ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ส.ค. 2490 ข้อตกลงแบ่งมณฑลบริติชอินเดีย ที่กำหนดขึ้นโดยสหราชอาณาจักรมีผลบังคับใช้ ถือเป็นการสิ้นสุดอย่างเป็นทางการ ของยุคจักรวรรดินิยมอังกฤษในชมพูทวีป โดยข้อตกลงแบ่งแยกพื้นที่ดังกล่าวออกเป็นรัฐอธิปไตยสองแห่ง คือปากีสถานที่ได้รับเอกราชในคืนวันที่ 14 ส.ค. ตามด้วยอินเดียในวันที่ 15 ส.ค.
ในช่วงแรกของการแบ่งแยกดินแดนแห่งนี้ออกเป็นสองประเทศ หลังตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรนานถึง 2 ศตวรรษ ส่งผลให้เกิดวิกฤติด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ ที่เป็นการอพยพข้ามพรมแดนตามความเชื่อทางศาสนาของประชาชนมากกว่า 10 ล้านคน ท่ามกลางเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้นมากมาย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ล้านราย ก่อให้เกิดบรรยากาศตึงเครียดและความหวาดระแวงในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ นับจากนั้นเป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ในอีกเพียง 2 เดือนต่อมา อินเดียและปากีสถานทำสงครามครั้งใหญ่เป็นครั้งแรก เพื่อแย่งชิงกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ทับซ้อนในภูมิภาคแคชเมียร์ ดินแดนที่อยู่ทางตอนเหนือของทั้งสองประเทศ การสู้รบกินเวลายาวนานกว่า 1 ปี จนถึงปี 2492 ทหารของทั้งสองประเทศเสียชีวิตรวมกันมากกว่า 7,500 นาย
สงครามดังกล่าวยุติ ด้วยการเข้ามาแสดงบทบาทของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) ในการกำหนดแนวเส้นควบคุม ( แอลโอซี ) หลังการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงระหว่างสองประเทศ แต่แอลโอซีไม่ใช่การแบ่งเขตแดนในพื้นที่พิพาทแคชเมียร์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเด็ดขาด ยิ่งเป็นการเพิ่มความขัดแย้งและความคลุมเครือให้กับความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ที่หลังจากนั้นยังทำสงครามในบริเวณนี้อีก 2 ครั้ง คือเมื่อปี 2508 และ 2542
นอกจากนี้ การปะทะตามแนวแอลโอซียังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากต่างฝ่ายต่างมองว่าอีกฝั่งหนึ่งของแอลโอซีเป็นดินแดนที่สมควรอยู่ภายใต้อธิปไตยของตัวเอง ขณะที่การเจรจาแทบไม่มีความคืบหน้าอย่างสร้างสรรค์ท่ามกลางบรรยากาศของความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดนับตั้งแต่นาทีแรกที่ได้รับเอกราช อินเดียและปากีสถานจำเป็นต้องขับเกี่ยวกับในแทบทุกด้าน เพื่อพัฒนาให้ตัวเองเป็นที่ 1 ในภูมิภาค โดยภายใต้แรงผลักดันที่ซ่อนอยู่คือความต้องการ “เหนือกว่า” อีกฝ่าย
หนึ่งในการแข่งขันอันหนักหน่วง ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน คือการพัฒนาโครงการด้านนิวเคลียร์ ซึ่งต่างฝ่ายต่างทดสอบระเบิดนิวเคลียร์มาแล้วคนละ 1 ครั้ง โดยอินเดียทดสอบระเบิดนิวเคลียร์เมื่อเดือน พ.ค. 2517 สร้างประวัติศาสตร์เป็นประเทศแรกที่ไม่ใช่สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) ที่ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ ส่วนการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ของปากีสถาน เกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ค. 2541
ปัจจุบัน รัฐบาลนิวเดลีมีหัวรบนิวเคลียร์สะสมอยู่ประมาณ 110 หัว แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีมากกว่านั้น และอินเดียกำลังเร่งพัฒนาศักยภาพในการผลิต เพื่อเพิ่มจำนวนหัวรบชนิดนี้ให้มากขึ้นอีก หลังทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรกเมื่อ 48 ปีที่แล้ว
ขณะที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ยืนยันแผนยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ของอินเดีย คือเพื่อความปลอดภัยของประชาชน และรักษาความมั่นคงของชาติ ด้านจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ของกองทัพปากีสถานเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ทางการเมือง และการทหารของรัฐบาลปากีสถาน เพื่อต่อกรกับ “ปรปักษ์ตลอดกาล” นั่นคืออินเดีย แม้นโยบายของรัฐบาลอิสลามาบัดในภาพรวม ไม่เคยมีกรอบชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนิวเคลียร์ แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลหลายคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ
ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่อินเดียยืนยันว่า “มือลั่น” หรือ “ไม่ได้ตั้งใจ” ยิงขีปนาวุธไปตกในเขตแดนของปากีสถาน เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา โดยเน้นว่า “เป็นความผิดพลาดทางเทคนิค” ระหว่างการซ่อมบำรุง แม้ปากีสถานตอบสนองเพียงการประท้วงทางการทูต และไม่มีการเอาความอะไรอย่างเป็นทางการมากกว่านั้น แต่เหตุการณ์ดังกล่าวสามารถนำมาวิเคราะห์ได้เช่นกันว่า ทั้งสองประเทศสามารถกลับมาทำสงครามกันได้อีกทุกเมื่อ “หากคำนวณสถานการณ์คลาดเคลื่อนหรือผิดพลาด” หรือแม้เหตุการณ์แบบ “น้ำผึ้งหยดเดียว” ก็อาจทำให้สถานการณ์บานปลายได้เช่นกัน
ประเด็นพิพาทระหว่างอินเดียกับปากีสถาน “ยังคงเป็นเรื่องเดิม ๆ” แน่นอนคู่กรณีทั้งสองประเทศไม่ต้องการให้ปัญหาเหล่านี้ยืดเยื้อเรื้อรัง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคของการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่กำลังเป็น “สงคราม” ที่โลกยุคปัจจุบันขับเคี่ยวกันมากกว่า ทว่าการที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่อาจแสวงหาหนทางคลี่คลายความขัดแย้งให้เป็นที่พึงพอใจในระดับที่เท่าเทียมกันได้ ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถานก็ยังคงห่างไกลจากการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก “อย่างจริงจัง” เท่านั้น.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES