นางโบชรา เบลฮัจ ฮมิดา ใช้เวลาทั้งชีวิตของเธอไปกับการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมระหว่างเพศ และประชาธิปไตยในตูนิเซีย ด้วยคำพูดที่ว่า “ทั้งสองสิ่งจะไม่สามารถทำสำเร็จได้ หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป”

หลังการปฏิวัติอาหรับสปริง เมื่อปี 2554 ที่นำไปสู่การขับไล่ประธานาธิบดีซิเน เอล อาบิดีน เบน อาลี จนลาออกจากตำแหน่งผู้นำตูนิเซีย ยุติการครองอำนาจยาวนาน 24 ปี สภาตูนิเซียผ่านกฎหมายความเสมอภาคทางเพศ คือช่วงเวลาเดียวกันกับที่ฮัมมิดา เข้าร่วมพรรคการเมือง “นิดา ตูเนส” ทว่าการเป็นผู้หญิงในการเมืองตูนิเซีย และการเป็นผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียม ไม่ใช่เรื่องง่าย

“ฉันเคยประสบกับการล่วงละเมิด, การใส่ร้ายป้ายสี, การสบประมาท, การขู่ฆ่า และความต้องการที่จะลอบสังหาร” เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า เธออยู่ใต้ความคุ้มครองของรัฐตั้งแต่ปี 2555

อย่างไรก็ดี ตูนิเซียในปัจจุบันกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในทัศนคติต่อผู้หญิงในตำแหน่งที่มีอำนาจ ซึ่งมากกว่าในส่วนอื่น ๆ ของโลกอาหรับ

Al Jazeera English

ผลการสำรวจครั้งใหม่ที่จัดทำโดยหน่วยงาน “อาหรับ บารอมิเตอร์” พบว่า ประชาชนชาวตูนิเซียที่เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า “ผู้ชายคือผู้นำทางการเมืองที่ดีกว่าผู้หญิง” มีจำนวนลดลงเหลือ 40% จาก 56% นับตั้งแต่ปี 2561 ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประธานาธิบดีคาอิส ไซเอด ผู้นำตูนิเซีย แต่งตั้งให้บูเดนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือน ต.ค. 2564

นางอมานีย์ จามาล ผู้ก่อตั้งร่วมของอาหรับ บารอมิเตอร์ และคณบดีภาควิชากิจการสาธารณะและนานาชาติ ของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ในสหรัฐ ให้ความเห็นว่า “สิ่งนี้แสดงถึงผลกระทบจากต้นแบบ” ขณะเดียวกัน “ก่อนการแต่งตั้งครั้งนี้ พวกเราไม่เคยเห็นการเปลี่ยนแปลง ในความคิดเห็นของสาธารณชนเกี่ยวกับสิทธิสตรีที่มากขนาดนี้มาก่อน”

อย่างไรก็ตาม ฮมิดา อธิบายถึงการแต่งตั้งบูเดนว่าเป็น “ดาบสองคม” โดยให้เหตุผลว่า แม้มันจะมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ของการยุติ “สิทธิพิเศษของผู้ชาย” แต่การขาดความมุ่งมั่นต่อสิทธิสตรีและความเท่าเทียมโดยสิ้นเชิง อาจถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวของผู้หญิงในกิจการสาธารณะได้

ด้านนางเคนซา เบ็น อาซูซ นักวิจัยขององค์กรสิทธิมนุษยชน “ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์” (เอชอาร์ดับเบิลยู) กล่าวว่า กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีชาวตูนิเซียที่เธอเคยพูดคุยด้วย ไม่เชื่อว่าการแต่งตั้งบูเดนจะนำไปสู่ “ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม” ใด ๆ เช่นเดียวกับการเพิ่มเติมในแง่ของสิทธิที่เป็นหลักประกันสำหรับผู้หญิง

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังแสดงถึงสัดส่วนประชาชนสูงถึง 61% ที่เชื่อว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงเพิ่มมากขึ้นในปีที่แล้ว แม้ประเทศจะมีกฎหมายที่ต่อต้านเรื่องดังกล่าวก็ตาม อีกทั้งพลเมืองที่กล่าวว่า “ผู้ชายควรมีสิทธิตัดสินเด็ดขาดในครอบครัว” มีสัดส่วนลดลง 11% นับตั้งแต่ปี 2561 เช่นกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเด็นทางการเมือง หรือชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หญิงในตูนิเซีย จะขยับไปในทิศทางใด หรือเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน คือสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไปในระยะยาว.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES