“ช่วงแรก ๆ ที่มาทำ…ชาวบ้านหาว่าเราบ้า ตอนนั้นก็เสียกำลังใจเหมือนกัน เพราะเรายอมทิ้งเงินเดือนเป็นแสน…เพื่อมาเลี้ยงปูนาขาย!!!“ เป็นเรื่องราวและความรู้สึกที่ “เซียนปูนา” คนนี้ได้บอกเล่าไว้ ถึงช่วงชีวิตเมื่อครั้งที่เขาได้ตัดสินใจทิ้งอาชีพการงานประจำ เพื่อมาทำฟาร์มเลี้ยงปูนาส่งขาย แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ เขาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า…เส้นทางนี้ไปได้จริง ๆ ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จักกับเรื่องราวของเซียนปูนาคนนี้ กับผู้ชายที่ชื่อ “ยา-อยุทธยา สำเนียงเย็น”

’กำลังใจของครอบครัวทำให้เราฝ่าฟันมาได้“ เสียงจาก ยา-อยุทธยา ชายเจ้าของฉายา “เซียนปูนา” บอกเล่า โดยชายคนนี้ปัจจุบันเป็นเจ้าของ “อุไรยา ฟาร์มปูนา” ที่เป็นฟาร์มเลี้ยงปูนาเพียงแห่งเดียวในพื้นที่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งก็เป็นบ้านเกิดที่เขาเติบโตมา โดย ยา เล่าว่า  เป็นคน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี โดยเขาเป็นลูกคนที่ 3 ของครอบครัวที่มีลูกรวม 4 คน ซึ่งชีวิตวัยเด็กนั้นมีจุดเปลี่ยนตั้งแต่อายุ 4-5 ขวบ เมื่อต้องเสียคุณแม่ไป โดยที่เขายังไม่ทันได้เข้าโรงเรียนเลย ซึ่งหลังจากที่คุณแม่เสีย ชีวิตครอบครัวก็เหมือนแพแตก คุณพ่อคนเดียวต้องหาเลี้ยงลูก ๆ ทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถส่งเสียลูก ๆ ทุกคนได้เต็มที่ จนพี่ชาย 2 คน ต้องลาออกจากโรงเรียนเพื่อช่วยทำงานหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ส่วนตัวของเขานั้นก็ต้องไปอาศัยอยู่กับคุณอา

ยา บอกเล่าต่อไปว่า ในช่วงวัยเด็กเขาต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบ แต่ก็ทำให้เขาได้เรียนรู้ชีวิตมาตั้งแต่เด็ก ส่วนเรื่องการเรียนนั้น เขาก็เกือบที่จะไม่ได้เรียนต่อ เพราะหลังจากจบ ป.6 คุณพ่อก็ไม่มีเงินที่จะส่งเสียต่อ แต่โชคดีที่ได้คุณอาช่วยส่งเสียให้ได้เรียนต่อจนจบชั้น ม.3 จากนั้นเขาก็ตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยกะว่าจะเข้ามาหางานทำ เพราะคิดว่าคงไม่ได้เรียนต่อ แต่กลายเป็นว่าคุณอาสนับสนุนให้เรียนในสายวิชาชีพ เขาจึงมีโอกาสได้เข้าเรียนระดับ ปวช. ที่โรงเรียนช่างกลสยาม ในสาขาช่างยนต์ ซึ่งในระหว่างที่เรียนก็มีโอกาสได้เข้าโครงการโรงเรียนในโรงงาน ด้วยการทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย จนเรียนจบ ปวช. ก็ได้เข้าทำงานเป็นช่างบริษัทรถยนต์แห่งหนึ่ง และได้ส่งตัวเองเรียนต่อระดับ ปวส. จนเรียนจบ…นี่เป็นเส้นทางของเซียนปูนาในอดีต

’อย่างที่บอกว่าวัยเด็กเราไม่มี ทำให้เราพยายามเรียนและทุ่มเททำงาน เพราะเราต้องการความสำเร็จในหน้าที่การงาน อยากมีเงินเดือนสูง ๆ ซึ่งหลังจากพยายามอยู่ 3 ปี ที่สุดก็ได้ขึ้นเป็นหัวหน้า และตำแหน่งก็ขยับขึ้นเรื่อย ๆ จนทำงานอยู่  8 ปี ก็ได้ขึ้นเป็นตำแหน่งผู้จัดการ“ ยา-อยุทธยา เล่าถึงเรื่องราวชีวิตของเขาในช่วงที่ทำงานประจำ

อย่างไรก็ตาม ยา เล่าอีกว่า แต่การที่ได้ขึ้นตำแหน่งสูงที่ดูเหมือนว่าจะดี กลับกลายเป็นว่าจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบเยอะขึ้น และเขาต้องย้ายที่ทำงานไปอยู่ในสาขาที่ไกลจากบ้านย่านดาวคะนอง โดยต้องเดินทางไปทำงานไกลถึงย่านบางกะปิ ทำให้ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อเข้างานให้ทันเวลา 6 โมง และจากที่ไม่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์ หรือทำเพาเวอร์พอยท์ไม่เป็น เขาก็ต้องฝึกหัดทำ เพื่อจะนำไปใช้ทำรายงานให้กับทางเจ้านาย ซึ่งเขาบอกว่า ช่วงแรก ๆ ต้องทำงานจนแทบจะสว่างคาตาเกือบทุกวัน

“ปูนา” ที่ทำให้ค้นพบ “คำตอบชีวิต”

’ตอนนั้นเราใช้ร่างกายทำงานเต็มที่ เหมือนขายวิญญาณให้กับงานไปเลยก็ว่าได้ เพื่อแลกความสำเร็จ แต่ความสำเร็จที่ได้ ก็แลกมาด้วยการที่ต้องล้มป่วยจากการเกินขีดจำกัดร่างกาย ซึ่งการล้มป่วยครั้งนั้น ผมไปหาหมออยู่ 3 โรงพยาบาลก็ไม่หาย สุดท้ายญาติพี่น้องให้เราลองกลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน กลายเป็นว่าพอกลับไปอยู่บ้าน เมื่อได้อยู่กับท้องไร่ท้องนา อาการป่วยก็เริ่มดีขึ้นและหายไปเองในที่สุด“ เขาเล่าอีกช่วงชีวิต

พร้อมบอกว่า ป่วยครั้งนั้นทำให้เขารู้ว่าชีวิตการทำงานที่ทำอยู่มันตึงเกินไป ซึ่งถ้าไม่ได้กลับมาอยู่บ้าน เขาคิดว่าชีวิตคงไม่รอดแน่ ทำให้เขาเริ่มกลับมาคิดใหม่ โดยมองว่า ’เงินทองความสำเร็จที่ไขว่คว้ามาตลอดนั้น อาจจะไม่ใช่คำตอบชีวิตที่แท้จริง“ แต่เหตุการณ์ที่ทำให้เขาเลือกตัดสินใจกลับบ้านเกิดจริง ๆ ก็คือ วันหนึ่งเขากำลังขับรถกลับบ้าน และแฟน (อุไรวรรณ) โทรศัพท์มาบอกว่าโดนจี้ชิงทรัพย์ ซึ่งโชคดีที่แฟนไม่เป็นอะไรมาก แต่นี่ทำให้เขาเริ่มคิดถึงครอบครัวขึ้นมา เพราะเมื่อก่อนนั้นเขาจะไปรับไปส่งแฟนตลอด แต่ตอนหลัง ตอนที่รับตำแหน่งผู้จัดการ เขาต้องทิ้งแฟนให้ไปกลับเอง จนทำให้รู้สึกว่าดูแลแฟนไม่ได้

’จุดสำคัญของผมคือครอบครัว หลังเหตุการณ์นั้นทำให้เริ่มรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง โดยผมคิดว่าหาอะไรก็ได้ที่ทำแล้วได้อยู่กับครอบครัว นี่เป็นโจทย์ที่ผมตั้งขึ้น ประกอบกับคุณพ่อก็อายุมากขึ้น และอยู่บ้านคนเดียว จนผมมานึกถึงคำสอนขององค์ในหลวง ร.9 เรื่องชีวิตพอเพียง ทำให้เริ่มรู้สึกว่าน่าจะใช่กับเรา และพอดีผมมีโอกาสได้อุปสมบทหมู่ถวายในหลวง ร.9 โดยผมบวชอยู่ 2 ปี พอสึกออกมา ผมตัดสินใจว่า เราพอกับชีวิตในเมืองแล้ว ก็เลยวางแผนเตรียมตัวที่จะกลับมาอยู่บ้านเกิด“ ยา บอกถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิต

ก่อนจะเล่าต่อว่า เขาได้วางแผนที่จะถอนสมอจากในเมือง เพื่อกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด โดยใช้เวลาวันหยุดเสาร์อาทิตย์กลับบ้านเพื่อลองปลูกผัก ปลูกกล้วย แต่ก็ปลูกไม่รอด จนเริ่มศึกษาพบว่าพื้นที่แถวบ้านเป็นที่ดอน ที่เหมาะทำประมงหรือเลี้ยงสัตว์มากกว่า ซึ่งชุมชนแถวนั้นนิยมเลี้ยงกุ้ง แต่เขาคิดว่าถ้าเขาเลี้ยงกุ้งก็ไม่น่าจะรอด เพราะต้นทุนสูง

ที่สุดก็ลงตัวที่การ “เลี้ยงปูนา” เพราะเห็นว่าปัจจุบันความต้องการปูนามีเยอะ แต่ปูนาในธรรมชาติลดลง ทำให้เห็นช่องว่างของตลาด จึงสนใจและเริ่มไปศึกษาวิธีการเลี้ยงปูนาแบบน้ำใส ที่ฟาร์มปูนาใน จ.ราชบุรี จากนั้นก็ได้นำความรู้ที่เรียนรู้มาทดลองเลี้ยงดู ปรากฏปูนารุ่น 1 รุ่น 2 ตายหมดเกลี้ยง เพราะไม่ได้ถ่ายน้ำ ไม่ได้ให้อาหาร เนื่องจากตอนนั้นเขายังทำงานอยู่ จึงไม่มีเวลาดูแล แต่เขาก็ไม่ท้อ โดยพยายามศึกษาปรับทำบ่อเลี้ยง และหาวิธีเลี้ยงให้เหมาะสม โดยใช้เวลาเรียนรู้กว่า 1 ปี ในที่สุดก็สามารถทำได้สำเร็จ

เอาจริง ๆ ช่วงที่ทดลองเลี้ยง ยังแอบเลี้ยงไม่ให้ที่บ้านรู้เลย เพราะไม่แน่ใจว่าจะเห็นด้วยมั้ย แต่ก็คิดว่าถ้าจะทำจริงจังก็ต้องเริ่มจากคนในบ้าน ที่ต้องเดินไปพร้อมกัน และเป็นกำลังใจให้กันก่อน จึงตัดสินใจบอกครอบครัวว่าจะทำฟาร์มเลี้ยงปูนา และพาทุกคนขึ้นรถไปดูฟาร์มปูนา โดยอธิบายให้เข้าใจว่าเราสามารถทำได้ แต่ทุกคนต้องช่วยกัน ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วย และพร้อมที่จะก้าวไปพร้อมกับผม“

กระบอกไม้ไผ่ “นวัตกรรมรูปู”

   ทั้งนี้ ยา บอกว่า ประสบการณ์จากตอนทำงานประจำ เขาก็ได้นำมาปรับใช้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะการคิดอย่างเป็นระบบที่นำมาใช้สำหรับการวางแผนการเลี้ยง ซึ่งนอกจากเลี้ยงปูนาแล้ว ก็ยังเปิดร้านอาหารคู่กันไปด้วย เพราะมองว่าถ้ามีร้านอาหารของตัวเอง เขาสามารถนำปูนาที่เลี้ยงมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อทำอาหารได้ และนอกจากนี้เขายังได้เปิดฟาร์มทำเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนี้ให้กับผู้ที่สนใจการเลี้ยงปูนา โดยเขาได้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นแหล่งทุนสำคัญ จนทำให้สามารถลงทุนและขยายกิจการมาได้จนถึงวันนี้

แต่กว่าจะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า ’ทำสำเร็จแล้ว!!!“ กว่าจะมีวันนี้ “ยา-เซียนปูนา” บอกว่า ก็ต้อง “ฝ่าฟันกับคำดูถูกดูแคลน” ของคนที่ไม่เชื่อว่าเขาสามารถเลี้ยงปูนาขายเป็นอาชีพได้มาอย่างมากมาย แต่กระนั้น ก็เพราะคำพูดของคนเหล่านั้นนั่นเอง ที่ผลักดันทำให้เขากล้าเดินจนมาถึงวันนี้

’ช่วงแรก ๆ นอกจากจะปิดบังครอบครัวเรื่องเลี้ยงปูนาแล้ว ผมยังแอบเลี้ยงไม่ให้คนในชุมชนรู้ว่าเราทำฟาร์มปูนา แล้วพอคนรู้กัน เขาก็หาว่าเราบ้า โดยบอกว่าเลี้ยงแล้วจะไปขายใคร เพราะปูนาหาเอาจากธรรมชาติก็ได้ และก็ไม่ใช่แค่ชาวบ้าน แม้แต่อาแท้ ๆ ที่ส่งผมเรียนยังไม่เห็นด้วยเลยที่จะทิ้งเงินเดือนเป็นแสนมาเลี้ยงปูนา“ เขากล่าว

ให้ความรู้การเลี้ยงปูนา

อย่างไรก็ดี แม้จะเริ่มต้นด้วยคำดูถูก-ความไม่เชื่อมั่นของคนรอบข้าง แต่วันนี้เขาก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า ’ไม่ได้บ้า!!!“ ซึ่งตอนนี้ฟาร์มของเขานั้นเป็นฟาร์มแห่งแรกและฟาร์มแห่งเดียวของ อ.สองพี่น้อง และเป็นฟาร์มลำดับที่ 2 ของ จ.สุพรรณบุรี ที่จดขึ้นทะเบียนประมง โดยตอนนี้เขาถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในการทำฟาร์มปูนา แต่ก็ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง โดยตอนนี้พยายามพัฒนาระบบเลี้ยงให้เหมาะสมมากขึ้นอีก และพยายามคิดทฤษฎีที่ให้คนอื่นสามารถนำไปใช้ได้ด้วย เช่น “กระบอกไม้ไผ่” นำมาใช้ทำเป็น “ที่อยู่ของปูนาในบ่อเลี้ยง” ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่านี่เป็นแนวคิดที่ออกไปจากฟาร์มของเขา ที่เขาเป็นคนคิดและพัฒนาขึ้น

’ผมเริ่มจากซื้อไม้ไผ่มาตัด สั้นบ้างยาวบ้าง เพื่อหาระยะความยาวที่พอดีในการที่ปูนาจะเข้าไปอยู่ ทดลองอยู่นาน ในที่สุดก็ได้ขนาดที่พอดี ซึ่งตอนนี้ฟาร์มต่าง ๆ ก็ใช้อุปกรณ์นี้กันแพร่หลายแล้ว“ ทาง “เซียนปูนา” รายนี้ระบุ

ก่อนจบการสนทนากันวันนั้น “ยา-อยุทธยา” เซียนปูนาสู้ชีวิต ได้บอกย้ำกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า’ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะพาทุกคนในครอบครัวไปสบายหรือลำบาก แต่ตอนนี้มีความสุขมาก เพราะทำตามโจทย์ชีวิตที่ตั้งไว้ได้สำเร็จแล้ว นั่นคือ…

ได้ทำงานและอยู่กับคนที่เรารัก“.

‘เคล็ดวิชาเซียน’ ใจรัก-มุ่งมั่น-เรียนรู้

กับ “อุไรวรรณ” คู่ชีวิตเซียนปูนา

“เซียนปูนา” ที่ชื่อ “ยา-อยุทธยา สำเนียงเย็น” ได้แนะนำผู้ที่สนใจจะเลี้ยงปูนาด้วยว่า เลี้ยงปูนาไม่ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะง่ายเสียทีเดียว ซึ่งการที่จะเลี้ยงให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องเริ่มจาก “ใจรัก” อยากทำจริง ๆ ไม่ทำเล่น ๆ นอกจากนั้นต้อง “มุ่งมั่น” อดทนไม่ย่อท้อ เพราะการเดินทางบนเส้นทางนี้ไม่ได้ราบเรียบ แต่ก็ไม่ยากเกินความพยายาม ส่วนอีกเรื่องคือ “ความรู้” ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ดังนั้นจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ให้ดีก่อน จากนั้นก็นำไปปรับเข้ากับตัวเอง

’เราเองพอทำสำเร็จ เราก็อยากจะถ่ายทอดให้คนอื่นทำได้เหมือนเรา ตอนนี้ผมก็เลยเปิดศูนย์เรียนรู้ให้คนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้เพื่อนำกลับไปลองทำเป็นอาชีพ เพื่อส่งเสริมให้มีการเลี้ยงปูนามากขึ้น นอกจากนั้นก็ทำยูทูบสอนวิธีเลี้ยงปูนาทุกอย่าง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าจะทำอาชีพนี้มั้ย เพราะไม่อยากให้ใครเสียเงินเสียเวลาเปล่า“ ทาง “เซียนปูนา” คนนี้ทิ้งท้าย.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน