ซึ่งล่าสุดก็มีกระแสเกี่ยวกับ “สายประหยัดน้ำมัน??” ที่เป็น “ดราม่าร้อนฉ่า!!” เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังเซ็งแซ่ประมาณว่า “ได้ผลจริงหรือไม่??” จนทำให้ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องออกมา “พิสูจน์-ย้ำเตือน” เกี่ยวกับอุปกรณ์ดังกล่าว…ซึ่งก็ว่ากันไป… อย่างไรก็ตาม ย้อนมองในภาพรวมเกี่ยวกับกระแส “อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า-อุปกรณ์ประหยัดเชื้อเพลิง” ปรากฏการณ์เช่นนี้มิใช่เพิ่งจะมีตอนนี้…

ที่ผ่านมาในอดีตก็มีกรณี-เกิดกระแสเช่นนี้บ่อย ๆ

โดยเฉพาะยุค “สตางค์ฝืดเคือง-ข้าวยากหมากแพง”

และ “นับเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าถอดรหัส??”

อนึ่ง เท่าที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ลองรวบรวมจากโฆษณาที่ประกาศเปิดเผย เกี่ยวกับ “อุปกรณ์ต่าง ๆ” ที่ระบุว่า ช่วยประหยัดค่าไฟได้จริง? ช่วยประหยัดน้ำมันได้จริง? ก็พบว่า… ในสื่อช่องทางต่าง ๆ มีการลงประกาศเกี่ยวกับอุปกรณ์เหล่านี้มากมาย หลากหลายรูปแบบ โดยมีทั้งที่ มีสิทธิบัตรรับรอง รวมถึงบางอุปกรณ์ก็ บรรยายสรรพคุณไว้น่าฉงน?

วันนี้ลองมาดูที่ได้ประมวลสรุปมาโดยสังเขป…

เริ่มจาก กล่องประหยัดไฟฟ้า ที่มีลักษณะเป็นกล่องขนาดเล็กและปลั๊กสำหรับเสียบกับเต้ารับตามจุดต่าง ๆ ภายในบ้าน ซึ่งมีการวางขายกันตั้งแต่ราคาหลักร้อยไปจนหลักพันบาท ซึ่งที่วางจำหน่ายในท้องตลาดจะมีอยู่ 3 แบบคือ เป็นกล่องหรือตู้ เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่มีปลั๊กเสียบกับเต้ารับไฟฟ้า และเป็นบัตรสำหรับติดหรือแตะกับอุปกรณ์ไฟฟ้า, เครื่องปรับปรุงคุณภาพไฟฟ้า ที่มีหลักการทำงานตามที่ได้มีการระบุไว้คือ ช่วยปรับปรุงคุณภาพไฟฟ้าและค่าประกอบกำลังไฟฟ้า เพื่อให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ ปลั๊กประหยัดไฟ ที่มีการระบุว่า… ช่วยควบคุมแรงดันไฟฟ้าให้คงที่เพื่อลดการใช้พลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ …นี่เป็นตัวอย่าง “อุปกรณ์ประหยัดไฟ” ที่พบการโฆษณาดาษดื่นผ่านช่องทางออนไลน์

สำหรับฝั่ง “อุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน” นั้น ก็มาแรงตีคู่ มาพร้อมกับ “อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า” โดยที่ได้ลองนำมาประมวลไว้ มีดังต่อไปนี้… กล่องประหยัดน้ำมัน ที่มีการแจกแจงการทำงานไว้ว่า… เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเพิ่มออกซิเจนหรืออากาศเข้าไปในกระบวนการเผาไหม้เพื่อให้เผาไหม้ได้สมบูรณ์ ส่งผลช่วยให้ใช้น้ำมันลดลงในระยะทางที่เท่าเดิม

ชิ้นต่อมาคือ ท่อไอเสียประหยัดน้ำมัน ที่มีหลักการทำงานด้วยการเปลี่ยนท่อไอเสียให้เป็นอุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน ด้วยการคิดค้นตัวท่อให้ต่อตรงจากจุดพักไอเสียเพื่อทำให้ลมระบายออกได้ดี จึงลดการใช้พลังงานมาหล่อเลี้ยงการดันลมไอเสียออกจากตัวท่อ, ยางประหยัดน้ำมัน โดยมีการระบุว่า… ยางนี้ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อให้การออกตัวรถยนต์แต่ละครั้งไหลลื่นกว่าเดิม จึงช่วยลดการใช้น้ำมัน, แม่เหล็กประหยัดน้ำมัน ที่มีการอธิบายว่า… แค่ติดตั้งบนท่อไอเสียก็จะประหยัดน้ำมันทันที นัยว่าอาศัยหลักการผ่านตัวนำไฟฟ้าชนิดหนึ่ง และอีกตัวอย่างก็ สายประหยัดน้ำมัน ที่มีกระแสปุจฉาอื้ออึง?

นี่เป็นตัวอย่าง “อุปกรณ์ที่มีการระบุว่าช่วยประหยัด?”

ที่ก็มีทั้ง “ฝั่งประหยัดไฟ?” และ “ฝั่งประหยัดน้ำมัน?”

ทั้งนี้ กับมุมวิเคราะห์ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ ได้สะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” โดยอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เรามักจะได้เห็น “โฆษณาอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน”  ต่าง ๆ ในระยะนี้ โดยระบุมาว่า… เรื่องนี้หากมองกันในแง่ของด้านการตลาด จะอธิบายได้ง่ายมาก ๆ ที่ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเมื่อเกิดแรงกดดันด้านพลังงานก็จะเป็นโอกาสของธุรกิจที่จำหน่ายหรือทำเกี่ยวกับเรื่องการช่วยประหยัดพลังงาน ที่จะได้รับความสนใจจากประชาชน ซึ่งแน่นอนว่า…หนีไม่พ้นที่อุปกรณ์ต่าง ๆ จะมีการออกมาส่งเสริมการขายเกี่ยวกับอุปกรณ์…

จะเน้นประเด็น “ลดใช้พลังงาน-ช่วยเซฟค่าใช้จ่าย”

ที่ในภาวะปกติอุปกรณ์เหล่านี้แทบไม่มีคนสนใจ??

ส่วนประเด็น “ใช้ได้จริง?-ใช้ไม่ได้จริง?” นั้น ทาง รศ.ดร.สมชาย ระบุว่า… บางอุปกรณ์ก็ช่วยลดได้จริง ๆ แต่ก็ไม่ได้ลดลงมากมายหรือเห็นผลได้อย่างชัดเจนมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่า…ก็มีหลายคนที่รู้ดีว่าอุปกรณ์เหล่านั้นไม่ได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายมากนัก แต่ก็ยังเลือกใช้ เพราะมองว่า “ดีกว่าไม่ลดลงเลย!!!” โดยเฉพาะ “ในสภาวะที่ค่าใช้จ่ายพลังงานพุ่งสูงขึ้น”

รศ.ดร.สมชายยังได้ระบุผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาด้วยว่า… ประชาชนทั่วไปอาจไม่สามารถรู้ได้ว่าอุปกรณ์ใดใช้ได้จริง?-ใช้ไม่ได้จริง? ซึ่งการที่จะรู้อาจต้องใช้เวลาในการทดลองใช้ อย่างไรก็ตาม หลักพิจารณาเบื้องต้นก็อาจใช้วิธี ดูจากบริษัทที่ขายว่ามีความน่าเชื่อถือ-มีชื่อเสียงแค่ไหน?? หรือสอบถามคนที่เคยใช้อุปกรณ์นั้น ๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ ไม่ซื้อตามโฆษณาชวนเชื่อ และอีกจุดที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณาก่อนจะซื้อมาใช้งานคือ… ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้คุ้มกับเงินที่เสียไปหรือไม่?? …เป็น “คำแนะนำ” จาก รศ.ดร.สมชาย กับ “ปรากฏการณ์อุปกรณ์ช่วยประหยัดมีโฆษณาดาษดื่น” …

อุปกรณ์ที่ “แท้-ใช้ได้จริง ๆ” นั้น “ก็ใช่ว่าจะไม่มี”

แต่ “ต้องดูด้วยว่าคุ้ม?-ไม่คุ้ม?” กับราคาที่จ่าย

และ “ที่ต้องระวังคือประเภทประหยัดทิพย์!!!”.