ทุกวันนี้ ชุมชนทุกส่วนของเบกัม หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ชาวมันตา” ใช้ชีวิตบนเรือขนาดเล็กที่ลอยในแม่น้ำ 2 สายหลักของบังกลาเทศ แม้จะเป็นหนทางที่ท้าทายในการเอาชีวิตรอด แต่อาจมีชาวบังกลาเทศที่ถูกผลักดันให้ปรับตัวเช่นนี้มากขึ้น เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระดับน้ำทะเล เป็นปัจจัยที่เร่งการพังทลายของแผ่นดิน

ชาวมันตาเคยประกอบอาชีพเกษตรกรและชาวประมงมาก่อน จนกระทั่งระดับน้ำสูงขึ้นและเข้าท่วมที่ดิน บีบบังคับให้พวกเขาเคลื่อนย้ายออกสู่แม่น้ำเมฆนาและแม่น้ำสายย่อย และมีเพียงความตายเท่านั้น ที่ทำให้ชาวมันตากลับขึ้นฝั่งอย่างถาวร ซึ่งหมายถึงการถูกฝังตามประเพณีของชาวมุสลิมนั่นเอง

นอกจากนี้ ภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ยังเป็นแรงกระแทกที่เข้าปะทะเรือและรายได้ของชาวมันตา รวมถึงการไม่ได้รับการบริการภาครัฐเพราะไม่มีที่อยู่ถาวร ทำให้พวกเขาต้องเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาบ้านและบัตรประจำตัวประชาชน

ด้านนายกอว์เฮอร์ นายีม วาห์รา ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่องค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ “แบรค” (BRAC) ประมาณการว่า ชาวมันตาที่อาศัยอยู่บนเรือมีจำนวนราว 300,000 คน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่นายโมฮัมหมัด อาซาส ประธานศูนย์วิจัยแม่น้ำและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ กล่าวว่า การกัดเซาะแม่น้ำไม่ใช่เหตุการณ์ระยะสั้น และด้วยคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสภาพอากาศที่เลวร้ายกว่าเดิม รัฐบาลบังกลาเทศไม่สามารถเพิกเฉยต่อผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เพิ่มสูง ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเช่นนี้ได้

อีกด้านหนึ่ง นายนารุล อิสลาม ปัตวาริ รองผู้อำนวยการหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ระดับเขตสำหรับรัฐบาลบังกลาเทศ กล่าวว่า ทางหน่วยงานมีแผนงานหลายอย่างที่จะช่วยเหลือครอบครัวชาวมันตาในการยกระดับมาตรฐานการใช้ชีวิตแล้ว พร้อมกล่าวเสริมว่า สมาชิกชุมชนจำเป็นต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน หากพวกเขาต้องการเข้าถึงผลประโยชน์จากภาครัฐ เช่น เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือเงินเบี้ยเลี้ยงหญิงม่าย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แม้ครอบครัวชาวมันตามากกว่า 20 ครอบครัว จะได้รับบ้าน ซึ่งเป็นขั้นแรกก่อนที่จะได้รับบัตรประจำตัวประชาชน ภายใต้โครงการของรัฐบาล แต่ชาวมันตาบางคนกลับปฏิเสธความช่วยเหลือนั้น โดยให้เหตุผลว่า บ้านที่พวกเขาได้รับเสนอ ตั้งอยู่ไกลจากแหล่งทำมาหากินของพวกเขามากเกินไป

สำหรับตอนนี้ ชาวมันตายังคงรอวิธีแก้ปัญหาที่จะทำให้พวกเขาสร้างบ้านได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น, ใช้ชีวิตบนบกได้มั่นคงมากขึ้น และได้อยู่ใกล้กับแม่น้ำเหมือนเดิม

“ฉันไม่อยากอยู่อาศัยในแม่น้ำอีกแล้ว มันไม่มีอนาคตสำหรับลูกหลานเลย” หญิงชาวมันตาคนหนึ่งกล่าว “หากลูก ๆ ของฉันได้รับการศึกษา อย่างน้อยพวกเขาก็จะออกจากชีวิตที่ยากลำบากแบบนี้ได้”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS