นับตั้งแต่รับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลมาเลเซียคนที่ 8 เมื่อเดือนมี.ค.ปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยาสซิน เผชิญกับความท้าทายหลายครั้งจากนายอันวาร์ อิบราฮิม และดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี ย้อนกลับไปเมื่อเดือนม.ค.ปีนี้ รัฐบาลของมูห์ยิดดินประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ จากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 และผ่านความเห็นชอบจากสำนักพระราชวัง คำสั่งดังกล่าวส่งผลให้รัฐสภาต้องระงับการประชุมโดยปริยาย และอำนาจบริหารทั้งหมดรวมศูนย์อยู่ที่นายกรัฐมนตรี

นายอันวาร์ อิบราฮิม ( คนซ้ายสุด ) ผู้นำฝ่ายค้านมาเลเซีย และดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ในชุดสูทสีดำ ร่วมกันประท้วงรัฐบาล

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลของมูห์ยิดดินอยู่ในสถานะ “เสียงปริ่มน้ำ” มาตั้งแต่ต้น การใช้อำนาจโดยอาศัยคำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินจึงเรียกเสียงวิจารณ์อย่างหนักจากฝ่ายค้าน ว่าเป็นการซื้อเวลาเพื่อหาทางรอด และลอยตัวจากแรงกดดัน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์พลิกผันอีกครั้ง เมื่อพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ ( พรรคอัมโน ) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย ประกาศเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาล แต่โควตารัฐมนตรีกระทรวงหลัก ไม่ว่าจะเป็นการต่างประเทศ กลาโหม และสาธารณสุข ยังคงเป็นของพรรคอัมโน

ต่อจากนั้นไม่นาน มูห์ยิดดินปฏิเสธขยายระยะเวลาคำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่งผลให้ “อำนาจพิเศษ” ยุติเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่เป็นการดำเนินการที่เรียกเสียงวิจารณ์จากสำนักพระราชวัง ว่า “ละเมิดรัฐธรรมนูญ” เนื่องจากไม่มีการ “ปรึกษาหารือก่อน” ขณะที่ฝ่ายค้านเดินหน้าเพิ่มอรงกดดันอีกครั้งทันที ในขณะที่พรรคอัมโนยังเสียงแตกเป็นสองขั้ว คือสนับสนุนกับไม่สนับสนุนมูห์ยิดดินในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่จนถึงตอนนี้ มูห์ยิดดินยังคงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดทางการเมืองของมาเลเซีย และ “ขอพิสูจน์ตัวเอง” ด้วยการเผชิญกับกับอภิปรายไม่ไว้วางใจและลงมติของสภา ที่ตามกำหนดจะเกิดขึ้นในเดือนก.ย.นี้

สถานการณ์การเมืองภายในของมาเลเซียตึงเครียดและไม่อาจ “เรียกได้อย่างเต็มปากว่ามีเสถียรภาพ” เมื่อดร.มหาเธร์ “สร้างความประหลาดใจ” ให้กับทุกฝ่าย ด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนก.พ. 2563

CNA

ทั้งนี้ มาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญมาเลเซียระบุว่า สมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีพระราชอำนาจและพระราชวินิจฉัยโดยตรงในการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี “ในยามบ้านเมืองเกิดภาวะคับขัน” และในที่สุด สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ ยังดีเปอตวนอากงพระองค์ปัจจุบัน ทรงแต่งตั้งมูห์ยิดดินให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยทรงเชื่อมั่นว่า บุคคลผู้นี้ “มีเสียงสนับสนุนข้างมากเพียงพอ” ที่จะทำให้การใช้อำนาจบริหารขับเคลื่อนไปได้อย่างมีเสถียรภาพ แต่หลายฝ่ายมองว่า การที่มูห์ยิดดินไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง “ไม่ถือเป็นผู้นำอันชอบธรรม”

นักเคลื่อนไหวชาวมาเลเซียถือธงสีดำ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อ “ความล้มเหลว” ของรัฐบาล ในการแก้ไขวิกฤติโรคโควิด-19

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการวิกฤติโรคโควิด-19 รอบแรก เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งรัฐบาลของมูห์ยิดดินทำได้ดี ส่งผลให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่เมื่อมาเลเซียต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกที่สองในปีนี้ สถานการณ์หลายอย่างไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย และการบริหารงานที่ผิดพลาด ยิ่งสร้างความสั่นคลอนให้กับรัฐบาล แต่ในโลกการเมืองที่ไม่มีทั้งมิตรแท้และศัตรูถาวร ความพยายามใดก็ตามย่อมต้องมีกระแสต่อต้านจากภายในรัฐบาลด้วยกันเอง “อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

นับตั้งแต่เป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2500 และก่อนเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาเลเซียเคยอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินเพียงครั้งเดียว คือเมื่อปี 2512 เพื่อควบคุมการจลาจลทางการเมืองในเวลานั้น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งล่าสุดจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่ฝ่ายค้านจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่ามูห์ยิดดินทำเพื่อรักษาอำนาจให้ตัวเอง มากกว่าจริงจังกับการแก้ไขวิกฤติด้านสาธารณสุขครั้งนี้

CNA

แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ผู้นำมาเลเซียคนปัจจุบันน่าจะกังวลมากที่สุด นั่นคือท่าทีของพรรคอัมโน ซึ่งจะเป็นภาวะอันตรายอย่างแท้จริง หากพรรคอัมโนถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ซึ่งหมายถึงรัฐมนตรีทั้งหมดต้องออกไปด้วย รวมถึงนายอิสมาอิล ยาค็อบ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายฮิชามมุดดิน ฮุสเซ็น รมว.การต่างประเทศ นพ.อัดฮัม บาบา รมว.สาธารณสุข และนายไครี จามาลุดดิน รมว.วิทยาศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่ผู้ประสานงานด้านการจัดสรรและกระจายวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ด้วย

ปัจจุบันพรรคอัมโนมี 38 ที่นั่ง จากทั้งหมด 222 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ไม่มากไม่น้อย แต่มูห์ยิดดินจะสูญเสียพรรคอัมโนไปไม่ได้ แต่ผู้นำมาเลเซียซึ่งเคยเป็นสมาชิกของพรรคอัมโนมาก่อน น่าจะมีความเข้าใจและรู้ทันต่อ “ธรรมชาติ” ของอีกฝ่ายได้เป็นอย่างดี บริบทการเมืองภายในมาเลเซียนั้นซับซ้อนนัก การที่มูห์ยิดดินสามารถพารัฐบาลผ่านมรสุมได้จนมาถึงจุดนี้ ท่ามกลางแรงกดดันจากทั้งภายในและภายนอกรัฐบาล น่าจะเป็นข้อพิสูจน์ได้เช่นกันว่า ผู้นำมาเลเซียคนนี้ “ก็ไม่ธรรมดา”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES