เมื่อกลางปี 2563 ในระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก มีการรายงานผลการวิจัยเบื้องต้นในต่างประเทศ พบว่า สุนัขมีความสามารถพิเศษในการแยกกลิ่นผู้ป่วยโควิด-19 ออกจากคนปกติได้ สร้างความตื่นเต้นและเป็นที่สนใจแก่บรรดาผู้ใช้งานสุนัขดมกลิ่นในประเทศไทยเอง มีการฝึกสุนัขดมกลิ่นหาสารเสพติด และวัตถุระเบิด เพื่อปฏิบัติงานในราชการตำรวจและทหารเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่เคยมีการฝึกสุนัขเพื่อใช้งานทางการแพทย์ หรือที่เรียกว่า Biomedical detection dogs ด้วยความสนใจร่วมกันของ คณะวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้บริหารบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งมีการใช้งานสุนัขดมกลิ่นหาสารเสพติดก่อนส่งพนักงานลงเรือไปแท่นขุดเจาะน้ำมันอยู่แล้ว จึงได้ตกลงร่วมกันที่จะดำาเนินการวิจัย โดยมีบริษัทพีคิวเอ แอสโซซิเอส จำากัด เป็นผู้รับงานการฝึกสุนัข และได้รับการสนับสนุนด้านคำแนะนำจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 เริ่มต้นโครงการวิจัยตั้งแต่เดือนกันยายน 2563
ศักยภาพของสุนัขในการดมกลิ่น
จมูก ของสุนัขมีเซลล์ประสาทรับรู้กลิ่นมากกว่า 300 ล้านเซลล์ มากกว่ามนุษย์ 50 เท่า และสามารถระบุกลิ่นสารความเข้มข้นระดับต่ำมากถึงหนึ่งในล้านล้านส่วนได้ สุนัขที่นำมาฝึกในโครงการฯ เป็นพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ 6 ตัว ได้แก่ แองเจล อพอลโล บ๊อบบี้ บราโว นาซา และ ไทเกอร์ เริ่มฝึกเชื่อฟังคำสั่งพื้นฐานตั้งแต่อายุ 8 เดือน โดยมีผู้บังคับสุนัขประจำคนละ 1 ตัว หลังจากสุนัขปฏิบัติตามคำสั่งได้แล้ว จะฝึกจดจำกลิ่นเหงื่อจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันด้วย RT-PCR แล้ว ทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ สุนัขแต่ละตัวได้รับการทดสอบประสิทธิภาพการระบุกลิ่น โดยใช้วงล้อหกแขนบรรจุตัวอย่างบวกตัวอย่างลบ กระป๋องเปล่า ขวดแก้วและแท่งสำลีเปล่า สลับกันไป สุนัขแต่ละตัวได้รับการทดสอบการหมุนวงล้อตัวละกว่า 500 ครั้ง ในระยะเวลา 2 เดือน มีผลความไว (sensitivity) 98% ความจำเพาะ (specifcity) 90% และความแม่นยำ (accuracy) 96%
สุนัขดมอะไร จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่
สิ่งที่สุนัขดมแล้วระบุได้ว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 นั้น คือ กลิ่นสารระเหย (volatile organic compounds – VOCs) ที่อยู่ในเหงื่อของผู้ป่วย โดยเหงื่อจะถูกดูดซับไว้ในแท่งสำลี คณะผู้วิจัยได้เลือกเหงื่อเป็นตัวอย่างสำหรับการดม เพราะไวรัสจะไม่ถูกปล่อยออกจากร่างกายผ่านทางสิ่งคัดหลั่งประเภทเหงื่อ นอกจากนี้ยังได้ออกแบบภาชนะบรรจุแท่งสำลี ที่ป้องกันไม่ให้จมูกสุนัขสัมผัสได้ ขั้นตอนการวิจัยได้รับการรับรองจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน และคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ว่าไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยชีวภาพและไม่มีการทรมานสัตว์
ข้อดีของการใช้สุนัขดมกลิ่นเพื่อการคัดกรอง
การคัดกรองโดยใช้สุนัขดมกลิ่น มีข้อดีสามประการคือ 1) บอกผลรวดเร็ว สุนัขใช้เวลาดมกลิ่นตัวอย่างเพียง 2-3 วินาที 2) ไม่เจ็บ เพราะการเก็บเหงื่อทำได้โดยใช้แท่งสำลีหนีบใต้รักแร้ และ 3) ตรวจคัดกรองได้จำานวนมาก จากความรวดเร็วของการระบุกลิ่น จากรายงานในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ใช้งานสุนัขดมกลิ่นคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 แล้วในสนามบิน พบว่าสุนัขคัดกรองได้วันละ 200-250 รายต่อตัว
การออกปฏิบัติงานของสุนัขดมกลิ่น
หลังการทดสอบแล้ว สุนัขได้ถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม แองเจล บ๊อบบี้ และบราโว เดินทางมาปฏิบัติงาน ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพื้นที่การระบาดสูงสุดในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 โดยตรวจคัดกรองให้กับบุคลากรในคณะ และรอบพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อน ตามด้วยการประสานความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ อบรมอาสาฯ อพม. ไปเก็บเหงื่อจากผู้ป่วยติดเตียง และบุคคลทั่วไป จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564
สำหรับอพอลโล นาซา และไทเกอร์ ได้ให้บริการแก่สำานักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา โดยมีเจ้าหน้าที่พยาบาลเก็บเหงื่อจากด่านตรวจคนเข้าเมือง นำมาส่งให้สุนัขดมกลิ่นคัดกรองในห้องดมกลิ่น ของศูนย์ฝึกสุนัข จังหวัดสงขลา
การเดินทางต่อไปของสุนัขดมกลิ่น
จากการระบาดของโรคในกรุงเทพมหานคร อย่างไม่หยุดยั้ง ทีมงานโดยการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของบริษัทเชฟรอนฯ ได้จัดเตรียมรถตรวจโรคชีวนิรภัยที่ออกแบบพิเศษสำาหรับงานคัดกรองโรคโดยใช้สุนัขดมกลิ่น มีชื่อว่า “รถดมไว” (Chula DOM VVI, Dog Olfactory Mobile Vehicle for Viral Inspection) ซึ่งจะนำสุนัขดมกลิ่นออกปฏิบัติในพื้นที่อย่างปลอดภัย สำหรับตัวสุนัข ผู้บังคับสุนัข และผู้ร่วมปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในเดือนมิถุนายนนี้.
ศาสตราจารย์ สพญ.ดร.เกวลี ฉัตรดรงค์
หัวหน้าโครงการวิจัยสุนัขดมกลิ่นคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19