ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมีความเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ แม้ในเวลาเดียวกันถือเป็นคู่แข่งกันไปด้วยก็ตาม ด้วยความที่เป็นประเทศมีขนาดใหญ่ทั้งคู่ ทั้งในด้านพื้นที่ จำนวนประชากร ขนาดของกองทัพ และมูลค่าทางเศรษฐกิจ เรียกได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐ ไม่ว่าจะดีหรือจะร้าย ราบรื่นหรือขลุกขลักเพียงใด ทุกความเคลื่อนไหวมีความสำคัญ และสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งโลก
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐ มีหมุดหมายที่สำคัญคือเมื่อปี 2515 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ผู้นำสหรัฐในเวลานั้น เยือนกรุงปักกิ่งอย่างเป็นทางการ ถือเป็นการปรับเปลี่ยนท่าทีครั้งสำคัญของรัฐบาลวอชิงตัน ในยุคสงครามเย็น นำไปสู่การบัญญัติกฎหมายยอมรับหลักการ “จีนเดียว” หมายถึงการรับรองรัฐบาลในกรุงปักกิ่ง “คือรัฐบาลที่ชอบธรรมแห่งเดียวของจีน” ซึ่งสภาคองเกรสผ่านกฎหมายดังกล่าว เมื่อปี 2521 ที่ในอีกด้านหนึ่ง หมายถึงการที่รัฐบาลวอชิงตัน “ต้องยุติความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ” กับ “สาธารณรัฐจีน” หรือ ไต้หวัน
อย่างไรก็ดี การยอมรับหลักการจีนเดียวเป็นบ่อเกิดของ “ความคลุมเครือ” ด้านนโยบายยุทธศาสตร์การทูตของสหรัฐนับจากนั้นเช่นกัน เนื่องจากเพียงปีเดียวหลังจากนั้น คือเมื่อปี 2522 สภาคองเกรสบัญญัติกฎหมาย “ความสัมพันธ์ไต้หวัน” โดยมีการ “ตีความ” ไต้หวัน ว่าไม่ใช่สาธารณรัฐจีน แต่หมายถึง การที่สหรัฐจะมีความสัมพันธ์และความร่วมมือกับ “องค์กรบริหารส่วนกลางของไต้หวัน” และที่สำคัญคือ ไม่มีการให้หลักประกันอย่างเป็นทางการว่า สหรัฐจะช่วยเหลือไต้หวัน หากเกิดกรณีจีนโจมตีทางทหารหรือรุกรานไต้หวัน ที่รัฐบาลปักกิ่งถือว่า “เป็นมณฑลโพ้นทะเล” แต่จะมอบ “ความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น” เพื่อให้ไต้หวันสามารถนำไปใช้ป้องกันตนเอง
การขับเคลื่อนนโยบายแบบนี้ ทำให้สหรัฐสามารถมีความสัมพันธ์กับทั้งจีนและไต้หวันได้ในเวลาเดียวกัน และสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากทั้งสองฝ่ายได้พร้อมกัน ด้วยความเป็นประเทศอภิมหาอำนาจเพียงแห่งเดียวบนโลก แน่นอนว่าสหรัฐไม่เคยคิดว่าจะมีประเทศใดก้าวขึ้นมาทัดเทียมกันได้
อย่างไรก็ตาม จีนกลับสามารถพัฒนาตัวเอง และขยายอิทธิพลได้อย่างรวดเร็วกว่าที่รัฐบาลวอชิงตันเคยคาดคิดไว้ ไต้หวันจึงต้องเข้ามาอยู่บนหมากเกมแห่งอำนาจของสองประเทศยักษ์ใหญ่ และเข้าทางสหรัฐมากขึ้นไปอีก เมื่อไต้หวันกำลังอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลไทเปสายกลาง-ซ้าย ของประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน
ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ ที่หมายถึงการรักษาสถานะระหว่างจีนกับไต้หวัน แน่นอนว่าเป็นสถานภาพที่ทั้งสองฝ่ายพยายามรักษาเอาไว้ให้ได้นานที่สุดมาตลอด บนถนนที่ยังคงเป็นเส้นขนาน โดยขอเพียงแต่ “อย่าล้ำเส้นแดงซึ่งกันและกัน” เท่านั้น
อนึ่ง จีนมีสุภาษิตหนึ่งว่า “ถางหลางปู่ฉาน” หมายความว่า “ตั๊กแตนจับจักจั่น นกขมิ้นอยู่ด้านหลัง” ที่มาของสุภาษิตนี้มาจากเรื่องราวสมัยโบราณของจีน เจ้าแคว้นอู๋ต้องการยกทัพไปปราบแคว้นฉู่ ขุนนางบุ๋นบู๊ต่างทูลคัดค้านเพราะสถานการณ์ยังไม่เหมาะสม ถ้ายกทัพไปมีโอกาสที่จะถูกแคว้นอื่นรุกรานตลบหลัง แต่เจ้าแคว้นอู๋ไม่ฟัง ซ้ำยังจะลงโทษคนที่คัดค้าน ทำให้ไม่มีใครกล้าอีก มีเพียงองค์ชายราชบุตรที่รอจังหวะ
กระทั่งเช้าวันหนึ่งเจ้าแคว้นอู๋เห็นองค์ชายในอุทยานยามเช้า พร้อมอุปกรณ์ล่าสัตว์ จึงถามว่ามาทำอะไรแต่เช้า องค์ชายจึงทูลว่าในอุทยานมีจักจั่นตัวหนึ่งส่งเสียงด้วยความสบายใจ โดยไม่รู้ว่าข้างหลังมีตั๊กแตนจ้องจะจับ ในขณะที่ตั๊กแตนก็ไม่ทันสังเกตว่านกขมิ้นตัวหนึ่งก็จ้องจะจับมันเช่นกัน แต่นกขมิ้นก็มองไม่เห็นกระหม่อมที่กำลังจะยิงมันอยู่ เจ้าแคว้นอู๋ฟังดังนั้นก็ทรงคิดได้ และยกเลิกการรุกรานแคว้นฉู่
สุภาษิตดังกล่าวใช้เพื่อเปรียบเปรยถึงผู้ที่ไร้วิสัยทัศน์ มักเล็งผลระยะสั้นโดยไม่ระวังว่า มีผลร้ายรออยู่ในระยะยาว นอกจากนี้ สุภาษิตดังกล่าวยังใช้กับผู้ที่คิดเอาแต่จ้องคิดบัญชีกับผู้อื่น โดยลืมไปว่า ตนเองก็อาจจะกำลังถูกผู้อื่นจ้องเตรียมจัดการอยู่เช่นกัน ในบริบทของความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างสหรัฐกับจีน ที่มีไต้หวันเป็นเดิมพันนั้น ใครเล่าคือ “ตั๊กแตน” “จักจั่น” และ “นกขมิ้น”.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : REUTERS