โดยซีรีส์เรื่องนี้พ่อของนางเอกสามารถ “เลี้ยงดูลูกที่เป็นออทิสติกให้เรียนจบเป็นทนายความได้” สามารถใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับคนอื่น ๆ ได้ ซึ่งนี่ก็ทำให้หลาย ๆ คนให้ความสนใจเกี่ยวกับ “การดูแลเด็กออทิสติก” หลาย ๆ คนเกิด “ปุจฉา” เกี่ยวกับ “วิธีเลี้ยงดูลูกที่เป็นออทิสติกให้ใช้ชีวิตประจำวันเองได้” และ “ออกไปใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้”…

ดูซีรีส์…แล้วมอง “เรื่องราวชีวิตจริง”…

ชีวิตจริง “สามารถเป็นไปได้หรือไม่??”

“ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลมาสะท้อน…

ทั้งนี้ ณ ที่นี้จะสะท้อนต่อข้อมูลเรื่องนี้กรณีนี้ในชีวิตจริง โดยเป็นข้อมูลน่าสนใจที่ สถาบันราชานุกูล เผยแพร่ไว้ผ่านทางเว็บไซต์ https://th.rajanukul.go.th/ ซึ่งได้ให้คำแนะนำ “วิธีเลี้ยงดูลูกที่เป็นออทิสติก” ไว้ว่า…โรคออทิสติก (Autistic Disorder) หรือ ออทิสซึม (Autism) เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะ โดยเด็กมีปัญหาในการพัฒนาทักษะสังคม ทักษะภาษา การสื่อความหมาย อย่างเหมาะสมตามวัย ซึ่งยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้

อย่างไรก็ดี โรคออทิสติก ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “พีดีดี” หรือ ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน (Pervasive Developmental Disorders : PDDs) ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ก็ใช่ว่าจะทำอะไรไม่ได้เลย ซึ่งความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบนี้ การดูแลช่วยเหลือที่ดี และถูกต้องเหมาะสม สามารถช่วยให้เด็กกลุ่มนี้มีพัฒนาการดีขึ้นได้มาก โดยเฉพาะถ้าได้รับการวินิจฉัยและช่วยเหลือตั้งแต่อายุน้อย ๆ และกระทำอย่างต่อเนื่อง…

ก็ “ดังเช่นที่พ่อของนางเอกในซีรีส์ทำ”

ข้อมูลความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้โดยสถาบันราชานุกูลยังได้มีการแจกแจงไว้ว่า… ในคู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช ดีเอสเอ็มโฟร์ โดยสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา ได้มีการจัด “ระดับ” ของ “ความบกพร่องของพัฒนาการรอบด้าน” หรือ “พีดีดี” เทียบเคียงไว้กับคำว่า “ออทิสติก สเปกตรัม (Autistic Spectrum Disorder)” แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ… 1.ออทิสติก 2.เร็ทท์ 3.ซีดีดี 4.แอสเพอร์เกอร์ และ 5.พีดีดี เอ็นโอเอส …นี่เป็นระดับความบกพร่องของพัฒนาการที่ถูกระบุไว้

ทาง สถาบันราชานุกูล ให้ข้อมูลไว้อีกว่า… จากการติดตามศึกษาพบว่าเด็กออทิสติกจำนวน 2 ใน 3 เมื่อเติบโตขึ้นยังมีภาวะต้องพึ่งพิงผู้อื่นและต้องการผู้ดูแลตลอดชีวิต ส่วนอีก 1 ใน 3 พึ่งพาตนเองได้พอสมควร ต้องการเพียงคำชี้แนะจากผู้ดูแลเป็นระยะเท่านั้น และก็พบว่า…มีร้อยละ 1-2 ที่พึ่งพาตนเองได้เต็มที่ สามารถจะประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเอง หรือดำเนินชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป โดยสิ่งที่จะบ่งบอกได้ว่าเด็กออทิสติกจะมีแนวโน้มที่ดีหรือไม่เพียงใดนั้น คือ ระดับสติปัญญา และ ความสามารถในการสื่อสาร รวมถึง การได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและถูกต้อง…

โดยที่ “การดูแลนั้นมีหลักวิชาการ”…

ทั้งนี้ “แนวทางดูแลเด็กออทิสติกอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิชาการ” นั้น ก็มีการให้คำแนะนำไว้ “10 ประการ” คือ… ส่งเสริมพลังครอบครัว เพราะครอบครัวถือว่ามีบทบาทสำคัญที่สุดในกระบวนการดูแลช่วยเหลือเด็กออทิสติก, ส่งเสริมความสามารถเด็ก ส่งเสริมด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำบ่อย ๆ แล้วสอนเพิ่มในเรื่องที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เด็กสามารถทำได้, ส่งเสริมพัฒนาการ ด้วยการจัดกิจกรรมให้มีพัฒนาการไปตามวัยเด็ก แต่จะต้องทำอย่างเข้มข้น สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง, ใช้พฤติกรรมบำบัด เพื่อที่จะส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมให้คงอยู่ต่อไป และหยุดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา

ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ เช่น ฝึกแก้ไขการพูด หรือทำกายภาพบำบัดกรณีที่มีปัญหาด้านกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหว, ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการศึกษา เพื่อเพิ่มทักษะพื้นฐานด้านสังคม การสื่อสาร และทักษะทางความคิด ที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง, ฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคม ด้วยการฝึกฝนทักษะชีวิตประจำวันให้ดำรงชีวิตในสังคมได้ตามปกติ, ฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพ เพื่อให้ทำงานมีรายได้ ดำรงชีวิตได้โดยพึ่งพิงผู้อื่นน้อยที่สุด, การรักษาด้วยยา ซึ่งไม่ได้มีเป้าหมายรักษาให้หายขาดโดยตรง แต่ใช้บรรเทาอาการบางอย่างที่เกิดร่วมด้วย และอีกประการคือ การบำบัดทางเลือก อาทิ ศิลปกรรมบำบัด ดนตรีบำบัด หรือการบำบัดด้วยสัตว์ เป็นต้น ซึ่งส่วนนี้จะเลือกอย่างไรก็ต้องตามความเหมาะสม…

“ตามการตอบสนอง” ของเด็กแต่ละคน

อย่างไรก็ดี ข้อมูลโดย สถาบันราชานุกูล ชี้ไว้ว่า… “สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพ่อแม่-ครอบครัว” นั้นคือการ “ทำใจให้ยอมรับเมื่อลูกหลานเป็นออทิสติก”  โดยพ่อแม่และครอบครัวควรต้องเปลี่ยนทัศนคติและความคิด ต้องยอมรับในความเป็นเขา โดยควรคิดในทางที่ดีว่าลูกหลานต้องพัฒนาได้ ต้องตั้งสติให้มั่น ไม่ท้อแท้ แต่ให้ตั้งใจแน่วแน่ว่า…ต้องพัฒนาเด็กให้ช่วยตนเองให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยทำให้พ่อแม่และครอบครัวไม่รู้สึกท้อในการดูแลช่วยเหลือเด็ก…

“ครอบครัวมีเด็กออทิสติก” ก็ “อย่าท้อ”

“อย่าถอย” กับการ “ดูแลอย่างถูกวิธี”…

ไม่พึ่งพิงแบบในซีรีส์…ชีวิตจริงมีได้.