน