ประเทศไทยก็ต้องจับตาใกล้ชิด หลังเกิดแผ่นดินไหวไม่เล็กในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านติดไทยบ่อย ๆ ซึ่งในไทยก็รับรู้ได้ถึงแรงสั่นไหวที่เกิดขึ้น ขณะที่รายงานของ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า… ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 เรื่อยมา มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในแถบนี้แตะหลัก 10 ครั้งแล้ว!!…  

ใช่แค่ในประเทศเพื่อนบ้าน…ที่ไทยก็เกิด!!

ทั้งนี้ เหตุการณ์ “แผ่นดินไหว” ตามรายงานของกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหวนั้น ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลมาสะท้อนต่อ ดังนี้… ในช่วงระหว่างเดือน มี.ค.-เดือน ก.ค. 2565 มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ กล่าวคือ…19 มี.ค. เวลา 00.52 น. แผ่นดินไหวขนาด 3.8 ที่ประเทศเมียนมา ห่างจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 23 กม., 5 เม.ย. เวลา 03.47 น. แผ่นดินไหวขนาด 3.4 พื้นที่ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์, 17 เม.ย. เวลา 21.11 น. แผ่นดินไหวขนาด 4.1 ที่ประเทศลาว ห่างจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ประมาณ 18 กม.

29 พ.ค. เวลา 02.58 น. แผ่นดินไหวขนาด 2.6 พื้นที่ ต.เมืองพาน อ.พาน จ.เชียงราย, 8 มิ.ย. เวลา 10.26 น. แผ่นดินไหวขนาด 5.0 ที่ประเทศเมียนมา ห่างจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 79 กม. ได้รับแจ้งรู้สึกสั่นไหวบริเวณ อ.แม่จัน และ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย, 30 มิ.ย. เวลา 01.54 น. แผ่นดินไหวขนาด 5.4 ในประเทศเมียนมา ห่างจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 76 กม. ได้รับแจ้งรู้สึกสั่นไหวบริเวณ อ.แม่จัน อ.แม่ฟ้าหลวง อ.เมือง อ.แม่สาย จ.เชียงราย, 21 ก.ค. เวลา 23.40 น. แผ่นดินไหวขนาด 5.1 ที่ประเทศเมียนมา ได้รับแจ้งรู้สึกสั่นไหวบริเวณ อ.เมืองเชียงราย อ.แม่จัน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย, 22 ก.ค. ในวันเดียวได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขึ้นไล่ ๆ กัน 2 ครั้ง โดยมีจุดศูนย์กลางเกิดที่ประเทศเมียนมา กล่าวคือ เวลา 00.07 น. แผ่นดินไหวขนาด 6.4 และเวลา 05.22 น. แผ่นดินไหวขนาด 5.3 ซึ่งเกิดในประเทศเมียนมา แต่ก็สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นไหวในบางพื้นที่ของ จ.เชียงราย

และเมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา เวลา 20.11 น. ก็เกิด แผ่นดินไหวขนาด 4.7 ซึ่งมีจุดศูนย์กลางเกิดขึ้นที่ประเทศเมียนมา ห่างจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 87 กม. โดยประชาชนคนไทยในบางพื้นที่ของ จ.เชียงราย ก็สามารถสัมผัสรับรู้ได้ถึงแรงสั่นไหวจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ด้วย …เหล่านี้เป็นเหตุที่เกิดขึ้น เป็นเหตุ “ธรณีไหว-แผ่นดินไหว” ในช่วงระยะเวลาราว 5 เดือน ซึ่งตอกย้ำว่า “ไทยก็ประมาทภัยพิบัติชนิดนี้ไม่ได้!!”

ชี้ชัดว่า “ภัยแผ่นดินไหวไม่ไกลตัวคนไทย”

โดยที่ “การรับมือภัยนี้มีความสำคัญมาก!!”

“ต้องพร้อม…โดยเฉพาะอาคารบ้านเรือน”

โฟกัสที่ “อาคารบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ กับภัยแผ่นดินไหว” ในไทย มีหลายหน่วยงานที่ผลักดัน “การตั้งรับที่มีมาตรฐาน” รวมถึงวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ที่ร่วมกับ สกสว. และกรมโยธาธิการและผังเมือง ผลักดัน-ยกระดับมาตรฐานในการ “ออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว” โดยเรื่องนี้ได้มีการผลักดันเพิ่มไว้ตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็น “มาตรฐานฉบับใหม่” ที่มีเป้าหมายเพื่อจะยกระดับมาตรฐานการรองรับภัยพิบัติ โดยเฉพาะ “ภัยแผ่นดินไหว” ให้มีมาตรฐานที่สูงเพิ่มขึ้นมากกว่ามาตรฐานฉบับเก่าที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2552

ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดในเรื่องนี้… ในขณะนั้นทางวิศวกรชำนาญการของกรมโยธาธิการและผังเมือง ดร.ทยากร จันทรางศุ ได้ให้ข้อมูล “มาตรฐานฉบับใหม่” ไว้ว่า… ได้มีการเพิ่มเติมบทนิยาม บริเวณเฝ้าระวัง เข้าไป โดยจะหมายถึง บริเวณหรือพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ว่า แผ่นดินไหวจะส่งผลกระทบในระดับปานกลาง และระดับสูง ในด้านโครงสร้างอาคาร รวมถึงยังได้เพิ่มเติมเรื่อง จังหวัดที่ควรควบคุม หรือควรเป็นพื้นที่ควบคุมทันทีหลังประสบภัย

อนึ่ง มาตรฐานใหม่นี้ ดร.ทยากร ยังระบุไว้อีกว่า… มีการเน้นเรื่อง การ “จัดรูปทรงและผังอาคาร” ให้มีเสถียรภาพในการต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว รวมถึง กำหนด “รายละเอียดชิ้นส่วนและรอยต่อระหว่างชิ้นส่วน” เพื่อให้ได้มาตรฐานเทียบเท่ากับมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว ตามมาตรฐานสากล

นอกจากนั้น ยังได้มีการบรรจุข้อมูลและข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวในประเด็นต่าง ๆ เข้าไปอีก อาทิ การปรับค่าระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหว, การกำหนดค่าความเร่งตอบสนองเชิงสเปกตรัม ที่มีลักษณะเป็น แอ่งดินลึก สำหรับ พื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมถึงเพิ่มข้อกำหนดการใช้โครงสร้างแบบความเหนียวจำกัด การใช้ผนังอิฐก่อ การออกแบบฐานราก การให้รายละเอียดเหล็กเสริม …ซึ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ก็แน่นอนว่ามีวัตถุประสงค์สำคัญในการเพิ่มเติม คือ… เพื่อจะ “รับมือแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด”

หลัง ๆ “แผ่นดินไหว” นี่ดู “ยิ่งน่าเสียวไส้!!”

ก็หวังว่าไทยจะ“อัพมาตรฐานรับมือ” ได้ดี

“โดยเฉพาะอาคารสูง” ที่จะ “ละเลยมิได้”

“หวังว่าในไทยจะไม่มีเหตุถล่มวินาศ??”.