เชื่อว่า วาทกรรม “ปฏิรูปการเมือง” นี่เป็นวาทกรรมที่หลายๆ คนในประเทศนี้ได้ยินจนหลอนหูมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ด้วยหลักการง่ายๆ ว่า “เอาคนดีเข้ามาทำงาน มีกลไกจัดการกับคนไม่ดี แล้ววันนี้ปฏิรูปการเมืองไปถึงไหน จะว่าลอยตุ๊บป่องๆ แบบจับต้องไม่ได้ก็คงจะดูใจร้ายไปนิดนึง เอาเป็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 นี่ก็มีปฏิรูปเช่น เร่งคดี ป.ป.ช.ให้เร็วขึ้น เพิ่มประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขึ้นมา

ที่ถูกเชือดไก่ให้ลิงดูเป็นรูปธรรมแล้วก็คือกรณี น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) ที่โดนกรณีรุกที่ป่าสงวน ตอนนี้ก็หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปเหลือแต่ให้ศาลฎีกาชี้ขาดว่าผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ แต่ก็มีคนเหน็บแนมว่า “ผู้มีอิทธิพลตัวจริง” ไม่เห็นจะโดนประมวลจริยธรรมเล่นงานบ้าง เช่นกรณีขนแป้งไปออสเตรเลียแล้วติดคุกก็ยังเป็นใหญ่เป็นโต หรือกรณี “นาฬิกาเพื่อน”ที่ไม่ชี้แจงทันทีที่เป็นข่าวเขาก็มองว่า “มีพิรุธ”

เราต้องปฏิรูปการเมือง เพราะหลักการง่ายๆ การเมืองคือการเลือกตัวแทนเข้าไปจัดสรรผลประโยชน์สาธารณะให้ทั่วถึง เท่าเทียมทั่วประเทศ ถ้าเกิดมีการทุจริตคอร์รัปชั่นโกงกิน เอื้อนายทุน ก็จะเกิดภาพของการรวยกระจุก จนกระจาย แจกเงินขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ โดยที่ไม่มีการปรับปรุงการกระจายทรัพยากรให้เป็นธรรม แล้วก็ไป romanticize สร้างภาพน่าอภิรมย์ของความพอเพียงให้คนลืมว่า เราติดอยู่ในกรอบความเหลื่อมล้ำ

ถ้าการเมืองดี ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนก็ดีกว่านี้ เช่น เอาเงินไปพัฒนาอย่างอื่นดีกว่าจัดซื้อจัดจ้างบ้าๆ บอๆ ที่ไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์อะไร มีแต่ความน่าสงสัยว่า ฮั้วประมูลหรือเปล่าหรือมีกินเงินทอน ตัวอย่างการจัดซื้อจัดจ้างบ้าๆ บอๆ ที่กำลังเป็นข่าวฮอตให้คนทั้งขำทั้งสมเพชคือการจัดซื้อเสาไฟขององค์การบริหารส่วนตำบลหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่ถูกขุดแบบถึงรากถึงโคนคือที่ราชาเทวะ สมุทรปราการ ที่เหมือนจะซื้อเสามาเกินความจำเป็น

มีการติดตั้งเสาไฟกินรีมั่วไปหมด คนเอารูปมาแฉถึงขนาดว่าเอาไปติดในรกในพง ซึ่งไม่ทราบไปติดทำไม พอถูกแฉก็แก้ผ้าเอาหน้ารอดกันโดยการไปถางให้เห็นว่า จริงๆ มันเป็นถนนนะแต่ไม่ได้ลาดยาง บางรูปก็โชว์ว่าถนนยังเป็นหลุมเป็นบ่อเต็มไปหมดแต่เสากินรีสวยเด่นเป็นสง่ายืนท้าทาย จนไม่รู้ว่าเขาประเมินความจำเป็นของการพัฒนาพื้นที่กันยังไงถึงเร่งซื้อ ตอนนี้สื่อก็กำลังขุดเรื่องมีฮั้วประมูลหรือไม่ ก็รอดูตอนจบ เพราะ สตง.ขยับตรวจแล้ว

ปัญหาหนึ่งคือการที่เอาศิลปกรรม เอาความเป็นไทย มาร่วมจัดซื้อจัดจ้างด้วย ราคากลางเสาต้นนึงเท่าไรว่าไป แต่ราคาออกแบบประดับตกแต่งอีก คงอยากให้ลายวัฒนธรรมเต็มเมืองเหมือนเสาไฟแถวริมแม่น้ำแซน ฝรั่งเศส หรือมีสถาปัตยกรรมเยอะๆ แบบกรุงโรม อิตาลี อะไรเทือกๆ นี้ จริงๆ ถ้าเอาประโยชน์การใช้งานก็น่าจะลองไปดูเสาไฟพลังงานโซล่าร์เซลล์แบบสิงคโปร์ก็ได้ ให้ดูโมเดิร์นมันก็ไม่ได้ขี้เหร่อะไร แถมดูมีความเป็นเมืองเสียอีก

นึกถึงเพลงนักร้องลูกทุ่งเมื่อก่อนที่ร้องว่า “จะหมดจะเปลืองก็ให้มันเหลืองเข้าไว้” คือเน้นการออกแบบวัฒนธรรมทาทอง ลายไทย อะไรพวกนี้ที่คิดว่ามันมีความเป็นไทยที่สวย ซึ่งมันเป็นการใช้เงินแบบผักชีโรยหน้ามากๆ หวังว่ากรณีเสาไฟวิลิศมาหรานี้จะทำให้เกิดระเบียบการทบทวนการใช้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ สตง.แก้ระเบียบหรือตรวจสอบให้เข้มเข้า ว่า ถ้ามันแพงแปลกๆ ก็ต้องเชือดให้เร็วๆ ไม่ใช่กระบวนการเอาผิดยาวนาน

ที่ยกตัวอย่างมานี่แค่เบื้องต้นว่า การจัดซื้อจัดจ้างแบบบ้าๆ บอๆ นี่แหละทำให้งบประมาณถูกผลาญไปในส่วนที่ไม่จำเป็นต้องใช้งาน การตรวจสอบดำเนินคดีจะเข้มแข็ง รวดเร็วได้ สิ่งที่จะต้องบ่มเพาะสร้างขึ้นในหมู่ประชาชนคือสร้างความเป็นพลเมือง ที่ตระหนักว่า เราคือเจ้าของประเทศ เราคือผู้ให้อำนาจตัวแทนเข้ามาบริหารจัดการทรัพยากร ถ้าทำไม่เข้าท่า พลเมืองเองนั่นแหละต้องพุ่งเป้าเข้าไปจัดการมันเลย

ในโลกยุคปัจจุบันเป็นโลกข้อมูลข่าวสารที่เชื่อมต่ออะไรต่อมิอะไรกันได้เร็วแบบลัดนิ้วเดียว อารมณ์ประมาณว่า โพสต์แฉหน่อยก็มีคนติดตาม แล้วสื่อมวลชนก็ทำหน้าที่ลงไปตรวจสอบ เมื่อเป็นกระแส องค์กรตรวจสอบก็ถูกจับตาท่าทีและไม่นิ่งนอนใจ ดังนั้น การปฏิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อประชาชนเข้าใจถึงพลังอำนาจของตัวเอง พลังในการให้ข้อมูลข่าวสารความไม่ชอบธรรมต่อสังคม พร้อมจะรวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

มันก็เป็นที่น่าชื่นใจอยู่ข้อนึงว่า ยังมีพรรคการเมืองอย่างพรรคก้าวไกลที่พยายามปลุกความเป็นพลเมือง ปลุกเรื่องการจับตาตรวจสอบรัฐบาล ปลุกเรื่องสิทธิความเท่าเทียม แต่ก็ไม่รู้ว่า จะสร้างจิตสำนึกได้มากน้อยแค่ไหน หรือทำงานได้ยาวนานแค่ไหน เพราะประชาชนบ้านเราจำนวนมากยังติดอยู่ในระบบอุปถัมภ์ การเลือกตั้งก็ยังติดอยู่ในระบบแบบ “บ้านใหญ่” เจ้าของพื้นที่มีฐานคะแนนเสียง มีอิทธิพลให้กลับเข้ามาทำงานการเมืองแบบเดิมๆ ต่อ

หลายคนตั้งความคาดหวังไว้ว่า การเมืองจะดีขึ้นต่อเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมี ส.ส.ร.ระดับจังหวัดมายกร่าง ซึ่งก็ไม่แน่อีกแหละว่า ถ้าประชามติผ่าน ให้ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ จะมีร่างทรงนักการเมืองเข้ามาเป็น ส.ส.ร.มากน้อยแค่ไหน และรัฐธรรมนูญก็เป็นแค่เครื่องมือหนึ่ง และพอถึงเวลาบังคับใช้ก็อาจถูก“ศรีธนญชัยทางการเมือง”ตีความเล่นแร่แปรธาตุไปเรื่อย ดังนั้นความเป็นพลเมืองที่พร้อมลุกขึ้นมาต่อต้านความไม่ชอบมาพากลเท่านั้นจะช่วยได้

หันมาดูการแก้ไขรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ มีถึง 13 ร่าง ไอ้ที่น่าจะผ่านง่ายที่สุดคือเรื่องแก้ไขระบบบัตรเลือกตั้งให้มีสองใบ คือเลือกบัญชีรายชื่อใบนึง เลือก ส.ส.เขตใบนึง ตามหลักการของรัฐธรรมนูญปี 40 คือ ส.ส.เขตนี่ลงไปทำงานพื้นที่ บัญชีรายชื่อนี่ทำงานในเชิงนโยบาย แต่จะน่าสนใจหากจะใช้วิธีกำหนดจำนวน ส.ส.ที่พึงมี เอาคะแนนบัตรเขตกับคะแนนบัตรปาร์ตี้ลิสต์มารวมกันแล้วหารเอาว่า ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คนควรมีคะแนนสนับสนุนเท่าไร

สมมุติว่า รวมคะแนนกันแล้วคำนวณได้ว่า บัตรดี 1 แสนใบ ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์คนนึง ส.ส.พรรคไหนได้จำนวน ส.ส.ที่พึงมีจาก ส.ส.เขตเกินไปแล้วก็ไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคไหนที่คะแนนปอบปูลาร์โหวตสูง แต่ ส.ส.เขตได้น้อย ก็จะได้ปาร์ตี้ลิสต์มากขึ้นตามปอบปูลาร์โหวต แต่ไม่เกินเพดาน ส.ส.พึงมี แบบนี้ก็ไม่ทำให้พรรคใหญ่กินรวบทั้งเขตทั้งปาร์ตี้ลิสต์ และพรรคเล็กก็ได้ ส.ส.โดยไม่จำเป็นต้องส่งผู้สมัครทั่วประเทศเพื่อเอาคะแนนตกๆ หล่นๆ มาคำนวณ

การเป็นรัฐบาลผสมมันไม่ใช่เรื่องเสียหาย ก็ยังมีการตรวจสอบกันเองในพรรครัฐบาล เช่นที่พรรคภูมิใจไทยกับพลังประชารัฐเขาก็ออกมาตีกันอยู่เรื่องรถไฟสายสีส้ม เรื่องการกระจายวัคซีนโควิด แต่ถ้ารวบอำนาจเบ็ดเสร็จพลังการตรวจสอบก็จะน้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับไปที่เดิมคือ การปฏิรูปการเมืองที่เข้มแข็งมันต้องสร้างความเป็นพลเมือง การรู้เท่าทันเกมการเมือง การทุจริต และเมื่อมีความไม่ชอบมาพากล ประชาชนต้องพร้อมเคลื่อนไหว

การเมืองที่ปฏิรูปคือประชาชนมีส่วนร่วมโดยเฉพาะการตรวจสอบ ไม่ใช่จบแค่คิดว่ากติกาทำให้ได้คนดี และที่สำคัญที่ควรต้องเพิ่มไปอีก คือสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของพลเมือง ที่ต้องส่งเสริมมากขึ้น.

……………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”