ผ่านมาแล้ว 6 เดือน นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐทั่วยุโรปต่างกังวลว่าข้อตกลงร่วมอาจพังทลายลง เมื่อทวีปกำลังเข้าสู่ฤดูหนาวอันเยือกเย็นของราคาอาหารที่พุ่งสูง, พลังงานให้ความอบอุ่นแก่บ้านเรือนที่มีอยู่อย่างจำกัด และความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นจริงของภาวะถดถอย


ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ซึ่งจับทางความคิดของบรรดาชาติตะวันตก จนสามารถจุดประกาย ตลอดจนกระตุ้นให้นานาประเทศสนับสนุนเขา ในการทำสงครามกับรัสเซีย อาจพบว่าการได้รับความสนใจจากพันธมิตรผู้นำยุโรป กำลังกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้น เมื่อความขัดแย้งยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้ยูเครนเผชิญความท้าทายในด้านต่าง ๆ รวมถึงการผูกชาติตะวันตกติดกับคำมั่นสัญญาในระยะยาว


วิกฤติเชื้อเพลิงในฤดูหนาวเป็นสิ่งที่ทางการและนักการทูตยุโรปหลายคนต่างครุ่นคิดทุกวัน เนื่องจากยุโรปนำเข้าก๊าซจากรัสเซียเป็นสัดส่วน ประมาณ 55% เมื่อปี 2564 และแทบทุกประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ ยังไม่สามารถตัดขาดจากการนำเข้าน้ำมันของรัสเซียได้อย่างถาวร


“ภายในสหภาพยุโรป (อียู) มันเป็นเรื่องที่ยากมาก และเราต้องพยายามยึดมั่นในสัญญาที่จะตัดขาดรัสเซีย เมื่อพูดถึงผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้จากก๊าซและแหล่งพลังงานอื่น ๆ” นักการทูตอาวุโสของยุโรปคนหนึ่งกล่าว


อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์เพราะขึ้นอยู่กับความสมัครใจ และเจ้าหน้าที่หลายคนเกรงว่าเมื่อการกดดันเข้ามาแทนที่ บางประเทศของอียูก็จะไม่เห็นพ้องด้วย โดยเฉพาะภูมิภาคยุโรปตะวันตกที่ปลอดภัยจากสงครามด้วยระยะห่างที่ไกล และไม่สามารถเชื่อตามได้ว่าการพึ่งพาพลังงานของรัสเซีย จะเป็นช่องโหว่ที่สร้างความเสียหายต่อตัวเอง แม้กระทั่งในตอนนี้ พวกเขาต่างหวังที่จะกลับสู่ “ภาวะปกติ” กับรัสเซียอีกครั้ง


นอกจากนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่ยังกลัวว่า กลยุทธ์ของชาติตะวันตกในการส่งอาวุธให้กับยูเครนจะกลายเป็นวิธีแก้ปัญหาระยะสั้นต่อปัญหาระยะยาว นั่นคือ สงครามที่ไม่มีจุดสิ้นสุดที่ชัดเจน

นอกจากค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจและทางทหาร ที่ส่งผลกระทบต่อความเอื้ออาทรของชาติตะวันตกแล้ว มันยังมีความกังวลอย่างมากว่า โลกเริ่มที่จะประสบกับความเหนื่อยล้าจากสงครามเมื่อความขัดแย้งซบเซาลง แน่นอนว่ามันจะไม่ใช่เรื่องที่ตรงไปตรงมาอย่างการที่ประเทศต่าง ๆ จะถอนการสนับสนุนยูเครน

แต่มันอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนข้อจำกัดของสิ่งที่พวกเขาสนับสนุน รวมถึงการเป็นตัวกลางสำหรับข้อตกลงสันติภาพแทน

ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะเป็นช่วงยากลำบากที่สุดสำหรับยุโรปนับตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้น ประชาชนทั่วทั้งทวีปจะรู้สึกถึงแรงเสียดทานจากวิกฤติค่าครองชีพ จนอาจถึงขั้นต้องเลือกระหว่างการทำให้บ้านอบอุ่น กับการรับประทานอาหาร ซึ่งวิกฤติครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อหลายประเทศในยุโรปรับบทเป็นเจ้าบ้านให้กับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนมาแล้ว

มันจึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้นำทางการเมือง ที่จะให้เหตุผลกับการใช้เงินและพลังงานเพื่อช่วยเหลือประเทศที่อยู่ห่างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพลเมืองบางคนอาจรู้สึกว่า พวกเขามีน้ำใจมามากพอแล้ว


“มันมีความกังวลเพิ่มขึ้นในบางภาคส่วนว่า หากยูเครนมีแนวโน้มที่จะสูญเสียพื้นที่ให้กับรัสเซีย สิ่งนี้อาจเป็นตัวเร่งการเรียกร้องการเจรจาเพื่อยุติสงคราม ขณะที่เซเลนสกีจะต้องดำเนินการประชาสัมพันธ์ต่อไป และโปรโมตข้อความที่ว่า ยูเครนยังคงมีความคืบหน้า, ต่อสู้อย่างหนัก และต้องการอาวุธ” นางเทเรซา ฟอลลอน ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษารัสเซีย ยุโรป และเอเชีย กล่าว


“ทันทีที่ผู้คนรู้สึกว่ารัฐบาลเคียฟเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ พวกเขาจะเริ่มถามว่าทำไมเรายังจัดหาอาวุธราคาแพงให้ยูเครนในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ และทำไมเราถึงทุ่มเงินดี ๆ ทิ้งไป หลังจากที่เกิดเรื่องแย่ ๆ ขึ้น” ฟอลลอน กล่าวเพิ่มเติมและชี้ว่า สิ่งนี้จะมีความสำคัญ เพราะพันธมิตรหลักหลายประเทศ ต่างต้องผ่านช่วงเวลาทางการเมืองที่ปั่นป่วนเช่นกัน เมื่อปัญหาทางการเมืองภายในประเทศอยู่เหนือกว่า ประชาชนอาจถามว่า ทำไมเราต้องช่วยเหลือยูเครน แทนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ


สำหรับทุกสิ่งที่ชาติตะวันตกสามารถปลอบใจตัวเอง สำหรับการตอบสนองต่อวิกฤติในเบื้องต้นได้อย่างสมเหตุสมผลนั้น สิ่งต่าง ๆ กำลังจะยากลำบากขึ้นอย่างมาก เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ต่างทราบว่า ไม่มีใครรู้ว่าความขัดแย้งนี้จะจบลงอย่างไร แม้คนส่วนมากอยากเห็นยูเครนบรรลุเป้าหมาย ในการยืนหยัดต่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แต่การแก้ปัญหาที่แท้จริงของพวกเขายังไม่ได้รับการทดสอบอย่างเต็มที่


ยิ่งไปกว่านั้น ความจริงอันน่าเวทนาคือ หากเวลานั้นมาถึง การเจรจาสันติภาพที่เกี่ยวข้องกับปูตินอาจเป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวลสำหรับหลายประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย หรือถ้าว่ากันตามตรง พวกเขาไม่เห็นว่า รัฐบาลมอสโกเป็นสาเหตุเพียงหนึ่งเดียวของวิกฤติการมีชีวิตอยู่เช่นนี้.


เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES