จนกลายมาเป็นประเด็นร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วันนี้ “ทีมการเมืองเดลินิวส์” ถือโอกาสสนทนากับ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย และคนการเมืองมากประสบการณ์ เพื่อร่วมสะท้อนมุมมอง ปลายทางของปัญหาเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ควรจบลงอย่างไร

โดย “นิพิฏฐ์” เปิดฉากกล่าวว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยนั้น จะช่วยลดทอนความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเคยมีกรณีอย่างนี้ในการวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในระหว่างนั้นศาลก็ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน ซึ่งเทียบเคียงได้ว่าเป็นการปฏิบัติที่อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน และพอลดความขัดแย้งไปได้ระดับหนึ่ง นอกจากนั้นยังมองว่าเสถียรภาพของรัฐบาลจะได้รับผลกระทบมากขึ้น คิดว่าในทางการเมืองแล้วจะยุ่งยากขึ้น เพราะคล้ายกับว่าความชอบธรรมของนายกฯ ในทางการเมืองก็ลดลงในระดับหนึ่ง ความเชื่อถือความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งก็ลดลง เพราะฉะนั้นก็อาจจะส่งผลให้ในทางการเมืองมีปัญหาในระดับหนึ่งเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้การที่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกชัดว่า รอศาลรัฐธรรมนูญตีความ เมื่อเจ้าตัวแสดงเจตนาอย่างนี้ก็ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่หากระหว่างนั้นกระแสของประชาชนส่วนหนึ่งที่คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ครบวาระแล้วและคิดว่าไม่ควรจะรอศาลแล้ว ก็อาจจะทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจที่อาจจะลุกลามไปจนประเมินไม่ได้ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราประเมินไม่ได้เลยว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะบานปลายไปถึงระดับไหน แต่ควรจะเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นหรือไม่

“หากย้อนไปเมื่อปี 2557 ตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจ ประโยคแรกๆ ที่ท่านกล่าวคือต้องการยุติความขัดแย้ง ยุติความแตกแยกของคนในบ้านเมือง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจเพื่อยุติความขัดแย้ง ทั้งนี้ก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า 8 ปีที่ผ่านมา ที่ยึดอำนาจจนถึงวันนี้ สามารถยุติความขัดแย้งทางความคิดของคนได้ไหม หากทำไม่ได้ก็แสดงว่า 8 ปีที่ผ่านมาเสียเปล่า นอกจากนั้นแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ เองกำลังจะกลายเป็นความขัดแย้งเสียเอง ท่านกำลังสร้างความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรก็อยู่ที่ตัวท่าน”

@ ความสุ่มเสี่ยง ความน่าเชื่อถือ ต่อกระบวนการยุติธรรมที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการตีความเรื่องนี้ จะทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาหรือไม่

เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังไปต่อได้ โดยจะใช้หลักกฎหมายอะไรในการวินิจฉัย ซึ่งตนยังมองไม่เห็นหลักกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไปต่อได้เลย หรือสติปัญญาเราอาจจะไปไม่ถึง หรือมีทางออกที่เราไม่เคยเจอ ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะมีทางออกว่า นับแบบนั้นแบบนี้ได้ แต่ตนยอมรับเลยว่าสติปัญญาตนไปไม่ถึง เพราะมองเพียงว่าหากตีความกฎหมายแบบพื้นฐานจริงๆ พล.อ.ประยุทธ์ ไปต่อไม่ได้แล้ว เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัด และเจตนาจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ชัด

“การตีความกฎหมาย ต้องให้คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ด้วยเวลาที่ตีความ ซึ่งมีคำกล่าวในทางรัฐศาสตร์ว่า ความยุติธรรมหรือกระบวนการยุติธรรม เป็นเสาค้ำยันระบอบประชาธิปไตย หากเราเอาไม้ค้ำยันเรื่องความยุติธรรม ออกเมื่อไหร่ ประชาธิปไตยก็ล้ม ดังนั้นก็ต้องดูว่าการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นการค้ำยันให้ประชาธิปไตยเดินไปได้ หรือท่านกำลังถอนไม้ค้ำยันออกจากระบอบประชาธิปไตย”

ทั้งนี้ถ้าคนไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม คนก็จะแสวงหาอำนาจใหม่มาทดแทนความยุติธรรม อาจจะแสวงหาอำนาจนิยม แสวงหาระบบอุปถัมภ์มาแทน ถ้ากระบวนการยุติธรรมอ่อนแอเมื่อไหร่ ระบบอุปถัมภ์ หรือระบบอำนาจนิยมจะโตขึ้นเป็นแนวตรงกันข้าม ดังนั้นคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมต้องมีหลักที่ดี ในเรื่องการตีความกฎหมายเราจะตีความ เพื่อปกป้องคนใดคนหนึ่ง แล้วทำลายระบบ ทำลายหลักการ มันไปไม่ได้จริงๆ แล้วประเทศก็จะพังจริงๆ

@ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ครบวาระ รัฐบาลจะยังเดินต่อได้หรือไม่ จะมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพหรือไม่

ต่อให้คนชื่อประยุทธ์อีกกี่คนล้มหายตายจากไป ประเทศก็เดินต่อไปได้ ความคิดของประชาชนที่นิยมชมชอบอัศวินขี่ม้าขาวนั้นต้องสลัดออกไป อย่ายึดติดที่ตัวบุคคล แต่ให้มันเปลี่ยนแปลงไปตามระบบ เหมือนในปี 2531 เราคิดว่าถ้า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่อยู่แล้วบ้านเมืองจะไปไม่ได้ แต่มันก็ไปได้ และในครั้งนี้ก็ไปได้เช่นเดียวกัน ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่อยู่บ้านเมืองก็ไปต่อได้ แต่ขอให้เปลี่ยนไปตามระบบ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่อยู่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ก็รักษาการต่อไปได้อีกหลายเดือน จนเกือบจะครบวาระของสภาที่เหลืออีกไม่กี่เดือน ดังนั้นยืนยันว่าประเทศยังเดินไปได้แต่ต้องเปลี่ยนไปตามระบบ

“จะไปรังเกียจ พล.อ.ประวิตรทำไม ก็มีชื่อเป็นเบอร์สองรองจาก พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องให้ท่านอยู่ต่อ เพราะเรามีระบบอยู่อย่างนี้ มีตัวบุคคลในระบบอยู่แบบนี้ ก็ต้องยอมรับ หาก พล.อ.ประวิตร จะรักษาการก็รักษาการไป ในเมื่อเป็นช่องทางตามรัฐธรรมนูญ หรือหากอยากจะเลือกคนใหม่ก็เลือกได้ไม่มีปัญหาอะไร หรือจะเลือกคนนอกมาเป็นนายกฯ ก็ยังได้ แต่ต้องให้ระบบมันเดินไปอย่างที่ควรจะเป็นเท่านั้นเอง”

อย่างไรก็ตาม เราอย่ายึดตัวบุคคลเป็นหลัก เมื่อไหร่ก็ตามที่เรายึดตัวบุคคลที่เรารักมากเกินกว่าเหตุผล เราชอบอัศวินขี่ม้าขาว เราคิดว่าคนนี้คนเดียวเท่านั้น ถ้าไม่ใช่คนนี้แล้วประเทศจะเดินไม่ได้ หากคิดแบบนี้จะวุ่นวาย ดังนั้นให้รักษาระบบไว้ เพราะระบบมีช่องทางที่จะแก้ปัญหาได้ทุกเรื่องอยู่แล้ว แต่เราอย่าไปออกนอกแนวการแก้ปัญหาด้วยระบบที่รัฐธรรมนูญวางไว้ แล้วอย่าใช้วิธีการอื่นในการมาแก้ปัญหา นอกวิถีทางประชาธิปไตย ดังนั้นต้องรักษาระบบไว้ประเทศจึงจะเดินไปได้

@ มีความกังวลว่า ปัญหานี้จะบานปลายจนกระทบกับไทม์ไลน์การเลือกตั้ง หรืออาจทำให้ไม่มีการเลือกตั้งหรือไม่

เป็นเรื่องที่ห่างไกลมาก เกือบเป็นไปไม่ได้เลย สมมุติว่า พล.อ.ประยุทธ์ หมดวาระ 8 ปี แล้ว พล.อ.ประวิตร มารักษาการต่อ แล้วนำรัฐบาลต่อไปได้อีก 3-4 เดือน ถึงตอนนั้นหากรัฐบาลไปต่อไม่ได้แล้วก็ยุบสภา ก็จะเหลือเวลาตามวาระอีกประมาณ 3 เดือน ซึ่งก็ยุบสภาได้ เพราะรัฐบาลก็คงไม่อยู่ครบวาระในวันที่ 24 มี.ค. 2566 แน่นอน เพราะการปล่อยสภาอยู่จนครบวาระจะทำให้ ส.ส.ย้ายพรรคไม่ทันตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่สภานี้จะเดินไปจนครบวาระโดยไม่มีการยุบสภา

ทั้งนี้เราก็เห็นอยู่แล้วว่ามีช่องทางอย่างนี้ ไม่มีเงื่อนไขที่จะทำให้ไม่มีการเลือกตั้ง เว้นแต่จะมีการยึดอำนาจแล้วฉีกรัฐธรรมนูญอีกครั้ง แต่มันไม่มีวี่แววจะเดินไปในทางนั้นได้เลย แล้วทุกคนก็พร้อมเข้าสู่กระบวนการการเลือกตั้งอยู่แล้ว จะไปทำเรื่องวุ่นวายแบบนั้นอีกทำไม ตนจึงมองว่าเป็นไปไม่ได้.