“เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา เราจะทำอย่างซื่อตรง ขอให้เธอจงไว้ใจ และศรัทธา แผ่นดินจะดีในไม่ช้า แล้วความสุขจะคืนมา ประเทศไทย” ช่วงราวปี 57 หลายคนโดนเพลงนี้เปิดกรอกหูจนร้องตามได้ และหลังจากนั้นเราก็ได้เห็น ได้ยินท่านผู้นำประเทศไทยแต่งเพลงปลุกใจ ออกซิงเกิ้ลมาเรื่อยๆ เรียกว่าน่าจะครบสิบเพลง สมัยก่อนเรียกว่าออกเทปได้แล้ว 1 อัลบั้ม ..เนื้อเพลงอารมณ์ประมาณขอสู้เพื่อชาติ เพื่อแผ่นดินอะไรเทือกๆ นี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม อยู่มาจะแปดปีแล้วเจ้าประคุณเอ๋ย… ไอ้ “ขอเวลาอีกไม่นาน” น่ะ นานแค่ไหน แบบว่าขอทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีให้เสร็จเหรอ คือขอเวลาอีกไม่นานของเรากับเขาคงไม่เท่ากัน คงมีคนอยากร้องเพลงใส่ “หนึ่งนาทีของเราไม่เท่ากัน เธอจะทำร้ายฉันอีกนานไหม” แล้วไอ้ที่ว่า “แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา” นี่ มันจะคืนกลับมาเมื่อไร ลักษณะไหน? ตอนนี้คืองงไปหมด

ภาพรวมที่หลายคนเห็นวันนี้ คือความขัดแย้งและความพยายามยื้ออำนาจ เล่นการเมืองกันทั้งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลนั่นแหละ ในส่วนของฝ่ายค้านเอง โดยเฉพาะ พรรคเพื่อไทย ก็อ้างเรื่องไม่สังฆกรรมกับรัฐบาล แล้ว ก็ไม่เป็นองค์ประชุมสภาตั้งหลายครั้ง (ไม่ใช่แค่ในช่วงที่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.) ดูเหมือน พรรคก้าวไกลจะดูดีกว่า ที่มาแสดงตัวว่าทำหน้าที่ มาโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่ใช่ทำสภาล่มแล้วโยนไปว่า ส.ส.รัฐบาลต้องรักษาองค์ประชุม

ในส่วนของ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคหลักของรัฐบาล แม้ “พี่ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค จะประกาศสนับสนุนน้องตู่เป็นนายกฯ แต่ตอนนี้มันเกิดความคลางแคลงใจขึ้นมาแล้วว่า มีอะไรอยู่ใต้น้ำที่รอวันเปิดเผยความจริงขึ้นมาหรือไม่ ..คือ ณ ขณะนี้ชูบิ๊กตู่เป็นเรื่องฉากหน้า ตามมารยาททางการเมืองเพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลมีเสถียรภาพ แต่พี่ใหญ่ 3 ป. “ใจมันไปแล้ว” ..คือ หาที่ลงใหม่ที่จะได้มีอำนาจเป็นรัฐบาลต่อ

ซึ่งข่าวมีถึงขั้นว่า ไปซูเอี๋ยกับ“ 2 พ.” ไว้แล้ว นำมาสู่การแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่รู้ว่าแก้แล้วประชาชนได้ประโยชน์อะไรแค่ไหน คือแก้แค่เรื่องบัตรเลือกตั้ง การคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อให้พรรคการเมืองได้ประโยชน์เท่านั้น (แต่เอาจริงแก้เรื่องนี้ก็ดี เพราะไอ้วิธีคำนวณ ส.ส.ปัดเศษของ กกต. นี่ช่างเข้าใจยากเสียเหลือเกิน) “ความคลางแคลงใจ” ที่ว่า คือมีเสียงวิจารณ์ว่า มีการ “แตกตัว” ในรูปแบบพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เป็นหัวหน้าพรรค นำร่องออกไปก่อน เพื่อทำพื้นที่รอร่วมรัฐบาล และอาจเป็นอะไหล่ในกรณีที่ชื่อ พปชร.ขายไม่ได้

ข้างฝ่ายที่สนับสนุนบิ๊กตู่จริงๆ ก็ออกมาเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นำโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งก็ “เป็นไปงั้นแหละ” เพราะตามรัฐธรรมนูญ นายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส. ไม่ต้องสังกัดพรรค เป็นแค่คนที่พรรคเสนอ แล้วเห็นคนที่เข้าไป รทสช.หลายคนก็ประชาธิปัตย์เก่า และยังรอดูเลือดไหลออกจาก พปชร.อีก ว่าจะเป็น “ทีมลุงตู่” กี่คน

แต่พูดก็พูดเถอะ ไม่กี่วันก่อน เห็นแกนนำพรรค รสทช. รายหนึ่งขอไม่ระบุชื่อ โพสต์เรื่องปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง น่าหยุมหัวมาด่าว่า “การเมืองมันวุ่นวายมาจนถึงวันนี้ เพราะ กปปส.ที่พวกคุณเป็นแกนนำนั่นแหละไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง แม้รัฐบาลจะยุบสภา ซึ่งเป็นวิถีทางออกตามรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยแล้ว ตอนนั้นพูดๆ กันแต่ว่าเอาปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แล้ววันนี้ดูซิว่า การเมืองมันดีขึ้นหรือเปล่า ก็ยังเล่นกันเน่าๆ เหมือนเดิม” คือ ถ้าไม่เสียใจที่เคยเป็น กปปส. แต่ก็ควรละอายใจว่า พวกตัวเองไม่เคารพกฎหมายในตอนนั้น นำมาสู่ปัญหาการเมืองวันนี้

สรุปภาพง่ายๆ คือมี พรรคที่เหมือนจะกั๊กท่าทีสนับสนุนบิ๊กตู่ คือ พปชร. ขึ้นอยู่กับบิ๊กป้อมให้สัญญาณ และ พรรคที่สนับสนุนบิ๊กตู่ ซึ่งคิดง่ายๆ แบบไม่ซับซ้อน ถ้าสนับสนุนบิ๊กตู่กันทั้งสองพรรคจริงทำไมต้องตั้งพรรคแข่งกัน แย่งคะแนนกันเอง จะบอกว่ากลุ่มเป้าหมายคนละชุดก็ไม่น่าจะใช่ หรือจะบอกว่าพรรคนึงตั้งไว้หวังเขต อีกพรรคตั้งไว้หวังปาร์ตี้ลิสต์ก็ไม่น่าจะใช่อีก อันนี้ใครพอบอกได้หรือไม่ว่า ทำไมถ้าสนับสนุนบิ๊กตู่ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ ต้องตั้งพรรคแข่งกัน

แล้วไอ้เรื่อง พ.ร.ป.เลือกตั้งนี่ก็สร้างปัญหากันจัง เดี๋ยว หารร้อย เดี๋ยวหารห้าร้อย ให้มั่วไปหมดเพื่อให้ได้สภาห้าร้อย ก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจ รายงานข่าวแจ้งว่าบิ๊กตู่ล็อบบี้ให้หารห้าร้อย แล้วกลายเป็นว่าพอพิจารณามาตรา 24 ใน พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ก็ไปโหวตตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อย สักพักมีรายงานข่าวว่า บิ๊กป้อมจะเอาหารร้อย ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับพรรคเพื่อไทย (น่าสนใจนะว่าทำไมถึงคิดเหมือนเพื่อไทย เกี่ยวกับข่าวคุย 2 พ.หรือเปล่าน้อ…) แต่จะโหวตคว่ำในวาระสามมันต้องร่างกฎหมายใหม่ เลยทำสภาล่มมันซะเลย เพื่อให้ใช้กฎหมายฉบับที่ กกต.เสนอให้ ครม.นำเข้าที่ประชุมรัฐสภา

ต่อมาที่มีปัญหาคือเรื่องนายกฯ อยู่ครบ 8 ปีตามรัฐธรรมนูญแล้วหรือยัง? ตอนนี้มีผู้รู้ให้ความเห็นจนเวียนหัวไปหมด เอาเป็นว่ารอฟังศาลรัฐธรรมนูญแล้วกัน เพราะทาง กรธ.และนักกฎหมายเขาบอกว่า ความเห็นของ กรธ.บางคนไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แนวๆ เขียนมาให้แต่ไปตีความเอง.. เห็นมีคนวิจารณ์ว่าเขียนให้โหว่ไว้ในมาตรา 158 วรรคท้าย ไม่บอกชัดว่า ให้เริ่มนับตอนไหน แต่ถ้าไม่แกล้งโง่กันก็เขียนในบทเฉพาะกาล ม.264 แล้วว่า ครม.ที่เป็น ครม.ก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้ให้ถือเป็น ครม.ด้วย ดังนั้น ก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้ ตั้งแต่ปี 57 พล.อ.ประยุทธ์ก็ใช้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี แล้วจะตีความว่า ตั้งแต่ปี 57 ถึง 60 พล.อ.ประยุทธ์เป็นอะไรไม่ทราบ?

เอาเรื่องนี้ไปถามบิ๊กตู่ ก็โยนศาลรัฐธรรมนูญ …แต่ถ้าเข้ามาเพื่อหวังปฏิรูปการเมือง ..การปฏิรูปเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องจริยธรรม ดังนั้น “คนจะปฏิรูปการเมืองต้องแสดงตนในเรื่องจริยธรรมและการเคารพกฎหมายให้เป็นที่ประจักษ์” ใช่หรือไม่? คือไม่ต้องรอให้ใครตีความ แสดงสปิริตในการลาออกเองได้หรือไม่? เพื่อไม่ต้องถูกตั้งคำถามถึงมาตรฐานจริยธรรมและนำไปสู่การเคลื่อนไหวขับไล่ให้วุ่นวายอีกว่า “ที่ว่าขอเวลาอีกไม่นานนี่จะอยู่ไปถึงไหน” มีแต่คนบอกให้ดูตัวอย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษ ที่ลาออกเองแล้วสง่างามกว่า

เห็นนายกฯ ชอบบ่นนักข่าวถามอะไรไม่เข้าท่า ถามเดิมๆ.. บางทีก็ถามไม่เข้าท่าจริงๆ เห็นหลายคำถามแล้วเหมือนถามประจบเอาใจ ถามซ้ำซากแค่ว่า 3 ป.ไม่แตกหรือไม่ ซึ่งก็ไม่รู้ถามให้ได้อะไรขึ้นมา.. นักข่าวลองใช้ความกล้าถามดูไหม ถามไปเลยว่า “จะลาออกแสดงสปิริตเรื่องดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีหรือไม่” ..เคยได้ข่าวว่า สมัยบิ๊กจิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯ มีนักข่าวกล้าถามขนาดว่ากล้าลาออกเพราะลอยตัวค่าเงินบาทหรือไม่

ตรงนี้เรียกว่าน่า challenge (ท้าทาย) ทั้งนักข่าวทั้งนายกฯ ว่าจะกล้าพูดกันหรือเปล่า ดีกว่าคอยถามเรื่องซ้ำซากเยอะ และจะได้เห็นกันเลยว่านายกฯ ว่าอย่างไรกับเรื่องแปดปี แสดงท่าทีเองไม่ต้องรอใครมาชี้ชะตาทำให้อะไรๆ ง่ายขึ้นเยอะ

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”