วาระทางสังคมที่น่าเบื่อที่สุด คือมีแต่คนคิดว่ารู้ออกมาพูด คือเรื่อง “การดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ว่ากันว่า “มีเจตนาปฏิรูปการเมืองเพื่อไม่ให้มีการนั่งอยู่ในอำนาจยาว หรือสืบทอดอำนาจ” แบบว่า น่าจะอารมณ์ “กลัวผีทักษิณ” ถ้าอดีตนายกฯ รายนี้กลับมาได้ หรือเป็นวงศ์วานว่านเครือ นอมินีของนายทักษิณ เกรงว่าจะมาเป็นนายกฯ ยาว เลยให้อยู่ได้ 8 ปี ไม่ว่าจะต่อเนื่องหรือไม่ก็ตาม

ไปๆ มาๆ กลายเป็นหอกกลับมาทิ่มบิ๊กตู่ซะเอง เพราะสังคมก็ตั้งคำถามว่า “ถ้าคิดแบบนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องหมดวาระ 23 ส.ค.นี้แล้ว เพราะเป็นนายกฯ ตั้งแต่ปี 57” ก็มี “การตีความกฎหมายที่เห็นต่าง” (นี่ใช้คำแบบสุภาพ) ว่า ถ้าจะเอาเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ก็ต้องดูมาตราเดียวกันในวรรคสองด้วย ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนี้ ว่า ต้องเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกโดยสภาผู้แทนราษฎร .. ที่ถามว่า ก่อนปี 57 บิ๊กตู่เป็นตัวอะไร ..เขาก็บอกว่า นั่นคือนายกฯ ตามอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ไม่เกี่ยวข้องกันนะจ๊ะ

นายกฯ โต้ไม่ใช้สปายแวร์ให้เปลืองงบ ย้ำการจัดซื้ออาวุธเป็นไปตามขั้นตอน :  อินโฟเควสท์

สรุป ก็ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีเสียงครหาอยู่บ่อยๆ ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมักจะตีความให้เป็นคุณกับรัฐบาล ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่จะคิด ไอ้ที่เขาตีความไม่เป็นคุณก็มี อย่างกรณีคุณสมบัติของ นายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งมีอัยการอธิบายว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีช่วงวินิจฉัยว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ประมาณ 7 วัน แต่คำว่า รับวินิจฉัยนี่ก็ไม่ได้หมายถึงว่า จะมีคำสั่งออกมาว่าบิ๊กตู่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้มีนายกฯ รักษาการแทน ซึ่งตามลำดับรองนายกฯ คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ คสช. ส่วน ครม.นั้นก็เป็น ครม.อำนาจเต็ม

หากศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณา ระหว่างนั้นก็ยังมีรัฐบาล เพราะฉะนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ จึงออกมาเตือนข้าราชการทำนองว่า “อย่าเกียร์ว่าง” อ้างกลัวโน่นกลัวนี่ไม่ทำอะไร แบบว่าหากศาลวินิจฉัยไม่เป็นคุณกับบิ๊กตู่ กลัวว่า อนุมัติตัดสินใจอะไรไปจะโดนเช็กบิลย้อนหลังหรือไม่ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมันไม่มีผลย้อนหลังกับสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่นกรณีนายสิระ ที่พ้นจากตำแหน่งไป มติอะไรที่นายสิระเคยลงไว้สมัยเป็น ส.ส.หรือกรรมาธิการ ก็ยังมีผล ไม่ได้ต้องไปรื้อใหม่หมด   

เมื่อไม่กี่วันก่อน เห็นนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว.พูดเรื่องนี้ไว้ ทำนองว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าไม่ขาดคุณสมบัติ เพราะนับความเป็นนายกฯ ตั้งแต่ปี 2562 นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะครบวาระในปี 2566 แล้ว และประชาชนทั่วประเทศจะเป็นคนตัดสินว่าจะได้อยู่ต่อจนครบปี 2570 หรือไม่ ก็คือพูดง่ายๆ ว่า …รอตัดสินกับการเลือกตั้งปีหน้า.. หรือที่ว่ากันว่ามีลุ้น คือจะมีการยุบสภา แต่ต้องหลังเอเปคเสร็จก่อน ซึ่งถ้ายุบสภา ส.ส.จะลาออกเพื่อสังกัดพรรคใหม่ได้ 30 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง ถ้าเห็นการย้ายค่ายแบบผิดสังเกต ก็น่าจับตามองว่าจะยุบสภาหรือไม่

แต่ถามว่า คำว่า “ประชาชนทั่วประเทศจะตัดสินเองว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อหรือไม่” นี่มันก็ต้องมาลุ้นกันอีก เพราะกลไกรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้กำหนดว่า พรรคเสียงข้างมาก และ ส.ส.บัญชีรายชื่อเบอร์ 1 ของพรรคนั้นจะเป็นนายกฯ โดยอัตโนมัติแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่มันเข้าใจง่าย แต่มันเล่นแง่เล่นกลกันได้เยอะ คือไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคเสียงข้างมากอันดับหนึ่งที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เป็นพรรคที่รวมเสียง ส.ส. (บวก ส.ว. ในช่วงระยะเวลาใช้บทเฉพาะกาล 5 ปี) ให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภา คือ 376 เสียง เลือกนายกฯ

ถ้าพูดกันสุดโต่งไปเลยคือ พรรคไหนได้ ส.ส. 25 คน (ร้อยละ 5 ของจำนวน ส.ส.ทั้งสภา) แล้วบังเอิญแคนดิเดตนายกฯ เจ๋ง เป็นที่รักของพรรคอื่น หรือถึงกระทั่งว่า ต้องเลือกคนนี้เพราะพรรคใหญ่คุมได้ หรือต้องเลือกคนนี้เพื่อสกัดใคร เราก็มีโอกาสที่มีนายกฯ มาจากพรรคขนาดกลางถึงเล็กก็ยังได้ แล้วแต่มันเล่นการเมือง หรือมันวิ่งล็อบบี้กันหลังการเลือกตั้ง หรือกระทั่งว่าไม่ถูกใจใคร ก็ยังมีกลไกมาตรา 272 ให้เสนอชื่อนายกฯ นอกบัญชีพรรคการเมืองได้

คือการเขียนกติกาแบบนี้ มันถูกมองได้ว่า “เขียนไว้รอเบิกทางให้บิ๊กตู่เป็นนายกฯ อีกสมัย” เพราะ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลที่เลือกนายกฯ ได้ มีวาระแค่ 5 ปี แต่เท่ากับโหวตนายกฯ ได้ 2 สมัย ตอนนี้ก็มีสองพรรคแบะท่าจะเสนอบิ๊กตู่กันอยู่คือพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับรวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ก็ไปคุยกันดีๆ ก่อนว่าพรรคไหนจะเสนอชื่อ ..แต่ต้องมีพรรคใดพรรคหนึ่งที่ “เสนอคนอื่นไปงั้นแหละ” แล้วค่อยไปช่วยเติมตอน “เขาวิ่งรวมเสียง” เอา

เพราะจะแย่งเก้าอี้นายกฯ กัน ไม่ได้โดยอัตโนมัติเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 เราจึงอาจได้รับทราบข่าวสารเกี่ยวกับการเกี้ยเซี้ย การสมยอม ต่อรองอะไรมากมาย เพื่อให้ขั้วของตัวเองได้ตั้งรัฐบาล อาจถึงขั้นมี “พี่ฆ่าน้อง” ก็ได้เมื่อถึงเวลานั้น  แล้วแบบนี้มันจะเรียกว่าเป็นการปฏิรูปการเมืองได้อย่างไร เมื่อสามัญสำนึกง่ายๆ แค่ฉันทามติของประชาชนที่เลือกพรรคไหนมามากที่สุด พรรคนั้นก็ควรได้ตั้งรัฐบาลและปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ได้เป็นนายกฯ ก็ยังมีกระบวนการบิดเบือนได้

ว่ากันที่เรื่องหัวข้อบทความ ทำไมใครๆ ก็ไม่รักบิ๊กตู่ ก็เพราะสาเหตุหนึ่งที่บอกว่าจะเข้ามาปฏิรูป ..เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน… แต่ดูสิ่งที่ทำเข้ามันเรียกว่าการปฏิรูปหรือไม่  เอาตั้งแต่กลไกของอำนาจมันบิดเบี้ยว ผิดเพี้ยนไปหมด การเมืองสกปรกกว่าเดิมอีก ..ถ้าที่เขาลือๆ กันเป็นจริง เผลอๆ “หอกข้างแคร่”ก็อยู่ไม่ไกลบิ๊กตู่นั่นแหละ  คือพอเห็นว่าเข็นกันไปไม่รอดก็สละเรือแป๊ะ แล้วพาพวกไปลงเรือลำอื่น ..อันนี้ก็รอวันโหวตเลือกนายกฯ จะเห็นอะไรได้เยอะ แต่ “คีย์แมน” จริงๆ เขาไม่ออกหน้าชัดหรอก ต้องตามข่าวการเมืองเรื่อยๆ ว่า “คนนี้นอมินีใคร”

เรื่ององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตัดสินอะไรต่างๆ ก็ถูกมองว่า “คสช.อยู่เบื้องหลังการแต่งตั้ง” แนวๆ คนที่ไม่ชอบก็ไม่เลือกให้เป็น ค่าความเชื่อมั่นต่อองค์กรอิสระก็ลดลง อย่าง กกต.นี่ช่วงเลือกตั้งรับเละตั้งแต่การแบ่งเขต ว่าเอื้อใครหรือเปล่า ป.ป.ช.ก็รับเละตอน “นาฬิกาเพื่อน”

บิ๊กตู่ชอบบ่นทำงานเหนื่อยบ่อยๆ แต่ดูท่าทางอารมณ์เหมือนจะนั่งรากงอกคาเก้าอี้ ซึ่งไม่รู้นั่งทับอะไรไว้หรือไม่ เคยคุยๆ กับคนรู้จักเขาเชื่อว่า “บิ๊กตู่นั่งเป็นจระเข้ขวางคลองเรื่องไม่ให้ปฏิรูปทหาร” โดยเขามองด้วยสายตาแบบบ้านๆ จากข่าวที่ออกมาว่า ยุค คสช.นี่ทหารดูจะชอบจัดซื้อจัดจ้างอาวุธเหลือเกิน (แต่พอมายุคสภาจากการเลือกตั้ง ก็โดนตัดงบประมาณไปมากอยู่ งบปี 66 ก็โดนหั่นไปเยอะ) งบปี 66 ก็ไปเช่าเบนซ์หรูให้ทหารระดับสูง บอกว่าเป็น “รถควบคุมการสั่งการ” ซึ่งไม่รู้แปลว่ากระไร และสั่งการทำไมต้องไปนั่งสั่งในเบนซ์ เป็นทหารที่บอกอุทิศเพื่อประเทศชาติ ทำไมสั่งงานแบบอยู่กลางดินกินกลางทราย ใช้สมองและเครื่องมือสื่อสารสั่งไม่ได้?

และไม่เห็นมีการปฏิรูปกองทัพให้มีความโปร่งใส แม้ว่า ป.ป.ช.จะออกตัวชี้วัดว่าโปร่งใสแค่ไหนก็ตาม แต่หลายๆ คนก็ไม่เชื่อ เอาเรื่องเวลาเกิดเหตุซ่อมทหารชั้นผู้น้อย ซ้อมทรมาน ก็ทำหน้าบางให้เงียบๆ อยู่ในค่าย, เรื่องอัตรานายพลที่มันเฟ้อจนกระทั่งไม่มีอะไรทำ ต้องตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ การหาเรื่องเอาทหารเกณฑ์ไปรับใช้ เอาเรื่องพื้นๆ ที่คนเห็นกันบ่อย ก็ไม่เห็นมีการเปลี่ยนแปลงอะไร กองทัพเทอะทะด้วยกำลังคน เรื่องการตั้งงบซื้ออาวุธก็ชี้แจงความจำเป็นจนคนเข้าใจไม่ได้ ..แถมการแต่งตั้งตั้งแต่ สนช. มาจนถึง ส.ว. กลายเป็นว่า คสช. จะตู่จะป้อมก็ไม่รู้แหละ เอาแต่พวกทหารแก่เข้าไป ก็พวกๆ กันทั้งนั้น เชคสายสัมพันธ์ดูก็พวก 3 ป.

กองทัพบก' ยกเครื่อง 636 คลังแสงป้องกันกระสุน-ระเบิดรั่วไหล! | เดลินิวส์ |  LINE TODAY

ข่าวว่าสำนักนายกรัฐมนตรีใช้งบประชาสัมพันธ์ไปเยอะ ก็เห็นออกมาแก้ต่างว่า “สงสัยเขาประเมินจากเนื้อหาที่ออกสื่อ” เสธ.ไก่อู พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ บอกว่า บางเรื่องมันฟรี เช่น การแถลงอะไรๆ ของ ศบค. บริษัทจัดเรตติ้งคือนีลเซ่น อาจไปประเมินว่าเป็นค่าโฆษณา ถ้าจะบอกว่าใช้โฆษณาเรื่องเอเปค ก็ยังใช้ไม่มาก เพราะเพิ่งลงนามเรื่องการทำประชาสัมพันธ์ไปเมื่อวันที่ 22 ส.ค.

แล้วทำไมประชาสัมพันธ์ไม่สำเร็จ? ภาพลักษณ์ของนายกฯ ไม่ดีขึ้น  เอาจริงคือมีความพยายามจะส่งข่าวแจกมามากมาย สมัยนายธนกร วังบุญคงชนะ เป็นโฆษกรัฐบาล ก็มีข่าวแจกเกี่ยวกับท่าทีของนายกฯ ต่อเรื่องต่างๆ มาเรื่อยๆ หรือถ้าเป็นข่าวบิ๊กป้อม เวลาประชุมอะไรก็จะมีคนทำเป็นข่าวแจก (press release) ออกมา ว่า บิ๊กป้อมพูดอะไรในที่ประชุมบ้าง ขณะที่เวลานักข่าวสัมภาษณ์ตอบแต่ไม่รู้ๆ ส่วนคนกลางตระกูล 3 ป.นั้นสื่อสัมภาษณ์ไม่ค่อยได้อะไร

มันเป็นเรื่องของเสน่ห์และบุคลิกส่วนหนึ่ง เราก็เห็นบุคลิกของ พล.อ.ประยุทธ์ในหลายครั้งแล้ว ที่อารมณ์ปรี๊ดๆ บ่อย บางทีก็ดูไม่มีมาดผู้นำ นักข่าวก็ชอบแหย่เล่น  มันยิ่งทำให้ลดความน่าเชื่อถือด้านภาพลักษณ์  

ชาวเน็ตต่างชาติคิดอย่างไร หลังชมคลิป 'ประยุทธ์' พ่นแอลกอฮอล์ใส่นักข่าว

การพูดของบิ๊กตู่ ติดเรื่องชอบสั่ง ชอบบอกให้เชื่อ ชอบทวงบุญคุณประเภท..ถ้าผมไม่เข้ามาจะเกิดอะไรขึ้น … ซึ่งไม่ใช่การสื่อสารเชิงโน้มน้าวใจ คนดูคนฟังก็เห็นเหมือนอีลุงมาบ่นๆ ไม่มีอะไรน่าสนใจหรือสร้างแรงบันดาลใจได้เลย …มีบางคนให้เหตุผลว่า “อย่างไรบิ๊กตู่ก็รักสถาบัน” อันนี้ก็ไม่ทราบว่าจะยกสถาบันมาทำไม ความรักสถาบันไม่ใช่ตัวชี้วัดของการทำงานได้ดี เห็นมีบางโพลเอาเรื่องความจงรักภักดีมาเป็นตัวชี้วัด ทำนองว่า “ประชาชนมองว่าคนที่น่าจะเป็นว่าที่นายกฯ คนนี้จงรักภักดีหรือเปล่า” คือไม่ทราบจะสำรวจให้ได้อะไรขึ้นมา? มีแต่จะดึงสถาบันฯ ให้ลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ..ถ้าจะให้สถาบันอยู่เหนือการเมือง  เขาไม่ทำกันที่จะเอาสถาบันฯ มาแฝงอ้างเป็นหลักพิงตัวเองตอนเพลี่ยงพล้ำ

ไม่ปฏิรูปสิ่งที่คนอยากให้ปฏิรูป การเมืองเละเทะกว่าเดิม บุคลิกไม่น่าเอาเป็นแบบอย่าง นี่น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้หลายๆ คนไม่รักบิ๊กตู่. 

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”