นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ. 2564 หน่วยงานท้องถิ่นได้เริ่มแผนติดตั้งกล้องวงจรปิดใหม่ในอย่างน้อย 5 เมือง รวมถึงเมืองมะละแหม่ง ที่เป็นเมืองใหญ่อันดับ 4 ของประเทศ ซึ่งโครงการใหม่คือส่วนที่เพิ่มเติมจากการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดของรัฐบาลชุดก่อน ที่นำโดยนางออง ซาน ซูจี โดยให้เหตุผลว่าเป็นมาตรการป้องกันอาชญากรรม

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์สไม่ได้รับการตอบกลับจากโฆษกรัฐบาลทหารเกี่ยวกับการติดตั้งกล้องวงจรปิด และไม่สามารถตรวจสอบการประมูล หรือเยี่ยมชมเมืองเพื่อยืนยันการติดตั้งกล้องได้

ทั้งนี้ บริษัทที่ชนะการประมูลคือ บริษัทฟิสกา ซิเคียวริตี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น และบริษัทนอง โย เทคโนโลยีส์ ซึ่งทั้งสองต่างเป็นบริษัทจัดซื้อจัดจ้างในเมียนมา ที่ทำการจัดซื้อกล้องและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องบางส่วนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านกล้องวงจรปิดของจีน อย่างบริษัทเจ้อเจียง ต้าหัว เทคโนโลยี (ต้าหัว), บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ และบริษัทฮิควิชั่น

อนึ่ง บริษัทที่มีส่วนร่วมในการประมูลและการจัดซื้อจัดหากล้องวงจรปิด ไม่มีการตอบกลับมายังสำนักข่าวเช่นกัน อีกทั้งบางบริษัทของจีน ยังปฏิเสธการจำหน่ายระบบกล้องวรจรปิด และเทคโนโลยีจดจำใบหน้าให้รัฐบาลเมียนมาโดยตรง ขณะที่แหล่งข่าวระบุว่า บริษัทจัดซื้อในเมียนมาที่ชนะการประมูลมีการใช้ซอฟต์แวร์จดจำใบหน้าที่พัฒนาโดยบริษัทระดับท้องถิ่นและภูมิภาคในบางครั้ง เนื่องจากลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของจีนมีราคาสูง

แม้คนที่มีความรู้โดยตรงเกี่ยวกับโครงการ และกลุ่มสิทธิมนุษยชน รู้สึกกลัวว่าโครงการใหม่จะถูกใช้เพื่อปราบปรามนักเคลื่อนไหว และกลุ่มต่อต้านที่ถูกรัฐบาลทหารระบุว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” แต่พวกเขาไม่สามารถแสดงถึงหลักฐานที่บ่งบอกถึงเจตนาดังกล่าวนั้นได้

“กล้องวงจรปิดคือความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของเมียนมา เนื่องจากทางทหารและตำรวจสามารถใช้มันเพื่อติดตามความเคลื่อนไหว, หาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มนักกิจกรรม, ระบุถึงบ้านที่พักและจุดรวมตัวต่าง ๆ รวมถึงจดจำและสกัดจับรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ที่พวกเขาใช้ได้” นายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการองค์กรสิทธิมนุษยชน “ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์” (เอชอาร์ดับเบิลยู) ประจำทวีปเอเชีย กล่าวแถลงการณ์ต่อรอยเตอร์ส

อย่างไรก็ดี รายงานของรอยเตอร์สระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังวงกว้าง โดยทำการติดตั้งสปายแวร์ (spyware) ไว้ที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต เพื่อดักฟังการติดต่อสื่อสารของประชาชน และปล่อย “หน่วยต่อสู้ด้วยข้อมูล” เพื่อสังเกตการณ์และโจมตีผู้ที่ไม่เห็นด้วยในโลกออนไลน์

ด้านนายยี ตุตา อดีตนายร้อยที่ออกจากกองทหารเมื่อปลายเดือน ก.พ. 2564 บอกกับรอยเตอร์สว่า กองทัพเมียนมามีเจ้าหน้าที่ที่ทุ่มเทกับการวิเคราะห์ฟีดกล้องวงจรปิด แม้เขาจะไม่รู้ถึงจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ทำงานนี้ แต่เขาได้บรรยายถึงการไปห้องควบคุมกล้องวงจรปิดที่เต็มไปด้วยทหารหลายนาย ในกรุงเนปิดอว์.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES