“ในยุค VUCA World หรือโลกแห่งความผันผวน ที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ทำให้พฤติกรรมสุขภาพของคนไทยเปลี่ยนไปทั้งดีขึ้น และแย่ลง จำเป็นต้องใช้นวัตกรรม” นายสมยศ เกียรติอร่ามกุล ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์เนื้อหา องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (สสท.) กล่าวในกิจกรรม Innovation Camp การพัฒนาศักยภาพนวัตกรรุ่นใหม่ด้านนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ในกิจกรรม การประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ThaiHealth Inno Award ที่สสส.จัดขึ้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ โรงแรมแม่น้ำ รามาดาพลาซา กรุงเทพฯเมื่อเร็วๆนี้

นายสมยศ กล่าวว่า คำว่า “นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” เป็นได้ทั้งแนวคิดหรือสิ่งประดิษฐ์ ที่เกิดจากการผสมผสานความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ให้เกิดเป็นผลงานครอบคลุมทั้ง  4 มิติ กาย จิต ปัญญา สังคม การประกวดนี้จะช่วยพัฒนาให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ให้ได้พัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ รวมทั้งครูหรือที่ปรึกษาที่ได้เข้าร่วม จะมีส่วนสำคัญในการบ่มเพาะลูกศิษย์อีกหลายรุ่น ให้เข้าใจแนวทางสร้างเสริมสุขภาพที่เริ่มต้นจากตัวเอง ชุมชน และสังคมโดยรอบได้

ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของ การประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ThaiHealth Inno Award ปีที่ 5 เริ่มตั้งแต่ปี 2560 และนับเป็นปีที่ 2 ของการผลักดันให้เป็นรางวัลระดับชาติ Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2022 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมอบรางวัลให้กับผลงานที่ชนะ กิจกรรม Innovation Camp จัดขึ้นเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ สร้างพลังความคิดสร้างสรรค์ สู่การต่อยอดงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น และได้เพิ่มกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือ บุคคลทั่วไป/Startup และ ภาคีเครือข่าย สสส. เพื่อยกระดับให้ผลงานนวัตกรรมนำไปใช้ได้จริง

“ความสำเร็จของการจัดประกวด คือ ผลงานสามารถนำไปต่อยอดสู่การใช้งานได้จริง อาทิ เสาหลักนำทางจากยางพารา กรมทางหลวงชนบทเปลี่ยนเสาหลักนำทางจากคอนกรีต เป็นเสาจากยางพาราตามนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปี 2563 โครงการ Care Share Team วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ นวัตกรอาสาบริการชุมชนให้แก่ผู้สูงอายุ และวิสาหกิจในชุมชนล่ามช้าง อ.เมือง จ. เชียงใหม่ โครงการต่อยอดพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ (Booster Program) ในการขยายผลการทำงานให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น สสส. ในฐานะผู้จัดการประกวด ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่ผลงานที่ได้รับรางวัลเพียงเท่านั้น แต่คือการสร้างเมล็ดพันธุ์นวัตกรสร้างเสริมสุขภาพ ที่เกิดขึ้นทั้งลูกศิษย์และครู ที่ต่อยอดผลงานให้สามารถขยายผลในวงกว้างและตรงต่อความต้องการตามบริบทของชุมชน” ดร.ณัฐพันธุ์ กล่าว