การประณามอย่างกว้างขวางต่อมาตรการตอบโต้ของรัฐบาลปักกิ่ง ต่อการเยือนของเปโลซี ทั้งจากสหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) ประกอบกับการเรียกร้องจากเกาหลีใต้และสหภาพยุโรป (อียู) ให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจนั้น ในทางทฤษฎีอาจเป็นการกระตุ้นสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ให้ส่งเสริมความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับไต้หวัน ผ่าน “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” (เอ็นเอสพี) ของรัฐบาลไทเป

อาเซียนจำเป็นต้องมีความมุ่งมั่นที่เข้มแข็ง แม้จุดยืนอย่างเป็นทางการของอาเซียนจะสะท้อนถึงความปรารถนาของกลุ่มที่จะรักษาท่าทีที่สมดุล ท่ามกลางความตึงเครียดที่เดือดระอุระหว่างรัฐบาลวอชิงตันและรัฐบาลปักกิ่ง รวมถึงพยายามรักษาสถานะและความเป็นศูนย์กลาง ด้วยการรับบทบาทของการอำนวยความสะดวก แต่ความสามารถของอาเซียนในการรักษาความสมดุลนี้ ยังคงเป็นสิ่งที่ถูกทดสอบต่อไป

ความตึงเครียดในภูมิภาคที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นสามารถเห็นได้จากกิจกรรมทางทหารของจีน ที่ซ้อมรบใกล้กับไต้หวันเพื่อตอบโต้การมาเยือนของเปโลซี โดยความวุ่นวายนี้ไม่เพียงเพิ่มความตึงเครียดในความสัมพันธ์สหรัฐ-จีน ให้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังลดความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาคในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงทะเลจีนใต้ด้วย

แม้หลายประเทศในอาเซียนที่เปราะบางต่ออำนาจของรัฐบาลปักกิ่ง และมีข้อพิพาททางทะเลกับเพื่อนบ้านชาติมหาอำนาจ ควรเรียนรู้บทเรียนจากสถานการณ์ของไต้หวัน แต่การแบ่งขั้วระหว่างไต้หวันกับจีนอย่างต่อเนื่องนั้น อาจทำให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลือกที่จะตีตัวออกห่างจากไต้หวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการตอบโต้ทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากจีน

นอกจากนี้ สิ่งที่จะบอกได้ว่าประเทศในอาเซียนจะยังคงตอบสนองต่อจีนที่ก้าวร้าวมากขึ้นได้อย่างไร คือการตอบสนองต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา โดยเหตุการณ์ล่าสุดคือการที่รัฐบาลทหารได้ประหารนักเคลื่อนไหวฝ่ายตรงข้าม 4 คน ซึ่งอาเซียนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กรณีไม่ประณามรัฐบาลทหารในเรื่องนี้

ทั้งนี้ การเผชิญหน้ากับความท้าทายสำคัญ 3 อย่างพร้อมกัน นั่นคือ การแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีน, ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ และวิกฤติด้านมนุษยธรรมในเมียนมา เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลสำหรับภูมิภาคที่กำลังเหนื่อยล้าจากปัญหาโควิด-19 อย่างไม่ต้องสงสัย

ทว่าด้วยปณิธานของอาเซียนที่จะส่งเสริมความเป็นศูนย์กลาง และรักษาความเป็นกลางในเวลาเดียวกัน ท่ามกลางการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ ดูเหมือนว่าจะไม่มีทางใดที่จะข้ามผ่านการทดสอบเหล่านี้ได้ดีไปกว่า การเสริมสร้างเอกภาพภายในและความสมัครสมานสามัคคี โดยมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาด, การเสริมสร้างความสามัคคี เพื่อต้านทานความท้าทายจากภายนอก และการขยายและกระชับความสัมพันธ์ของอาเซียนกับพันธมิตรภายนอก เมื่อพิจารณาทุกอย่างแล้ว มันมีทั้งโอกาสและความท้าทายมากมาย ที่กำลังปรากฏขึ้นในสายตาของอาเซียน.

เลนซ์ซูม