วันที่ 19-22 ก.ค.นี้ มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งก็เป็นที่ลุ้นกัน “ระดับหนึ่ง”ว่าจะมีใครถูกโหวตไม่ไว้วางใจบ้างจากเสียงงูเห่าที่อยู่ในรัฐบาล แต่เอาจริงท่าจะยากเพราะวิปแต่ละพรรคน่าจะคุมอยู่ เว้นแต่พวกที่เห็นว่า อยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ก็กระแสไม่ดี เลือกตั้งสมัยหน้าสอบตก หรือมีความไม่พอใจคนในพรรคตัวเอง พรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็อาจโหวตสวน แต่การอภิปรายยาวเกินไปก็น่าเบื่อ คนไปสนใจลงมติดีกว่าว่า จะเอาอย่างไร
ถ้าลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ ก็เท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ต้องลาออก โหวตเลือกนายกฯ ใหม่ ซึ่งขณะนี้แคนดิเดตนายกฯ ฝั่งฝ่ายค้านเหลือแค่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทยและนายชัยเกษม นิติสิริ แกนนำพรรคเพื่อไทย ส่วนนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ขวัญใจชาวเน็ตนั้นเห็นจะมาเป็นไม่ได้ เพราะมีตำแหน่งอื่นทางการเมืองคือผู้ว่าฯ กทม.ไปแล้ว จะให้โหวตเลือกนายกฯ นอกบัญชี ก็ยุ่งยาก ต้องให้สภามีมติร่วมก่อนว่าใช้นายกฯ ในบัญชีไม่ได้ แล้วจากนั้น สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ให้สองสภารับรอง ซึ่งอายุของสภาเหลือแค่ไม่นาน จนถึงเดือน มี.ค.64 การเป็นรัฐบาลช่วงสั้นๆ ดูไม่น่าจะคุ้ม
อีกทั้งบิ๊กตู่เองก็ไม่น่าจะชิงยุบสภา ( แต่ปรับ ครม.ไม่แน่ ) เพราะต้องการทำผลงาน โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านการเป็นเจ้าภาคเอเปค ซึ่งก็ได้เสนอแผนพัฒนา 3 ขามา ถ้าใครสนใจก็ไปดูในเพจของนายกฯ ได้ ขณะนี้กระแสของพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) ใช่ว่าจะดี คนต้องการความเปลี่ยนแปลง ยุบสภาไปก็เสียเปรียบนอกจากผลงานต้องดีก่อนยุบสภา …และถ้าชิงยุบสภา ส.ส.สังกัดพรรคใหม่ได้ใน 30 วันก่อน พ.ร.ฎ.เลือกตั้งบังคับใช้ ระวังจะเกิดกรณีเลือดไหลออกครั้งมโหฬาร เพราะเสียง ส.ส.หลายคนก็ไม่ได้ปลื้ม ป.ป๊อก กับ ป.ประยุทธ์นัก ค่าที่เข้าหายาก
ก็มาเล่าเรื่องอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยอ้างอิงจากสื่อ Rocket Media Lab สามารถใช้ชื่อนี้เสิร์ชดูเพจจากเฟซบุ๊กได้ Rocket Media Lab ได้สรุปการอภิปรายไม่ไว้วางใจตลอด 90 ปี ที่ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย พบว่า รัฐสภาเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรวมทั้งหมด 44 ครั้ง (ยังไม่นับรวมครั้งล่าสุดที่จะมีขึ้นในวันที่ 19-22 ก.ค. ) พบว่าเป็นการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบทั้งคณะรัฐมนตรี 9 ครั้ง และแบบรายบุคคล จำนวน 36 ครั้ง
ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ในเดือน มิ.ย. 2536 มีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งสองแบบในคราวเดียว โดยพรรคชาติไทยของนายประมาณ อดิเรกสาร ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบรายบุคคล และพรรคชาติพัฒนาของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งคณะ ซึ่งอาศัยข้อ 39 ( 2 ) แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2535 ให้พิจาณณาพร้อมกัน
ในจำนวนการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบทั้งคณะทั้ง 9 ครั้ง พบว่ามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นจริง 7 ครั้ง และไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2 ครั้ง โดยเกิดขึ้นในปี 2481 สมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา อันเกิดมาจาก ขุนชำนิอนุสาส์น ผู้ยื่นขอเปิดอภิปรายตัดสินใจถอนญัตติในวันอภิปราย และในปี 2530 สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อันเกิดจากในวันอภิปราย มีผู้ขอถอนญัตติจำนวน 15 คน ทำให้ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจมีจำนวนผู้รับรองไม่ถึง 1 ใน 5 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 137 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ทำให้ไม่สามารถเสนอญัตติต่อไปได้
ขณะที่ในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบรายบุคคลทั้ง 36 ครั้ง จะพบว่ามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นจริง 33 ครั้ง ไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 ครั้ง โดยเกิดขึ้นในปี 2523 สมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เนื่องจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมสภา ในปี 2527 สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายประมาณ อดิเรกสาร ผู้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ออกมาชี้แจงญัตติ ทำให้ญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจถูกตีตกไป และในปี 2528 สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของนายประมาณ อดิเรกสารดำเนินการต่อไปไม่ได้ เพราะในรัฐธรรมนูญไม่มีไม่ชอบตามมาตรา 137 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521
เรื่องการลงมติ การอภิปรายรัฐมนตรีแบบทั้งคณะ ไม่มีการลงมติ 1 ครั้ง ซึ่งเกิดในปี 2538 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย โดยนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาในวันที่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ ทำให้ไม่มีการลงมติเกิดขึ้น ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบรายบุคคล มีผลการลงมติ ไว้วางใจ 32 ครั้ง
การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง 44 ครั้ง รัฐบาลที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบทั้งคณะมากที่สุด คือ รัฐบาลชวน หลีกภัย 4 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่งนายกฯ 2 สมัย, รัฐบาลพระยาพหลพลหยุหเสนา 2 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่ง 5 สมัย และรัฐบาลของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐบาลละ 1 ครั้งเท่ากัน
รัฐบาลที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบรายบุคคลมากที่สุด คือรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ 8 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่ง 3 สมัย, รัฐบาลนายชวน หลีกภัย 4 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่ง 2 สมัย เท่ากับรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร 4 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่ง 2 สมัย และรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ 3 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่ง 2 สมัย และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 3 ครั้ง จากการดำรงตำแหน่ง 1 ครั้ง ( บวกครั้งวันที่ 19-22 ก.ค.เป็น 4 ครั้ง )
กระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุด คือ กระทรวงมหาดไทย จำนวน 32 ครั้ง กระทรวงคมนาคม 24 ครั้ง กระทรวงพาณิชย์ 20 ครั้ง กระทรวงการคลัง 18 ครั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 13 ครั้ง และกระทรวงอุตสาหกรรม 11 ครั้ง ในขณะที่รัฐมนตรีที่ยังไม่เคยถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเลยมี 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ( ทส.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ( อ.ว.) ซึ่งทั้ง 4 กระทรวงเพิ่งก่อตั้งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
ในส่วนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นรายบุคคล จะพบว่า พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนักการเมืองที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุด 6 ครั้ง แบ่งเป็นขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย 3 ครั้ง เมื่อปี 2536 และ 2537 ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี 1 ครั้งในปี 2540 และขณะดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหมและรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 2 ครั้ง ในปี 2545 และปี 2547 ตามลำดับ
Rocket Media Lab ได้จำแนกหมวดหมู่ประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เอาข้อมูลกระทรวงที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาพิจารณาก็จะพบว่า ในประเด็นการบริหารงานไร้ประสิทธิภาพ กระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุดคือกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย 18 ครั้ง ส่วนการทุจริต กระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุดคือ กระทรวงมหาดไทย 21 ครั้ง ประเด็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ กระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุดคือ กระทรวงมหาดไทย 14 ครั้ง ประเด็นการดำเนินนโยบายผิดพลาด กระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุดคือ กระทรวงการคลัง 4 ครั้ง และประเด็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพ กระทรวงที่ถูกอภิปรายมากที่สุดคือ กระทรวงกลาโหม 3 ครั้ง
เนื่องจากเงื่อนไขการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่างกันไปในแต่ละรัฐธรรมนูญ แต่โดยภาพรวม ตลอด 90 ปี มีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 23 ครั้ง โดยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจมากที่สุด 4 ครั้ง ส่วนนายทักษิณ ชินวัตร แม้จะมีการอภิปรายในรัฐบาลนี้มากถึง 4 ครั้ง แต่นายกฯ ไม่เคยถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะในมาตรา 185 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กำหนดว่า การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ จะต้องมี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 2 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเสียงฝ่ายค้านไม่พอ
ถ้าต้องการศึกษาข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ละเอียดขึ้น สามารถเข้าชมได้ที่เพจ Rocket Media Lab. ผลของการอภิปรายไม่ไว้วางใจเที่ยวนี้ จะมีปรับ ครม.หรือไม่ เพราะก็มีการปล่อยข่าวในเชิงไม่พอใจรัฐมนตรีบางคน เช่น ข่าวพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้ปรับนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม.ออก หรือข่าวจะปรับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ออกจากเก้าอี้ มท.1 เนื่องจาก ส.ส.ทำงานด้วยลำบาก ..แล้วเอา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณขึ้นเป็น มท. 1 แทน
ก็คงต้องรอดูหลังเกมอภิปรายต่อไป
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”