ซึ่งนี่เป็นผลสำรวจ-วิจัยที่เปิดเผยไว้โดยนักวิชาการของนิตยสาร Lancet ที่เคยเป็นกระแสฮือฮาเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว โดยสำหรับไทยนี่ก็เป็นกรณีที่นักประชากรศาสตร์เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับ “ผลกระทบ” ในอนาคตจากการที่ “ประเทศไทยมีประชากรลดลง” ขณะที่หนึ่งในแนวคิดเพื่อแก้ปัญหานี้ก็มีเรื่องของการ “นำเข้าประชากร” เพื่อทดแทน เหมือนกับที่บางประเทศได้มีการนำแนวคิดนี้มาใช้…

“นำเข้าประชากร” ไทยก็อาจต้องทำ?

แต่ “ถ้าทำก็มีข้อกังวลสิ่งที่อาจตามมา”

จึงมีการพิจารณากันถึง “แผนรองรับ”…

ทั้งนี้ กับเรื่องเหลือเชื่อแต่ก็อาจเกิดขึ้นได้อย่างเรื่อง “นำเข้าประชากร” นี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลมาสะท้อนต่อ โดยเรื่องนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สะท้อนไว้ผ่านเวที Prachakorn Forum หัวข้อ “ความมั่นคงทางประชากรและสังคม : นโยบายการทดแทนประชากรในศตวรรษที่ 21” และเผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์ประชากร.คอม หลักใหญ่ใจความมีว่า… หากอัตราการเกิดยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องก็อาจเป็นไปได้ว่า…ในอนาคตไทยจำเป็นต้องนำเข้าประชากรปีละ 200,000 คน

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ในอนาคตไทยอาจมีความจำเป็นต้อง “นำเข้าประชากรเพื่อแก้ปัญหาจากการที่ประชากรลดลง” นั้น ก่อนจะไปถึงเวลานั้น “ประเทศไทยจำเป็นต้องมีแผนรองรับ” เสียก่อน เพื่อที่จะไม่ทำให้ “โอกาสกลายเป็นวิกฤติ” ซึ่งแผนรองรับจะต้องมีแนวทางเช่นไรนั้น ประเด็นนี้ทางที่ปรึกษาอาวุโสสถาบันวิจัยประชากรฯ ก็มีการเสนอแนะไว้

ทางศาสตราจารย์เกียรติคุณ อภิชาติ ระบุไว้ว่า… หลังจากมีการเปิดเผยการคาดประมาณประชากรโลก จากปัจจุบันจนสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 ที่พบว่า… ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จะพบปัญหาจากเรื่อง “ประชากรลดลง” ในระดับที่ “น่ากังวล” เช่นเดียวกับญี่ปุ่นและสเปน กับเรื่องนี้ อาจกระทบจนทำให้ “ขาดความมั่นคงทางด้านประชากร” จนได้มีการเสนอให้นำแนวคิด “นำเข้าประชากรมาทดแทน” อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่า…ถึงแม้แนวคิดนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาได้ แต่ก็ อาจจะมี “วิกฤติใหม่ ๆ” เกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะ “วิกฤติขัดแย้งระหว่างเจ้าของพื้นที่เดิมกับผู้ย้ายถิ่นมาใหม่” และ…

วิกฤตินี้อาจลามเป็นความขัดแย้งอื่น ๆ

กับ “ความน่ากังวล” ในเรื่องนี้ นักวิชาการอาวุโสท่านเดิมชี้ไว้ว่า… แม้การนำเข้าประชากรอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าของพื้นที่และผู้ย้ายถิ่นเข้ามาใหม่ แต่ก็สามารถ “ชะลอ-ไม่ทำให้วิกฤติรุนแรง” ได้ ด้วยการ “วางแผนชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น” อาทิ การตั้งเป้าหมายจำนวนประชากรที่จะนำเข้ารายปี การดูจังหวะเวลา การจัดทำนโยบายสาธารณะ การสร้างการมีส่วนร่วมในการคัดเลือกประชากรที่จะนำเข้า โดย “วางแผนจัดการให้ดีทั้งทางสังคมและภูมิศาสตร์” รวมไปถึงจะต้องมีการ “สื่อสารต่อสังคมให้ชัดเจน” ถึงเหตุผลที่ประเทศไทยต้องนำเข้าประชากรเข้ามาทดแทนด้วย

“ที่สำคัญคือวัตถุประสงค์การนำเข้านั้นต้องเป็นไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ หรือเพื่อแก้ปัญหาความยากจน จะต้องไม่ใช่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว และต้องมีเป้าหมายใหญ่คือการสร้างความสุขของคนในชาติโดยรวม กับส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมืองและชนบทไปพร้อมกัน เพื่อให้คนยอมรับเรื่องนี้” …เป็นการระบุถึง “จุดที่สำคัญ” ของเรื่องนี้

นอกจากนั้น ทางที่ปรึกษาอาวุโสสถาบันวิจัยประชากรฯ ยังระบุไว้อีกว่า… เป้าหมายเชิงปริมาณการนำเข้าประชากรนั้น สามารถตั้งเป้าได้ปีละ 200,000 คน โดยจำนวนนี้เป็นการคำนวณคร่าว ๆ ซึ่งถ้าเป็นจำนวนตัวอย่างนี้ ภายใน 80 ปี ไทยได้ประชากรเพิ่มเข้ามา 16 ล้านคน จะเท่ากับทดแทนได้ 50% ของประชากรที่หายไป ซึ่งการทดแทนไม่จำเป็นต้องทดแทนทั้งหมด 100% เพราะสามารถใช้นโยบายอื่น ๆ ร่วมด้วยได้ เช่น การรณรงค์ต่อเนื่องด้านส่งเสริมการเกิด, สร้างสังคม active ageing, พัฒนาแรงงานอย่างจริงจัง, เลื่อนอายุเกษียณ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อมาทดแทนแรงงาน เป็นต้น

ขณะที่ “หน่วยงานที่ควรรับผิดชอบ” กรณี “นำเข้าประชากร“ ถ้าต้องนำเข้าประชากรปีละ 200,000 คนในอนาคต ทางนักวิชาการท่านเดิมเสนอไว้ว่า… ควรมีการแบ่งความรับผิดชอบและกำหนดจำนวนให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา อาทิ รัฐบาล-คณะรัฐมนตรี รับผิดชอบ 20,000 ราย เพื่อป้อนให้โครงการพัฒนาระดับชาติ, สภาผู้แทนราษฎร รับผิดชอบ 20,000 ราย เพื่อนำเข้าประชากรคุณภาพให้กับการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม จิตวิญญาณ สุขภาวะ และการเชื่อมโยงในพื้นที่ ขณะที่อีก 160,000 ราย เพื่อเชื่อมโยงกับ SME ในพื้นที่ ก็ควรเป็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ อภิชาติ ระบุไว้ด้วยว่า… เรื่องนี้เผิน ๆ เหมือนเป็นปัญหาระยะยาว แต่ถ้าเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ตอนนี้จะทำให้ไทยได้เปรียบ และมีเวลาพอที่จะปรับกระบวนการให้ถูกต้อง ซึ่ง ถ้ารอเวลาและไปรีบเร่งตามกระแสภายหลัง อาจเกิดปัญหามากมายและอาจแก้ได้ไม่ทัน …ที่ปรึกษาอาวุโสสถาบันวิจัยประชากรฯ ชี้ไว้

ไม่น่าเชื่อ…“ไทยอาจนำเข้าประชากร?”

ดูเหลือเชื่อ…แต่ “ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้”

“ในยุคสังคมสูงวัย-ในยุคคนเกิดน้อย”.