ซึ่งภายหลังการเสียชีวิต ทางเพื่อนฝูงคนสนิทและครอบครัวได้เปิดเผยข้อมูลว่า…อดีตนักร้องชื่อดังรายนี้เป็นคนขี้เกรงใจ เมื่อป่วยก็มักไม่บอกใคร เพราะกลัวจะทำให้คนอื่นเป็นห่วง แต่มาครั้งนี้อาการทรุดหนักลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการช็อกจนเสียชีวิต โดยที่ยังไม่ทันได้ร่ำลากับใคร ซึ่งความสูญเสีย-การจากไปของอดีตนักร้องชื่อดังในครั้งนี้นั้น…

เป็นข่าวเศร้าของแวดวงบันเทิงไทยอีกครั้ง…

ที่ต้องสูญเสีย-ที่ “ดาวลาลับ” ดับลงไปอีกดวง…

ทั้งนี้ การ “เสียชีวิตอยู่เพียงลำพัง” ของอดีตนักร้องชื่อดังคนนี้ นี่ก็ฉายภาพให้เห็นว่า “สังคมไทยอะโลนมากขึ้น-โดดเดี่ยวมากขึ้น” ซึ่งในประเทศไทยระยะหลัง ๆ เริ่มที่จะพบกรณี “ตายเดียวดายเพิ่มขึ้น” จากในอดีตที่คนไทยได้รับรู้กรณีแบบนี้จากรายงานข่าวเหตุที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเป็นหลัก โดย “ปรากฏการณ์น่าเศร้า” เช่นนี้นั้น ในช่วงที่มีการระบาดหนักของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่มีคนไทยที่ป่วยติดเชื้อต้อง “เสียชีวิตอยู่ที่บ้าน” นอกจากประเด็นความสูญเสียแล้ว ก็ยังมีประเด็นที่ยิ่งน่าเศร้า เมื่อพบว่า… มีหลายคนที่ต้อง “เสียชีวิตอยู่เพียงลำพัง” โดยที่ไม่มีครอบครัวหรือลูกหลานอยู่ด้วย ซึ่งกับกรณีนี้…

สะท้อน “ปรากฏการณ์สังคมของไทยยุคนี้”

ที่ฉายภาพ… “สังคมไทยในยุคสังคมเหงา!!”

อนึ่ง พลิกแฟ้มเกี่ยวกับ กรณี “ตายโดดเดี่ยว-ตายเดียวดายที่เกิดขึ้นในไทย” กรณีนี้เรื่องนี้ เรื่องการ “ตายโดยลำพัง” นั้น ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้เคยร่วมสะท้อนให้เห็น “ปรากฏการณ์” ไปบ้างแล้ว และมาถึงตอนนี้…เรื่องนี้ฝ่ายต่าง ๆ ในสังคม ทั้งประชาชน ภาครัฐ น่าจะต้องพินิจกันให้มากขึ้นอีก น่าจะต้องมีแนวทางรองรับเพื่อป้องกันเหตุน่าเศร้าที่ไม่ควรเกิด โดยเรื่องนี้ทางนักจิตวิทยาผู้สันทัดกรณีทางด้านจิตวิทยาเชิงสังคม ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม ที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ก็ได้เคยให้แง่มุมเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ไว้ว่า…

…เรื่องนี้เป็นผลพวงทางลบประการหนึ่ง…จากการที่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป… จากการที่คนไทยเกิดสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม ซึ่งแม้ว่าจะมาจากหลาย ๆ ปัจจัย แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ…คนไทยต่างก็ตกอยู่ในสภาพอ้างว้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” ...เป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญในเบื้องต้น ที่ทางนักจิตวิทยาที่สันทัดกรณีจิตวิทยาเชิงสังคมได้สะท้อนไว้

ผู้สันทัดกรณีท่านเดิมสะท้อนแง่มุมเพิ่มเติมไว้อีกว่า… ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ต้องใช้ชีวิตอยู่เพียงคนเดียวตามลำพัง โดยไม่มีคู่ชีวิต ไม่มีลูกหลาน ไม่มีญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงคอยช่วยดูแลกันและกัน โดยช่วงไม่กี่ปีหลัง ๆ มานี้กรณี “น่าเศร้าสลดใจระคนน่าตกใจ” เกี่ยวกับการ “ตายโดดเดี่ยว-ตายเดียวดาย” เพียงลำพังในบ้านพัก “เป็นเวลานาน…โดยที่ไม่มีใครล่วงรู้!!” เกิดขึ้นในไทยอยู่เนือง ๆ …ซึ่งกรณีแบบนี้เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีปรากฏเป็นข่าว

“จากการที่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลทำให้ครอบครัวไทยมีขนาดที่เล็กลง จากเดิมที่มักจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ แต่จากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็ทำให้ครอบครัวไทยเปลี่ยนแปลงไปเป็นครอบครัวเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น” …ทางนักจิตวิทยาที่สันทัดกรณีจิตวิทยาเชิงสังคมได้สะท้อนเพิ่มไว้ กับอีกหลักใหญ่ใจความสำคัญ ซึ่ง…

บ่งชี้ว่า “ตายโดดเดี่ยวไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทย”

แม้จะไม่มีโควิดระบาดหนัก…ก็มีกรณีนี้เกิดขึ้น…

ทั้งนี้ ทางที่ปรึกษาโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มศว  ยังสะท้อนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ต่อไปว่า… ปัจจุบัน สังคมไทยอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง!! เพราะกลายเป็น “สังคมเหงา” ที่มีผู้ที่ “อยู่ลำพัง” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งหลายคนยังมีพฤติกรรมตีตัวออกห่างจากสังคมด้วย ซึ่งการที่คนเหล่านี้อยู่เพียงลำพังนั้น ก็มีทั้งส่วนที่เลือกชีวิตแบบนี้เองด้วยความสมัครใจ และรวมถึงส่วนที่ไม่ได้เลือกเอง แต่ “จำเป็น-จำใจ” บางรายทางญาตินั้นเลือกให้โดย “รูปแบบชีวิตเช่นนี้เจ้าตัวไม่ได้เลือกเอง”

กับสภาวะ “โดดเดี่ยวทางสังคม” ที่สุ่มเสี่ยงนำสู่การ “ตายโดดเดี่ยว-ตายเดียวดาย” นั้น ดร.วัลลภ ยังเคยชี้ไว้ด้วยว่า… สาเหตุก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะสภาพสังคมโดยตรง สภาพเศรษฐกิจ โดยผู้คนในปัจจุบันที่แข่งขันกันมากขึ้น ก็ทำให้ชีวิตเคร่งเครียด ต่างก็ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ซึ่งเมื่อการใช้ชีวิตนอกบ้านต้องพบเจอปัญหาสารพัด จนเกิดความเหนื่อยล้าในชีวิต ก็ทำให้หลาย ๆ คนเมื่อกลับถึงบ้านแล้วก็มักเก็บตัว ไม่ค่อยมีสังคมกับเพื่อนบ้าน ที่สุดก็ “ต่างคนต่างอยู่” ไม่รู้สถานการณ์ชีวิตกันและกัน…

ปัญหาที่เกิดจากลักษณะดังกล่าวนี้ในสังคมไทย ทุกคนก็ควรต้องให้ความสำคัญ เพราะนับวันจะมีแนวโน้มที่ในสังคมไทยจะมีกรณีปัญหาจากเรื่องนี้เกิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ” …นี่เป็นอีกหลักใหญ่ใจความที่ทาง ดร.วัลลภ ได้สะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ และรวมถึง… “กลุ่มเสี่ยงที่สุดคือ…ผู้มีปัญหาสุขภาพ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่ต้องอยู่แบบโดดเดี่ยว”

สภาวะ “สังคมเหงา” ปรากฏการณ์ “ยุคไทยอะโลน”

ทุก ๆ ฝ่ายในสังคมไทยนั้น “ถึงเวลาที่มิอาจละเลย”

เพราะ “แค่ตอนนี้ก็มีที่ต่อคิวกันอีกไม่น้อยแล้ว” …

ที่ “เสี่ยงจากไปขณะอยู่ลำพัง…อย่างเดียวดาย”.