เปลี่ยนคนตายให้กลายเป็นคนนอนหลับเป็นเหตุผลสำคัญที่ “กลุ่มศิลปินจิตอาสาแต่งหน้าศพฟรี” บอกกับเราไว้ เป็น “แรงบันดาลใจ” ที่ทำให้พวกเขาและเธอต่างตัดสินใจเข้ามารับทำงานในหน้าที่นี้ งานที่หลายคนอาจจะรู้สึกกลัว หรือไม่กล้าที่จะคิดทำ แต่คนกลุ่มนี้กลับอาสาเข้ามาทำงานนี้ ที่ไม่ได้มีแค่เรื่องของการ “แต่งหน้าให้กับผู้วายชนม์ให้ดูดีเป็นครั้งสุดท้าย” เท่านั้น หากแต่ยังมีเป้าหมายสำคัญนั่นคือ “ช่วยเยียวยาจิตใจคนข้างหลังที่ยังมีชีวิตอยู่” อีกด้วย จนทำให้ “ทีมวิถีชีวิต” อยากจะนำเรื่องราวชีวิตและแง่มุมการทำงานจิตอาสาของคนกลุ่มนี้มาบอกเล่า…

“จุดเริ่มต้น” ของการเข้ามาเป็น “จิตอาสาแต่งหน้าศพ” นั้น “กุง-กฤษณา แซ่โค้ว” อายุ 37 ปี หนึ่งในทีมนี้ เล่าย้อนโดยโยงถึงประวัติของตัวเองให้ฟังว่า ก่อนที่จะเข้ามาทำงานนี้ หลังเรียนจบจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ได้ไปทำงานเป็นพนักงานประจำ ก่อนจะออกมารับงานเป็นฟรีแลนซ์เกี่ยวกับการทำงานอีเวนต์ต่าง ๆ และล่าสุดนี้กุงได้ลงทุนทำค่ายเพลงลูกทุ่งขึ้นมา เพราะเป็นคนชอบร้องเพลง ส่วนงานจิตอาสาในปัจจุบันนั้น กุงก็เป็นอาสากู้ภัยในสังกัดของ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โดยมีรหัสเรียกขานตัวเองว่า “อินทรี 57” ซึ่งกุงบอกว่าทำงานจิตอาสากู้ภัยแบบนี้มานานหลายปีแล้ว… 

“บอย” กับทีมศิลปินจิตอาสาแต่งหน้าศพฟรี

ส่วนที่มาในการเข้ามาเป็น “ทีมจิตอาสาแต่งหน้าศพ” นั้น กุงบอกว่า เริ่มต้นมาจาก “พี่แนน-จีรัณ นกเหมือน” เป็นคนริเริ่ม จากนั้นก็ชักชวนกุงซึ่งเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเข้ามาช่วยงาน โดยพี่แนนนั้นได้บอกกับกุงว่า อยากช่วยทำให้ผู้เสียชีวิตทุกคนมีสภาพที่ดูดีก่อนจะจากโลกนี้ไปอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากมองว่า ศพส่วนใหญ่เวลาไปถึงที่วัด เวลารดน้ําศพส่วนใหญ่จะคลุมผ้าที่ร่างของศพหรือผู้เสียชีวิต เพื่อไม่ให้ดูน่ากลัว เพราะบางศพโดยเฉพาะศพที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุอาจจะดูไม่น่ามอง จนบางทีแม้แต่ญาติพี่น้องหรือครอบครัวผู้ตายเองก็ยังไม่กล้าที่จะเข้าใกล้ศพ จึงคิดว่าถ้าจะช่วยแต่งสภาพของศพให้ดูดีขึ้น หรือทำให้ศพดูเหมือนเป็นแค่คนที่กำลังนอนหลับได้ ก็น่าจะช่วยให้ครอบครัวหรือญาติรู้สึกดีมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นเหมือนการช่วยให้ผู้ตายได้หล่อได้สวยเป็นครั้งสุดท้ายด้วย จึงทำให้เกิดการก่อตั้ง “กลุ่มศิลปินจิตอาสาแต่งหน้าศพฟรี”

’ตอนแรกที่เข้ามาทำงานนี้ บอกเลยว่าเราแต่งหน้าไม่เป็น ไม่รู้อะไรเลย แต่พี่แนนจะเป็นเหมือนลีดเดอร์ให้เรา เพราะพี่แนนจะแต่งหน้าเก่ง ก็จะมาช่วยเป็นอาจารย์สอนให้เรารู้วิธีรู้เทคนิคในการแต่งหน้าให้กับศพ โดยจะสอนว่าควรเริ่มจากอะไร ไปอะไร ซึ่งพอทำ ๆ ไปก็เริ่มมีความชำนาญมากขึ้น รู้ว่าอะไรใช้กับส่วนไหนในการแต่งหน้า ซึ่งสำหรับเรานั้น เราก็มองศพทุกศพเป็นเสมือนกับอาจารย์ใหญ่ของเรา เพราะเราได้เรียนรู้การแต่งหน้าศพจากผู้เสียชีวิต แต่ว่าทุก ๆ เคสก็ต้องใช้เทคนิค ใช้วิธีการที่ไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละศพที่ส่งเข้ามาให้แต่งหน้านั้น จะแตกต่างกันออกไป หรือบางครั้งโรงพยาบาลที่เราไปรับศพมา เขาก็ไม่ได้เย็บแผลให้ พวกเราก็ต้องมาเย็บแผลให้ด้วยตัวเอง“

นี่เป็น “การทำงานโดยสังเขป” ที่ กุง หนึ่งในกลุ่มศิลปินจิตอาสาแต่งหน้าศพ ระบุไว้กับ “ทีมวิถีชีวิต” โดยสมาชิกคนเดิมยังได้เล่าให้ฟังอีกว่า ทำงานจิตอาสารูปแบบนี้มาได้นานประมาณ 5 ปีแล้ว โดยทุกครั้งที่ทำงาน จะตั้งใจทุก ๆ ครั้งว่า จะแต่งหน้าผู้ตายให้อยู่ในสภาพดูดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะอยากช่วยเยียวยาทางด้านจิตใจให้กับครอบครัวหรือญาติ ๆ ของผู้เสียชีวิตด้วย ที่สำคัญทุกครั้งที่ทำงานไม่เคยคิดหวังจะได้รับสิ่งตอบแทนใด ๆ นอกจากร่วมส่งผู้วายชนม์ให้ดีที่สุด

ในเรื่องของ “ความยาก-ง่าย” ในการ “แต่งหน้าศพ” นั้น กุงบอกว่า บางคนที่ไม่เคยทำอาจจะคิดว่างานนี้ทำง่าย ๆ เพราะแต่งหน้าศพที่อยู่นิ่ง ๆ แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้ง่ายเลย เพราะใบหน้าของศพจะแตกต่างจากใบหน้าของคนปกติที่มีชีวิต และยิ่งเป็นร่างที่ใบหน้ามีบาดแผล ซีด หมองคล้ํา หรือช้ําเลือดช้ําหนอง ก็จะยิ่งทำให้งานตกแต่งยิ่งทวีความยากมากขึ้น แต่หลักสำคัญในการแต่งหน้าศพนั้นก็คือ การปรับสภาพใบหน้าให้ใกล้เคียงกับคนปกติ หรือทำให้ดูเหมือนกับว่ากำลังนอนหลับ เช่น แผลจะต้องไม่มี สีผิวจะต้องปรับให้ดูเป็นแบบคนปกติมากที่สุด

’ที่ผ่านมาก็เคยแต่งหน้าให้กับศิลปิน คนดัง คนวงการบันเทิง เน็ตไอดอล มาแล้วหลายร่าง อาทิ แวว จ๊กมก แอ๊นท์-ธรัญญา สัตตบุศย์ พิพลอย เน็ตไอดอล เอ็ดเวิร์ด แวนโซ เป็นต้น และบอกตรง ๆ เรารู้สึกภูมิใจมากที่ได้มาทำงานนี้ โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นรอยยิ้มของญาติ ๆ ผู้ตาย หรือได้เห็นคนในครอบครัวผู้ตายเข้ามากอดลาร่างของผู้ตายเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต ซึ่งภาพที่เกิดขึ้นเหล่านี้แหละคือความสำเร็จของพวกเรา เพราะหากพูดถึงศพ เชื่อว่าหลายคนก็คงกลัว และปฏิเสธที่จะเข้าใกล้ ดังนั้นงานของเราคือการทำให้ร่างของผู้ตายดูดีที่สุด เพื่อให้คนที่พวกเขารักกล้าที่จะเข้ามาอยู่ใกล้ ๆ หรือกล้าเข้ามากอดร่างผู้ตาย เพื่ออำลากันเป็นครั้งสุดท้าย“ กุงเล่าให้ฟังเรื่องนี้

“กุง” กับ “แนน” ทำภารกิจ

อนึ่ง สำหรับ “กลุ่มศิลปินจิตอาสาแต่งหน้าศพฟรี” นั้น กุงบอกว่า ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 4 คน โดยนอกจากกุงแล้ว ก็จะมี “แนน-จีรัณ นกเหมือน” ที่มีรหัสเรียกขานว่า “อินทรี 51” มี “พี-การย์สิริ เพชรพงศ์ปกรณ์” ซึ่งมีรหัสเรียกขานว่า “อินทรี 382” และมี “บอย-สุรงค์ กตัญญู” ที่มีรหัสเรียกขานว่า “คำรพ 12” โดยปัจจุบันเนื่องจากกระแสตอบรับจากสังคมดีมาก ทำให้มูลนิธิฯ จึงอยากทำเรื่องนี้ในวงกว้างขึ้น สร้างจิตอาสาแต่งหน้าศพให้กระจายออกไปในหลาย ๆ พื้นที่ จึงได้มอบหมายให้ทีมของกุงทีมนี้เป็นทีมบุกเบิก ด้วยการแต่งตั้งให้สมาชิกของทีมทั้งหมดรับหน้าที่เป็น “วิทยากรสอนแต่งศพ” ของทางมูลนิธิฯ ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ฝึกอบรมการแต่งศพให้กับเพื่อน ๆ ในมูลนิธิฯ ไปแล้วทั้งหมด 4 รุ่น

ขณะที่การทำงานแต่ละเคสนั้น กุงเล่าให้ฟังว่า เมื่อมีการติดต่อขอความช่วยเหลือมา ในเบื้องต้นจะถามก่อนว่าเสียชีวิตจากสาเหตุอะไร เพื่อที่จะรู้ว่าจะต้องเตรียมของหรืออุปกรณ์อะไรไปบ้าง เช่น จากอาการป่วย หรือจากอุบัติเหตุ ใบหน้าเสียหายเยอะไหม จากนั้นก็จะไปดูหน้างานก่อนว่าจะต้องทำยังไง ถ้าเสียหายเยอะจะได้เตรียมตัวถูก แต่ถ้าเสียหายไม่เยอะก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จากนั้นเมื่อร่างของผู้เสียชีวิตมาถึงก็จะรีบเข้าไปดำเนินการ ถ้าศพมีบาดแผลก็จะจัดการเย็บตกแต่งบาดแผลที่ฉีกขาดทั้งหมดให้กลับคืนสภาพเท่าที่จะทำได้ เช่น ใบหน้าฉีกขาด ทีมงานก็จะจัดการทำรูปหน้าให้เข้าที่ แล้วจึงทำความสะอาดร่างกายเพื่อเอาคราบต่าง ๆ ออกให้หมด และจากนั้นก็จะมาดูเรื่องของสภาพผิว เนื่องจากคนที่ตายสภาพผิวจะไม่เหมือนกัน ทีมงานก็จะทำการปรับสภาพใบหน้า ปรับสีผิว ให้ผู้ตายกลับมามีใบหน้าที่เหมือนกับคนที่กำลังนอนหลับ

“พี” สอนใช้เครื่องสำอางทำภารกิจ

’บางเคสก็อาจจะมีสระไดร์แต่งทรงผมให้ศพที่หน้างาน เช่น กรณีประสบอุบัติเหตุมา ก็ต้องมีการผ่าชันสูตรพลิกศพ บางทีก็อาจมีคราบเลือดเกาะติดที่เส้นผม เราก็จะต้องทำความสะอาดให้ด้วย ยิ่งถ้าศพเป็นผู้หญิงผมยาว ๆ เราก็จะถามทางญาติว่าต้องการให้ช่วยสระไดร์ให้ผู้ตายไหม เพราะต้องใช้เวลาค่อนข้างเยอะ ถ้าญาติอยากให้ทำ เราก็ถึงจะทำ หรือบางทีไปเจอกับศพที่ฉีดฟอร์มาลินมา บางครั้งก็จะมีน้ําไหลออกมาทางปาก จมูก หู ตรงนี้ก็เป็นอุปสรรคเหมือนกัน เพราะน้ําทำให้เครื่องสำอางเปรอะเปื้อน เราก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่หน้างานตอนนั้นทันที“ กุงกล่าว

และยังบอกอีกว่า มีหลายคนถามว่า ’ทำงานนี้แล้วได้อะไร?“ ซึ่งกุงก็จะตอบกลับทุกคนที่ถามมา… อย่างแรกเลยที่ได้ตรงหน้างาน คือ “ได้คำขอบคุณ” จากญาติ ๆ หรือครอบครัวของผู้ตาย ประการต่อมาคือ “ได้รับเกียรติ” จากคนรอบข้าง ทั้งที่บางคนนั้นก็ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่ทุกคนก็ให้ความเคารพกับทีมงานทุกคน และอีกประการคือ “ได้ความสุขใจ” ในทุก ๆ ครั้งที่ได้เห็นครอบครัวผู้ตายร่ำลาผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย

’นอกจากที่บอกมานี้ ก็มีสิ่งที่มองไม่เห็นที่ได้ประสบพบเจอกับตัวเอง นับตั้งแต่ทำงานนี้ นั่นก็คือ ทุกครั้งที่เจอกับอุปสรรค มันจะเหมือนกับมีอะไรที่มาช่วยดึงให้เราขึ้นมาจากปัญหาตรงนั้น ซึ่งหลาย ๆ ครั้งมันก็อาจดูเป็นเรื่องบังเอิญอย่างเหลือเชื่อ แต่ก็เกิดขึ้นมาแล้วจริง ๆ“ เป็น “เบื้องหลัง” ของทีมจิตอาสาทีมนี้ ที่ กุง-กฤษณา ได้บอกเล่าไว้

ขณะที่ แนน-จีรัณ นกเหมือน อายุ 39 ปี สมาชิกทีมและผู้ริเริ่มทีมจิตอาสากลุ่มศิลปินแต่งหน้าศพทีมนี้ เล่าว่า เธอเป็นแม่บ้านตำรวจ และก็ได้เข้ามาทำงานเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โดยจุดเริ่มต้นในการแต่งหน้าศพนั้น แนนเล่าว่าจุดเริ่มต้นที่อยากทำงานนี้ เพราะเห็น “จิ๊ก-เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์” และ “เอ-ปัฐติภาร บุญยี่” ซึ่งก็ทำงานจิตอาสารูปแบบนี้ ทำให้เธอรู้สึกสนใจอยากจะลองฝึกหัดและทำงานนี้ดูบ้าง เนื่องจากแนนมองว่า ในโซนกรุงเทพฯ ยังไม่มีอาสาสมัครกู้ภัยที่ทำหน้าที่นี้ในตอนนั้น โดยเธอบอกว่า ช่วงแรก ๆ ที่มาทำงานจิตอาสาแต่งหน้าศพ เครื่องสำอางทุกอย่างเธอจะซื้อหามาเอง จากนั้นก็เกิดไอเดียที่จะรวมกลุ่มศิลปินเพื่อมาทำงานจิตอาสาตรงนี้

ฝึกอบรมทีมภารกิจรุ่นใหม่ ๆ

’เนื่องจากเราก็เป็นศิลปินและกำลังทำเพลงลูกทุ่ง เราก็คิดว่าศิลปินจะเข้าถึงงานได้ง่ายกว่าคนธรรมดา เราก็เลยชวนเพื่อน ๆ น้อง ๆ ในค่ายเพลงที่เราทำเพลงอยู่มาทำงานนี้ด้วยกัน หนึ่งในนั้นก็มีน้องกุง ซึ่งแนนจะเป็นคนสอน จนเมื่อเราตั้งท้อง ทำให้ไม่ค่อยได้ออกไปทำงานลงพื้นที่ เราก็เลยยกกระเป๋าต่อให้กับน้องกุงลุยเองเลย ซึ่งต้องยอมรับว่าน้องกุงเขาเก่งมาก รู้จักคิดดัดแปลงการเย็บศพให้ดูดี แนน หนึ่งในทีมจิตอาสาทีมนี้เล่าให้เราฟังถึง “ที่มา-ที่ไป”

ทั้งนี้ ก่อนจะจบบทสนทนากัน “ทีมวิถีชีวิต” ถามว่าสิ่งที่เธอ และทีมได้จากการทำงานจิตอาสารูปแบบนี้คืออะไร ทาง แนน-จีรัณ บอกว่า การทำงานตรงนี้เหมือนเป็นการทำบุญที่ดีอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ไม่แพ้การทำบุญรูปแบบอื่น ๆ และยิ่งได้เข้าไปช่วยเหลือบางคนที่ฐานะไม่ดี หรือยากจน เวลาที่ได้เห็นแววตาและได้รับคำขอบคุณ ตรงจุดนี้ทำให้รู้สึกอิ่มเอมมากกว่าการทำงานแล้วได้เงินมาเสียอีก จนเราและทีมงานทุกคนนั้นตั้งใจที่จะพยายามสานต่องานนี้ต่อไปให้นานที่สุด…

’แฟนของเราเห็นเราทำงานนี้ เขาก็สนับสนุน ชื่นชมเรา บางครั้งยังอาสาเป็นคนขับรถพาเราไปทำงานอีกด้วย เราก็ยิ่งมีกำลังใจ เพราะได้กำลังใจจากคนใกล้ตัว จากคนที่เรารัก ซึ่งเราเชื่อว่าบุญกุศลจากงานที่ทำนี้…

ทำให้ตัวเราและคนที่เรารักมีความสุข“.

‘ใช้แต่ของดี’ เพื่อ ‘ส่งอาจารย์ใหญ่’

อุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจ

ในส่วนของ กุง-กฤษณา ยังได้บอกเล่าด้วยว่า ปัจจุบันคนแต่งหน้าศพมีเยอะขึ้น แต่ละทีมก็จะมีสไตล์ไม่เหมือนกัน สำหรับทีมของกุงนั้นจะเน้นสไตล์ธรรมชาติ ด้วยการปรับสีผิวให้ดูธรรมชาติมากที่สุด แต่งให้เหมือนคนกำลังหลับให้มากที่สุด ซึ่งโดยส่วนใหญ่พอแต่งศพเสร็จทางญาติ ๆ หรือเจ้าภาพมักจะให้เงินเป็นค่าน้ำใจ โดยทีมของกุงทุกคนก็จะขอคืนกลับไปให้ โดยจะแจ้งว่านำไปช่วยทำบุญแล้วกัน เพราะทางทีมตั้งใจทำงานนี้ฟรี ๆ เพราะอยากจะช่วยเหลือสังคมและตอบแทนสังคม หรือบางคนที่มีฐานะดีหน่อย ก็อาจจะช่วยสมทบทุนเงินบริจาคเป็นค่าเครื่องสำอางค่าอุปกรณ์สำหรับแต่งหน้าศพ เพื่อไปช่วยเหลือเคสอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่เครื่องสำอางที่ใช้ทำงานทางทีมจะจัดซื้อเอง ส่วนเครื่องสำอางที่มีผู้บริจาคมาให้นั้น ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้ใช้เท่าไหร่ เนื่องจากมักจะมีสีสันที่ฉูดฉาด หรือที่หมดอายุแล้วทางทีมก็จะไม่ใช้…

’เราจะไม่ใช้ของไม่ดีเลย เพราะเราคิดว่าคนที่ตายเขาก็เหมือนกับเรา ซึ่งคนปกติก็คงไม่อยากใช้เครื่องสำอางไม่ดี เราจึงเชื่อว่าคนตายก็เช่นกัน ที่สำคัญเขาเป็นเหมือนอาจารย์ใหญ่ของเรา เราก็อยากใช้ของดี ๆ กับเขา“.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน