อินโดนีเซียมีประชากรมากที่สุดในอาเซียนและมากเป็นอันดับ 4 ของโลก (รองจากจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา) โดยตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 276.75 ล้านคนหรือประมาณ 3.51% ของพลเมืองโลก

จากรายงานของหนังสือพิมพ์ จาการ์ตา โพสต์ ส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาประเทศให้กลายเป็นสังคมดิจิทัล การนำเทคโนโลยี และกลยุทธ์ทางดิจิทัลเข้ามาใช้วางรากฐาน เป้าหมาย และระบบการทำงานของทุกภาคส่วน

รัฐบาลอินโดนีเซียให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในปีนี้ ที่กระทรวงการสื่อสารและข้อมูลข่าวสารได้เสนอทุนการศึกษาทักษะดิจิทัลหรือ ดีทีเอส (2021Digital Talent Scholarship : DTS) โครงการกระตุ้นเพื่อฝึกอบรมชาวอินโดนีเซีย ที่มีใจรักทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2561

แฮรี บูดีอาร์โต อธิบดีกรมวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กระทรวงการสื่อสารและข้อมูลข่าวสารอินโดนีเซีย บอกว่า โครงการดีทีเอสมีเป้าหมายผลิตบุคลากร ที่มีความเชี่ยวชาญดิจิทัลสูงระดับมืออาชีพ เพื่อทำงานในภาคเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสาร

บุคลากรทักษะเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญ สำหรับการปรับเปลี่ยนอินโดนีเซียเข้าสู่สังคมดิจิทัล ตามแผนของประธานาธิบดีวิโดโด ที่ตั้งเป้าหมายให้ประเทศมีผู้เชี่ยวชาญดิจิทัล ระดับสูงประมาณ 9 ล้านคน ภายในปี 2573

ขณะเดียวกันกรมอุดมศึกษา ในสังกัดกระทรวงการศึกษาวัฒนธรรม วิจัยและเทคโนโลยีของอินโดนีเซีย ได้ผุดโครงการค่ายเสรีภาพ (KampusMerdeka) ฝึกอบรมทักษะดิจิทัล โดยเน้นใช้งานสำหรับการทำธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี

โครงการในปี 2564 ของกรมอุดมศึกษา จะมีการประสานความร่วมมืออย่างใกลชิด ผ่านการพัฒนาหลักสูตรสร้างผู้ประกอบการ และการทำธุรกิจใหม่ และจะมีโครงการฝึกอบรมทางออนไลน์ขนานใหญ่ทั่วประเทศ สำหรับทั้งนักศึกษาและอาจารย์ โดยตั้งเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 100,000 คน

กระทรวงการสื่อสารและข้อมูลข่าวสารยังส่งเสริมนักเรียน และนักศึกษาที่สนใจ และมีทักษะทางด้านไอที และการสื่อสาร เข้าฝึกอบรวมในโครงการร่วมระหว่างค่ายเสรีภาพ กับสถาบันสรรหาคนเก่งหรือ ทีเอสเอ (TalentScouting Academy : TSA) ของดีทีเอส

แรงสนับสนุนโครงการของรัฐบาลอินโดนีเซียยังมาจากภาคเอกชนด้วย เช่น บริษัทค้าปลีกออนไลน์ยักษ์ใหญ่ Tokopedia ซึ่งเสนอโครงการฝึกงาน รับใบประกาศนียบัตรทางด้านวิศวกรรมซอฟท์แวร์การตลาด และการพัฒนาธุรกิจ

โตโกพีเดียเปิดสถาบันการเรียนรู้และฝึกอบรมด้านเทคโนโลยี Tokopedia Academy สำหรับชาวอินโดนีเซีย นอกจากนั้น ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติอินโดนีเซีย (ยูไอ) เปิดศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Center ofExcellence) และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอัตมาจายา เปิดหลักสูตรวิชาอีคอมเมิร์ซ สอนนักศึกษา

สิตีฟาอูซิเยาะห์ ผอ.โตโกพีเดีย อะคาเดมี กล่าวว่า ความพร้อมทั้งด้านจำนวนคน และความเชี่ยวชาญของบุคลากรทักษะดิจิทัล เป็นหัวใจสำคัญ สำหรับการบรรลุเป้าหมายศักยภาพการแข่งขัน ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับโลก

โตโกพีเดีย อะคาเดมี มีความมุ่งมั่นในการผลิตบุคลากรคุณภาพด้านนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยีโดยรวมของชาวอินโดนีเซียด้วย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES