ช่วงโควิดระบาดหนักหลายอาชีพเดือดร้อนกันทั่วหน้า แต่มีอยู่อาชีพหนึ่งที่ไม่ได้รับผลกระทบเหมือนคนอื่นๆ หรือจะมีบ้างก็เล็กน้อยเท่านั้น “ถั่วลิสงคั่ว” ของนางสุทิศ หิงงาม อายุ 70 ปี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ถั่วลิสงคั่วยายสุทิศ” ทำมานานกว่า 30 ปี ชื่อเสียงที่สะสมมาไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องฟันฝ่าอุปสรรคชีวิตมากมายกว่าจะมาถึงวันนี้
“ยายสุทิศ” อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 205 บ้านตาไท หมู่ 4 ต.เทพรักษา อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ยึดอาชีพคั่วถั่วลิสงขายมาตั้งแต่สมัยสาวๆ ชาวบ้านในพื้นที่และอำเภอใกล้เคียงต่างรู้จักกันดี บางคนกินตั้งแต่เด็กยันโต รสชาติดีหอมกรอบอร่อย ราคาถูก
สำหรับที่มาของ “ถั่วลิสงคั่วยายสุทิศ” นั้น เจ้าตัวเล่าว่า 30 กว่าปีก่อนตนทำอาชีพขายของอุปโภคบริโภคให้ชาวกัมพูชาที่ลี้ภัยมาอยู่ในพื้นที่ ต.เทพรักษา อ.สังขะ หลังจากชาวกัมพูชาอพยพกลับประเทศไปจึงหันมาขายถั่วลิสงคั่วช่วยกันกับสามี มีลูกด้วยกัน 5 คน ลูกๆ ไม่ได้เรียนจบสูง ตอนนี้ต่างคนต่างไปมีครอบครัวดูแลตัวเองกันได้หมดแล้ว
ตนจะรับซื้อถั่วลิสงแล้วนำมาคั่วบรรจุใส่ถุงเอง สมัยก่อนมีวิธีขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควร แต่ละวันต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อมาคั่วถั่วลิสง ต่อมาเกิดไอเดียทำกระทะคั่วที่คิดค้นขึ้นมาเองช่วยทุ่นแรงได้เยอะ และจะได้ถั่วคั่วที่รสชาติอร่อย หอม กรอบ เคี้ยวเพลิน
“ถือว่าเป็นเครื่องคั่วถั่วลิสงเครื่องเดียวในประเทศไทยก็ว่าได้ เวลาทำจะหมุนเครื่องคั่วถั่วลิสงไปพร้อมกับทรายที่บรรจุด้านใน ถั่วก็จะถูกอบร้อนไปในตัว สุกเร็ว ไม่ไหม้อีกด้วย ไม่เปลืองแรงและช่วยประหยัดเวลาได้มาก ง่ายกว่าการคั่วด้วยกระทะ เพราะใช้ไปไม่นานก้นกระทะก็จะรั่ว และต้องออกแรงมาก บางครั้งถั่วก็จะไหม้”
เมื่อก่อนถั่วลิสงคั่วบรรจุถุงจะขายถุงละ 1 บาท เพราะถั่วมีราคาถูก ปัจจุบันถั่วลิสงมีราคาแพงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 50-60 บาท จึงจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาให้สอดคล้องกับต้นทุน บรรจุถุงก่อนจะนำมาร้อยเป็นพวง พวงละ 14 ถุง ขายส่งในราคาพวงละ 100 บาท ร้านค้าก็จะขายต่อถุงละ 10 บาท และยังมีแบบ 3 พวง 100 บาท บรรจุขนาดถุงเล็กลง พวงละ 10 ถุง ร้านค้าก็จะขายต่อถุงละ 5 บาท
เวลาออกไปส่งถั่วเที่ยวหนึ่งเฉลี่ยประมาณ 100 กิโลกรัม ขี่รถจักรยานยนต์พ่วงข้างเร่ขายไปเรื่อยๆ ตามร้านค้าในหมู่บ้านเขตชนบทพื้นที่ 3 อำเภอ อ.สังขะ อ.บัวเชด และอ.กาบเชิง โดยจะตระเวนขายวันเว้นวัน เนื่องจากต้องใช้เวลาคั่วและบรรจุถุง 1 วัน ก่อนจะเร่ขายอีก 1 วัน ทุกวันนี้ทำแทบไม่ทันเพราะกำลังผลิตไม่พอ ต้องจ้างเพื่อนบ้านมาคอยช่วยบรรจุถุงลนไฟ วันละ 150-200 บาท
ยายสุทิศ กล่าวว่า “ทุกวันนี้ยายภูมิใจในอาชีพแม้จะไม่ได้ร่ำรวยมาก แต่ก็มีเงินใช้ด้วยน้ำพักน้ำแรง แม้จะมีหนี้สินของกองทุนหมู่บ้านอยู่บ้างจำนวนหลักหมื่น เพราะกู้ยืมไปซื้อถั่วมาคั่วขาย ส่วนสามีก็เปิดร้านขายของโชห่วยเล็กๆ ภายในบ้าน ก็เชื่อว่าจะอยู่กันได้แบบไม่ลำบากถ้าเราขยันทำมาหากิน ทุกวันนี้ไม่ต้องเป็นภาระลูกหลาน”
ยายสุทิศกล่าวทิ้งท้ายติดตลกว่า เวลาให้คนอื่นไปขายแทน ร้านค้ามักจะไม่ค่อยอยากจะซื้อ กลัวจะมีคนไปแอบอ้าง ไม่ใช่ถั่วของตน เพราะลูกค้าบอกว่าถั่วของตนกรอบสด อร่อย ตนก็ไม่รู้ว่าอร่อยจริงไหม ต้องชิมดูเองนะ ส่วนรายได้ก็พอได้ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน และเป็นค่าใช้จ่ายกินอยู่ในครอบครัว ดีกว่าอยู่เฉยๆ ไม่มีอะไรทำ.
คอลัมน์ : นิยายชีวิต โดย : อสงไขย
เรื่องและภาพโดย : นพรัตน์ กิ่งแก้ว จ.สุรินทร์
แนะนำเรื่องราวชีวิตดั่งนิยาย หรือสอบถามได้ที่ [email protected]
คลิกอ่านเรื่องราว “นิยายชีวิต” เพิ่มเติมได้ที่นี่..