ประติมากรรมหินสลักที่ขุดพบในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง ตามรายงานข่าว ตามที่เว็บไซต์สำนักพระราชวังได้เผยแพร่ข้อมูล การขุดพบประติมากรรมหินสลักในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวังว่า เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 ในการปรับปรุงเส้นทางเข้าชมภายในพระบรมมหาราชวัง บริเวณประตูมณีนพรัตน์ไปยังประตูสวัสดิโสภา ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงก่อสร้างได้ขุดพบประติมากรรมหินสลักจำนวนมากจึงได้เปิดการขุดค้นทางโบราณคดี จากหลักฐานพบว่าเป็น ประติมากรรมรูปบุคคลหลากหลายเชื้อชาติ และสัตว์ในเทพนิยาย ซึ่งจารึกที่พบบนประติมากรรมหินสลักบางตัว ระบุเป็นภาษาจีนว่า ทำที่มณฑลกวางตุ้ง

จากการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในเบื้องต้นพบว่า ประติมากรรมหินสลักเหล่านี้ปรากฏในภาพถ่ายเก่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดับตกแต่งอยู่โดยรอบพระอารามและโยกย้ายในรัชสมัยต่อ ๆ กันมา ซึ่งมีหลักฐานจากภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือทั้งในประเทศและต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการอนุรักษ์ซ่อมแซมประติมากรรมหินสลัก และนำมาประดับในวัดพระศรีรัตนศาสดารามบริเวณตำแหน่งเดิม หรือใกล้เคียงตามหลักฐานที่ปรากฏ

ประติมากรรมหินสลักดังกล่าวได้รับความสนใจมีผู้เข้าชมอย่างต่อเนื่อง และจากที่กล่าว ตุ๊กตาศิลาแต่ละสถานที่น่าสนใจ น่าชม ทั้งนี้พาลัดเลาะชมตุ๊กตาศิลา โดยหนึ่งในสถานที่ที่มีความโดดเด่น รวบรวมตุ๊กตาศิลาจีนจัดแสดงให้ศึกษาชื่นชมจำนวนมาก

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอกและเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดโพธาราม วัดเก่าที่เมืองบางกอกครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวัง 

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ โดยผู้เชี่ยวชาญงานศิลปกรรมสาขาต่าง ๆ ทุ่มเทผลงานสร้างสรรค์พุทธสถานและสรรพสิ่งที่ประดับอยู่ในพระอารามหลวงด้วยพลังศรัทธาตามพระราชประสงค์ของพระองค์ที่ให้เป็น แหล่งรวมสรรพศิลป์ สรรพศาสตร์ เปรียบเป็นมหาวิทยาลัยแห่งสรรพวิชา เป็นมรดกให้ลูกหลานไทยเรียนรู้

วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) นับเป็นปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่นักท่องเที่ยวมีเป้าหมายเดินทางไปชมพุทธศิลป์ที่งามวิจิตร ผสมผสานกับภูมิปัญญาไทยที่ยังเป็นอยู่ยังสืบสานกันอยู่ และอีกหนึ่งเสน่ห์ของวัดโพธิ์คือ “ตุ๊กตาศิลาจีน” ที่ตั้งประดับตามซุ้มประตูและพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วบริเวณวัด

พระมหานพรัตน์ อภิชฺชโว หัวหน้าแผนกทัศนศึกษาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ ให้ความรู้ นำชมตุ๊กตาศิลาจีนว่า ถ้าพูดถึงตุ๊กตาศิลาจีนวัดโพธิ์ ในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 การค้าสำเภารุ่งเรือง ครั้งนั้นมีการติดต่อค้าขายกับชาวจีน การติดต่อกันทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทั้งในด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม วิถีชีวิตผู้คน

“วัดโพธิ์เปรียบดั่งพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งจัดแสดงประติมากรรมตุ๊กตาศิลาจีน โดยวัดโพธิ์เป็นสถานที่หนึ่งที่มีตุ๊กตาศิลาประดับอยู่มาก นอกจากที่นี่ยังมีอีกหลายวัดสำคัญเช่น วัดสุทัศนเทพวราราม วัดอรุณราชวราราม วัดเทพธิดาราม ฯลฯ วัดที่สร้างและปฏิสังขรณ์ในรัชสมัยพระองค์ท่านมีประดับอยู่ทั้งหมด อย่าง วัดอรุณราชวราราม มีข้อมูลกล่าวถึงตุ๊กตาหิน ซึ่งมีจำนวนมาก มีหลายรูปแบบให้ชมทั้งยังเป็นส่วนประกอบในงานสถาปัตยกรรม เป็นต้น”

หัวหน้าแผนกทัศนศึกษา วัดพระเชตุพนฯ พระมหานพรัตน์ อธิบายเพิ่มอีกว่า ตุ๊กตาศิลาจีนที่ประดับในสถานที่ต่าง ๆ ถ้าแยกออกเป็นประเภทจะเห็นกลุ่มของ สิ่งปลูกสร้างอาคารจำลอง อย่างเช่นเจดีย์ ศาลเจ้า ฯลฯ ต่อมาคือ เซียนหรือเทพ กลุ่มคน และสัตว์ต่าง ๆ ส่วนการประดับเป็นไปตามความเหมาะสมกับพื้นที่ อย่างที่วัดโพธิ์จะได้ชมตุ๊กตาจีนขนาดใหญ่ รูปขุนนาง ประดับพระระเบียงพระอุโบสถ ประดับซุ้มประตูทางเข้าหมู่พระมหาเจดีย์ ฯลฯ แต่งกายแบบจีนเต็มรูปแบบ งดงาม หรือแต่งกายแบบฝรั่งก็มีให้ชม

ในกลุ่มรูปสัตว์ต่าง ๆ ก็เป็นที่น่าสนใจ ตุ๊กตาหินกลุ่มนี้มีความหลากหลาย สวยงาม น่าศึกษา ทั้งในด้านความหมาย ความเชื่อตามคติจีนและทางด้านศิลปะ อย่างเช่น สิงโต ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก มี ม้า แพะ หมู ฯลฯ ส่วน กลุ่มคน มีความหลากหลาย มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก นักปราชญ์ ฯลฯ โดยมีขนาดไม่ใหญ่มาก ส่วนกลุ่มของสิ่งปลูกสร้างจัดวางขึ้นอยู่กับพื้นที่ของวัดวาอารามนั้น ๆ อย่างที่วัดโพธิ์มีพื้นที่กว้าง โล่งก็จะพบเห็นกลุ่มนี้

พระมหานพรัตน์ให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า นอกจากที่กล่าวมายังศึกษาค้นคว้าเพิ่มได้จากเว็บไซต์วัดพระเชตุพนฯ ซึ่งแนะนำ เห็นถึงการนำไปตั้งประดับอย่างมีศิลปะ ประยุกต์รูปปั้นตั้งประดับเข้ากัน โดยส่วนหนึ่งอย่างเช่น ลั่นถัน ตุ๊กตาหินยืนถืออาวุธ เป็นขุนนางฝ่ายบู๊ เป็นนักรบมือถืออาวุธ มีเสื้อเกราะรัดตัวอย่างทะมัดทะแมง บางรูปเหมือนทหารยืนประจำการอยู่ เป็นนักรบระดับขุนพล มีตุ๊กตาจีนแต่งกายแบบฝรั่ง รูปมาร์โค โปโล ซึ่งมีอยู่สี่คู่ 

ตุ๊กตาจีนขุนนางฝ่ายพลเรือน สวมหมวกทรงสูงมือข้างหนึ่งถือหนังสือ ข้างหนึ่งลูบหนวดเคราเหมือนกำลังครุ่นคิด สวมเสื้อคลุมยาวและรองเท้า ภูมิฐาน เป็นนักปกครอง นักวางแผน และขุนนางแห่งราชสำนัก ตุ๊กตาจีนนักปราชญ์ สวมหมวกทรงสูง ใบหน้าเรียบ ไม่มีหนวดเครา แต่งตัวภูมิฐาน สวมเสื้อคลุมยาวพร้อมรองเท้า มือข้างหนึ่งถือพัด หรือถือหนังสือ หรือ ตุ๊กตาจีนสามัญชน คนทำงาน ส่วนมากเป็นรูปชายไว้เครา ใส่หมวกฟาง มือข้างหนึ่งถือเครื่องมือทำงาน ถือจอบ ถือแห ฯลฯ

นอกจากนี้มี ตุ๊กตารูปสิงโตคาบแก้ว รูปสลักสิงโตนิยมตั้งประดับที่เชิงบันได หรือหน้าประตูทางเข้าออกตามแต่ขนาด ในปากมีหินก้อนกลมเล็ก ๆ โดยถ้าสังเกตจากเว็บไซต์ให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า รูปสลักสิงโตนี้ ช่างสลักได้จัดทำไว้สองเพศ ตัวเมียมีลูกเล็ก ๆ อยู่ที่ซอกอก ตัวผู้อยู่ในท่าวางเท้ามีกงเล็บจับลูกแก้วหรือลูกโลกหรือสิ่งมงคลตามความเชื่อในคติจีน มีรูป ช้าง ไก่ ลิง หมู ฯลฯ ตั้งประดับตามลานบริเวณเขตพุทธาวาส บางแห่งอยู่ข้างสวนหินขนาดใหญ่เล็ก ทุกตัวไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนแห่งศิลปกรรมจีน ยังบอกเล่าฝีมือช่างสลัก ช่างปั้นมีชั้นเชิงแฝงด้วยภูมิธรรม ภูมิปัญญา และปรัชญาอันลุ่มลึกไว้ เป็นต้น

พระมหานพรัตน์อธิบายเพิ่มอีกว่ายังมีศิลาจีนโบราณที่เป็นเครื่องใช้อย่าง กระถางบัว กระถางต้นไม้ กลองศิลา ฯลฯ ซึ่งน่าศึกษา น่าชมเช่นกัน โดยนอกจากนำมาประดับตกแต่ง ตุ๊กตาศิลาเหล่านี้ยังส่งต่อการเรียนรู้ การศึกษา ทั้งนี้ตุ๊กตาศิลาจีนวัดโพธิ์มีอยู่สามขนาดคือบิ๊กไซซ์ กลุ่มนี้ค่อนข้างสูงใหญ่ มีขนาดเท่ากับคน และขนาดเล็กไม่เกินหนึ่งเมตร

จากที่กล่าวตุ๊กตาหินที่นำมาประดับจะมีอยู่ในสี่กลุ่มที่กล่าว แต่ละกลุ่มจะแยกย่อยออกไป อย่าง ในกลุ่มเทพ เซียน จะมีขุนนางฝ่ายพลเรือน ขุนนางฝ่ายทหาร มีนักปราชญ์ซึ่งศึกษาสังเกตได้จากการแต่งกาย กลุ่มสัตว์ก็มีความหลากหลายตามคติจีน ฯลฯ

ตุ๊กตาศิลาเหล่านี้ยังบอกเล่าถึงการเดินทาง ให้ความรู้เกี่ยวกับหินที่ใช้แกะสลักตุ๊กตาจีน ทั้งได้เห็นถึงการสร้างสรรค์ เห็นผลงานของช่างแกะสลัก อย่างตุ๊กตาหินที่ประดับตามซุ้มประตูจะมีรายละเอียด มีความงดงาม การแต่งกาย อากัปกิริยา ใบหน้ายิ้ม เคร่งขรึม ฯลฯ ก็มีให้ศึกษาต่างกัน ล้วนแต่เชื่อมโยงการเรียนรู้ ชวนเพลิดเพลินเมื่อได้ชม

ตุ๊กตาศิลาที่ประดับโดยรอบพระอารามในสถานที่ต่าง ๆ หากมีโอกาสเข้าชมนอกจากจะได้สัมผัสความงาม คุณค่าทางศิลปะ ตุ๊กตาศิลาที่ยืนเด่นผ่านกาลเวลามายาวนานยังฝากแฝงคติธรรม ฝากให้พิจารณา ให้เห็นถึงความหนักแน่น มั่นคง ให้อดทนอดกลั้น ผ่านพ้นอุปสรรคเข้มแข็ง แข็งแกร่งดั่งศิลา

ในด้านสุนทรียะ สิ่งที่ได้จากการชมตุ๊กตาศิลา ยังเป็นการพักผ่อนกายพักผ่อนใจ การได้ชมสิ่งที่แข็งแต่เห็นความงาม ความสงบเหมือนได้ตรวจเช็กอารมณ์ เช็กใจของเรา”

อีกส่วนหนึ่งที่อยากฝากสำหรับการมาชม อยากให้ช่วยกันดูแลรักษาประติมากรรม โบราณวัตถุต่าง ๆ ไม่เคาะ ไม่ดึงให้เกิดความเสียหายและคงไม่ใช่เฉพาะแต่ที่วัดโพธิ์ ทุกสถานที่ควรร่วมกันรักษาภูมิปัญญาคนโบราณ รักษาคุณค่า ความงดงาม

คงอยู่เป็นแหล่งเรียนรู้ ส่งต่อในด้านการศึกษา การท่องเที่ยว ได้ชื่นชมตุ๊กตาศิลาโบราณต่อเนื่องต่อไปในอนาคต.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ