โดยมีการเรียกร้องให้สังคมไทย “เปลี่ยนมุมมองใหม่” รวมถึงช่วย “ให้สิทธิคุ้มครอง” กับคนกลุ่มนี้ ซึ่งจากข้อเรียกร้องนี้ก็ทำให้เกิดกระแส 2 ฝ่าย เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ซึ่งสังคมไทยก็จำเป็นจะต้องร่วม “หาทางออก” กับเรื่องนี้ต่อไป… ทั้งนี้ ว่าด้วยเรื่อง “สิทธิคุ้มครอง” สำหรับอาชีพดังกล่าวนี้ กรณีนี้ก็มีบทวิเคราะห์น่าสนใจโดยนักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ที่วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาสะท้อนต่อ…

มีการหยิบยก “กรณีศึกษาในต่างประเทศ”…

ในการ “จัดการเกี่ยวกับอาชีพ Sex worker”…

เพื่อให้ไทยใช้เป็นข้อมูลเพื่อศึกษาเปรียบเทียบ…

ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ดังกล่าวนี้มีขึ้นโดย ฉัตรฑริกา นภาธนาพงศ์ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ หรือ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่ระบุไว้ผ่าน รายการพินิจเศรษฐกิจการเมือง สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสะท้อนไว้ว่า… นอกจากการเรียกร้องเรื่องสมรสเท่าเทียม และการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ของกลุ่มหลากหลายทางเพศแล้ว ในเดือน Pride Month นั้นก็ยังมีเรื่องของการเรียกร้องให้มีการผลักดันเกี่ยวกับ “สิทธิการคุ้มครองอาชีพ Sex Worker” อีกด้วย ที่เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีการเรียกร้องมาอย่างยาวนานในประเทศไทยเช่นกัน โดยคนกลุ่มนี้ไม่เคยได้รับการรับรอง ที่ผ่านมา “สังคมไทยไม่ยอมรับการมีตัวตน” ของคนในอาชีพนี้ ในขณะที่ “Sex Worker” ในไทยก็ยังคงมีไม่น้อย โดยเป็น “อาชีพที่อยู่ในมุมมืด”

ทางนักวิชาการทีดีอาร์ไอท่านนี้ระบุถึงการที่สังคมไทยยังไม่ยอมรับถึงการมีตัวตนแบบเปิดเผยของ Sex Worker ไว้ว่า… การที่สังคมยังไม่ยอมรับ ส่งผลทำให้คนที่อยู่ในอาชีพนี้จึงไม่เคยได้รับการคุ้มครองในแง่ของ ความปลอดภัย และเรื่องของ สุขภาวะ เหมือนกับคนที่ทำอาชีพอื่น ๆ จึงนำสู่การเรียกร้องของผู้ที่ทำอาชีพนี้ ที่อยากให้ “รัฐให้สิทธิการคุ้มครอง” โดยที่ผ่าน ๆ มา เมื่อใดก็ตามที่มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุย สังคมก็มักจะนำเรื่องนี้ไปรวมกับเรื่องของ กฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี ทำให้เกิดการ “ตีกรอบทางมายาคติ” ส่งผลต่อการ “ตีความทางกฎหมาย” ที่ทำให้การผลักดันเรื่องนี้…

ไปไม่ถึงไหน…เหมือนการพายเรือวนอยู่ในอ่าง…

นอกจากนั้น นักวิชาการท่านเดิมยังได้เผยไว้ถึงผลการศึกษาที่พบว่า… ประเทศไทยยังไม่มีการจัดทำสถิติจำนวนผู้ให้บริการทางเพศอย่างจริงจัง ข้อมูลที่เกี่ยวกับจำนวนคนที่ทำอาชีพ “Sex Worker” นี้จะปรากฏในข้อมูลเกี่ยวกับการ “ค้ามนุษย์” เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม มีผลสำรวจของต่างประเทศ อย่างเช่นการสำรวจของ เว็บไซต์ Havocscope ที่ได้สำรวจเกี่ยวกับ สถิติ “ธุรกิจสีเทาทั่วโลก” ปี 2558 พบว่า… ทั่วโลกมีผู้ทำ “อาชีพบริการทางเพศ” มากกว่า 13 ล้านคน โดย ประเทศไทย ช่วงเวลานั้น มีผู้ค้าบริการทางเพศทุกเพศทุกวัยอยู่ที่ราว 2.5 แสนคน คิดเป็นอันดับ 8 ของโลก โดยคาดว่า อุตสาหกรรมทางเพศสร้างรายได้ให้ไทยถึง 6.4 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเป็น “เม็ดเงินมหาศาล” ไม่น้อย…

ในขณะที่อาชีพนี้ยังคงเป็นเรื่อง ผิดกฎหมาย”

ทั้งนี้ “กรณีศึกษาในต่างประเทศ” นั้น ทาง ฉัตรฑริกา นภาธนาพงศ์ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ได้มีการหยิบยกจากหลาย ๆ ประเทศที่มี “การจัดการ” เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อใช้เป็น “กรณีศึกษาสำหรับไทย” เริ่มจาก… อินเดีย ที่มีแนวคิดต้องการขจัดการค้าประเวณีให้หมดไป แต่ก็ ไม่ได้มองการกระทำของ Sex Worker ผิดกฎหมายทั้งหมด ซึ่งอินเดียได้มีการใช้นโยบายจูงใจให้คนที่ทำอาชีพนี้หันไปประกอบอาชีพอื่น ด้วยการ จัดทำโครงการจ้างงานและสนับสนุนทางด้านการเงิน

ที่ ฝรั่งเศส ที่นี่มีแนวคิดขจัดการค้าประเวณีเช่นกัน แต่ก็ ไม่ได้มองผู้ค้าประเวณีเป็นผู้ทำความผิด โดยมองว่า Sex Worker คือเหยื่อค้ามนุษย์รูปแบบหนึ่งที่ควรได้รับความช่วยเหลือทั้งทางสังคมและการเงิน ส่งผลให้ฝรั่งเศส มีสหภาพผู้ค้าประเวณี เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ที่ทำอาชีพนี้ ส่วน เยอรมนี ที่นี่มีแนวคิดทำให้ Sex Worker เป็นอาชีพถูกกฎหมาย โดยที่ มีการออกกฎหมายคุ้มครอง และข้อกำหนดการประกอบอาชีพ การประกอบอาชีพนี้ทำได้ด้วยความสมัครใจ แต่ต้องลงทะเบียนและตรวจสุขภาพ รวมถึงต้อง เสียภาษีเงินได้เหมือนอาชีพอื่น ๆ ซึ่งก็จะได้รับการคุ้มครองจากรัฐ

อีกประเทศคือ สิงคโปร์ ที่ก็มีการค้าบริการทางเพศเช่นกัน ซึ่งสิงคโปร์ก็ไม่ได้มองอาชีพ Sex Worker ผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนเต็ม 100% และจะเน้นจัดการปัญหาค้ามนุษย์มากกว่าการค้าประเวณี โดยสิงคโปร์ มีการจัดโซนนิ่งไว้ให้ผู้ค้าบริการทางเพศอยู่ในพื้นที่ที่รัฐกำหนดให้เท่านั้น …เหล่านี้เป็น “การจัดการอาชีพ Sex Worker” ในต่างประเทศ

“โอกาสที่จะทำให้ Sex Worker เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายในไทย เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่สังคมอาจต้องเริ่มจากการเปลี่ยนมุมมองใหม่เกี่ยวกับผู้ที่ทำอาชีพนี้ โดย ไม่มองที่ตัวกฎหมายอย่างเดียว แต่มองที่เรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กับสิทธิการประกอบอาชีพก่อนเป็นเรื่องแรก ถ้าเรื่องนี้ผ่าน เรื่องอื่น ๆ ก็จะค่อย ๆ ตามมา” …เป็นมุมมองนักวิชาการทีดีอาร์ไอท่านนี้ กับกรณี “Sex Worker ในไทย” ที่สะท้อนว่า “บังคับใช้กฎหมาย” แม้เป็นสิ่งต้องทำ แต่…

ดูจากกรณีศึกษาต่างประเทศในการ ลดปัญหา”

ด้วย กฎหมายเดิมที่ไทยมีอาจไม่ใช่ทางออก??” …

“Sex Worker”…หรือ “ไทยต้องพลิกมุมมอง??”.