จากกรณีมีการโพสต์คลิปสะเทือนใจ นาทีกลุ่มชายหลายคน ใช้เรือสปีดโบ๊ตออกไปตกปลากันในทะเลแล้วตกฉลามขึ้นมา และมีช่วงหนึ่งที่คนในเรือใช้อาวุธปืนยิงฉลามที่ว่ายเข้ามาใกล้กับเรือจำนวนหลายนัด ก่อนจะลากขึ้นมาบนเรือ เหตุเกิดเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา สร้างความสะเทือนใจแก่ชาวโลกออนไลน์เป็นอย่างมากโดยเฉพาะนักอนุรักษ์ นอกจากนี้ยังโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กพร้อมภาพซากปลาฉลามที่ถูกยิง 3 ตัวบนเรือ นอนตายเรียงกันอยู่ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมและเรียกร้องให้เอาผิดกับบุคคลในคลิป
ตอนนี้ทำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกมาตรการสั่งให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตรวจสอบ โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกลุ่มบุคคลใช้เรือสปีดโบ๊ตออกไปตกปลาในทะเลและมีการยิงฉลามตาย 3 ตัว ว่าได้เห็นคลิปและอ่านข่าวแล้วรู้สึกเสียใจ พร้อมกับรู้สึกโมโหและรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น และต้องขอบอกว่าในวันนี้ประเทศไทยกำลังจะโดนสหรัฐแบนสินค้าประมงทุกชนิดอยู่ เพราะว่าเรามีอัตราการตายของสัตว์น้ำหายากมากขึ้นทุกวัน ๆ และคนจำพวกนี้เป็นคนที่ทำให้ประเทศไทยของเรามีปัญหา คนพวกนี้เป็นคนที่กำลังจะฆ่าระบบการประมงของประเทศไทยด้วยความเห็นแก่ตัว การยิงฉลาม 3 ตัวไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ จากในคลิปที่เห็นฉลามไม่ได้มาจู่โจม หรือมาจ้องทำร้ายเขา และแถมเขาอยู่บนสปีดโบ๊ต ฉลามตัวแค่นั้นจะมาทำอะไรได้ ซึ่งถ้าตัวเขาอยู่ในน้ำแล้ว ไม่มีทางสู้ฉลามกำลังเข้ามาทำร้ายนั้นก็พอมีเหตุผล แต่นี่คุณอยู่บนเรือแล้วคุณก็ยิงไป
“ผมในฐานะ รมว.ทรัพยากรฯ ขอสัญญาว่าจะใช้กฎหมายทุกฉบับที่อยู่ในอำนาจดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนที่อยู่บนเรือนั้นรวมทั้งเจ้าของเรือด้วย โดยจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เพราะตั้งแต่ผมมารับตำแหน่ง ผมไม่เคยยอมในกรณีอย่างนี้ และคดีเช่นนี้ผมก็จะเอาให้ทุกคนเห็นว่า ประเทศไทยเราเอาจริงกับเรื่องแบบนี้ อย่าง 2 ปีก่อน ผมเคยเนรเทศต่างชาติ 2 คนเพราะมาทำร้ายปะการังของประเทศไทย แต่วันนี้สิ่งที่ผมเสียใจก็คือคนที่ก่อเหตุครั้งนี้เป็นคนไทยแล้วมาทำลายทรัพยากร มาทำร้ายสัตว์น้ำของคนไทยเราเอง ถ้าเป็นต่างชาติผมจะเนรเทศออกไปแล้ว แต่ผมเสียดายที่พวกคุณไม่ใช่คนต่างชาติ จึงเนรเทศพวกคุณออกจากแผ่นดินไทยไม่ได้ พวกนี้ต้องถือว่าหนักแผ่นดิน” นายวราวุธ กล่าว
นายวราวุธ กล่าวว่า เบื้องต้นเมื่อทราบเรื่องตนได้แจ้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชแล้ว เพื่อให้ตรวจสอบว่าจุดที่เกิดเหตุนั้นอยู่ในพื้นที่การดูแลของใคร จึงได้กำชับทั้ง 2 กรม ให้ลงไปดูแลเรื่องนี้ทั้งคู่ และขอให้ตรวจสอบด้วยว่ามีกฎหมายฉบับใดสามารถดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้รวมถึงเจ้าของเรือ เช่นมีใบอนุญาตหรือไม่ เข้าพื้นที่โดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และจะเร่งดำเนินการขึ้นบัญชีสัตว์ทะเลหายากอีกหลายชนิดเพื่ออนาคตที่มั่นคงของพี่น้องชาวประมงของไทย และปกป้องความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทยไว้ให้ลูกหลานของเรา
ด้าน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ทันทีที่ตนได้รับทราบรายงานดังกล่าว ได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 ลงพื้นที่ตรวจสอบ และประสาน สภ.เมืองกระบี่ ภายหลังที่ได้ทราบว่าสำนักงานตำรวจน้ำกระบี่ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีในข้อหาใช้เรือโดยไม่ได้รับอนุญาตพร้อมเปรียบเทียบปรับเป็นจำานวนเงิน 10,000 บาท นอกจากนี้ ได้ตรวจสอบพิกัดพื้นที่ พบว่า บริเวณที่เกิดเหตุอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี โดยห่างออกไปราว 96 กม. และห่างจากฝั่งประมาณ 42 กม. และไม่อยู่ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบการดำเนินคดี ทราบว่า นายอลงกรณ์ ชลธี อายุ 29 ปี ชาว จ.กระบี่ ได้ออกไปตกปลากับพวกรวม 5 คน จากท่าเรือเกาะพีพี ไปยังจุดตก ทั้งนี้ ได้สอบถามไปยังนักวิชาการทราบว่า ฉลามจำพวกฉลามหูดำ พบมากตามกองหินห่างจากฝั่ง พบได้ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน
“ที่สำคัญยังไม่พบว่าเคยทำอันตรายมนุษย์ อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมถึงความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ซึ่งฉลามหูดำไม่ได้บรรจุอยู่ในบัญชีสัตว์คุ้มครองตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งกรมฯ จะได้สำรวจและผลักดันสัตว์ทะเลชนิดสำาคัญ รวมถึงฉลามหูดำ เพื่อบรรจุในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองและสัตว์คุ้มครองตาม พ.ร.บ.ป้องกันและทารุณกรรมสัตว์ และผลักดันให้ฉลามหูดำเข้าสู่บัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ต่อไป” นายโสภณกล่าว
ส่วน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ฉลามหูดำเป็นฉลามที่สามารถพบได้บ่อยและง่ายที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจะอาศัยอยู่ตามแนวปะการังทั้งด้านฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ปกติแล้วฉลามหูดำเคยมีกรณีจู่โจมคนก่อนบางครั้งปีละ 2 ครั้ง เนื่องจากเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร แต่เมื่อกัดไปแล้วรู้ว่าไม่ใช่เหยื่อก็จะปล่อยแล้วว่ายหนีไป ฟังดูอาจน่ากลัวแต่เมื่อเทียบกับการที่สุนัขกัดคนแล้ว ถือว่าการเจอฉลามกัดคนเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมากจริง ๆ ทั้งนี้ฉลามในประเทศไทยมีทั้งหมด 87 ชนิดและมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องจากสถิติในปี 2546 เคยพบฉลามประมาณ 1.4 หมื่นตัน แต่ปัจจุบันนี้มีไม่ถึง 5,000 ตัน ซึ่งลดน้อยลงมากถึงสองในสาม อีกทั้งใน 87 ชนิด แต่มีมากกว่า 40 ชนิดที่เสี่ยงจะสูญพันธุ์วิกฤตินี้ปัจจุบันเราได้พยายามหาแนวทางแก้ไข 3 ข้อคือ 1. การผลักดันเป็นสัตว์คุ้มครองทางกฎหมาย เพราะฉลามในประเทศไทยมีเพียง ฉลามวาฬ พันธ์ุเดียวเท่านั้นที่ได้เป็นสัตว์คุ้มครองส่วนพันธ์ุอื่นอื่น ๆ อย่าง ฉลามหัวค้อน, ฉลามเสือดาว อยู่ระหว่างรอพิจารณา เกรงว่ากฎหมายยังไม่ทันแก้ฉลามที่รอขึ้นทะเบียนจะสูญพันธุ์ไปก่อน 2. การเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ หรืออุทยานทางทะเลที่ปัจจุบันมีเพียง 6,000 ตารางเมตรจากพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด 3.2 แสนตารางเมตร เมื่อเทียบด้วยตัวเลขแล้ว จะเห็นได้ว่าพื้นที่ปลอดภัยของสัตว์ทะเลน้อยมาก ๆ และ 3. การรณรงค์ ให้เลิกกินหูฉลาม จากตัวเลขสถิติของทั้งโลก ใน 1 นาทีจะมีคนทานหูฉลาม 192 ตัว ซึ่งการหาหูฉลาม ชาวประมงจะจับฉลามทั้งตัวขึ้นมา แล้วตัดเฉพาะครีบก่อนโยนตัวฉลามทิ้งทะเล ก็คือการทานหูฉลามหนึ่งครีบเหมือนการฆ่าฉลาม 1 ตัว
สำหรับข่าวการยิงฉลามหูดำ และสัตว์ประมงอื่น ๆ ตนรู้เรื่องแล้ว และอยากขอให้คนที่กำาลังทำและคิดจะทำ ขอให้หยุดการล่าหรือการจับสัตว์ทะเลนั้น ไม่ว่ามีเหตุจำเป็นใด ๆ ที่ต้องทำเพราะเป็นการกระทำที่ไม่มีประโยชน์เลย.
วรพล เพชรสุทธิ์/ณัฐา มีเจริญ