ตลาดนํ้า ถือเป็นอีกสถานที่ที่เป็นจุดหมายปลายทางให้กับการพักผ่อนท่องเที่ยว มีมนต์เสน่ห์และเอกลักษณ์ เป็นแหล่งค้าขายสินค้า มีสีสันอาหารหลากหลายและเรื่องราววิถีชีวิตเชื่อมโยงวัฒนธรรมน่าศึกษา … 

ตลาดนํ้านอกจากจุดเด่นด้านอาหาร สินค้าที่หลากหลาย เสน่ห์ตลาดนํ้าที่ชวนให้เดินชิล เดินเที่ยวเพลิดเพลิน ยังมีเรื่องน่ารู้อีกหลายมิติ ทั้งนี้ อาจารย์ญาณาธร เธียรถาวร อาจารย์สาขาวิชาการท่องเที่ยว และหัวหน้างานศิลปวัฒนธรรม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ให้มุมมอง พาสัมผัสบรรยากาศที่มีมนต์เสน่ห์ของตลาดนํ้าว่า ถ้ามองในด้านพัฒนาการ ตลาดนํ้า เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้า ค้าขาย พืชผลทางการเกษตรจากสวนจากไร่ ฯลฯ เป็นแหล่งพบปะของผู้คนในชุมชน

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน จากวิถีสัญจรทางนํ้า คลอง ซึ่งใช้เป็นเส้นทางสัญจรหลักมีชุมชน การค้าในแม่นํ้าลำคลองเมื่อมีเส้นทางบกมีถนนเข้ามา ตลาดนํ้าในรูปแบบเดิมค่อย ๆ ลดบทบาทลง แต่อย่างไรก็แล้วตลาดนํ้ายังคงมนต์เสน่ห์ โดยที่ผ่านมา หลายหน่วยงานให้ความสำคัญ อนุรักษ์ ฟื้นฟู อีกทั้งกระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ซึ่งส่งเสริมให้ตลาดนํ้า บรรยากาศการค้าขายที่มีสีสัน มีเสน่ห์ในครั้งอดีตกลับมาเป็นที่สนใจ ได้รับการดูแลกลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

“ตลาดนํ้ามีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับแม่นํ้า คูคลองสายต่าง ๆ หากย้อนไปศึกษาเรื่องราวเหล่านี้จะเห็นถึงบรรยากาศวิถีไทย ความอุดมสมบูรณ์อย่างคำพูดที่ว่า สวนในบางกอก สวนนอกบางช้าง จะเห็นวิถีชาวสวน เห็นบรรยากาศแม่นํ้าลำคลอง การนำนานาผลผลิต ผลไม้จากสวน สินค้าทางการเกษตรนำมาแลกเปลี่ยนกัน”

การนัดหมายกันแต่ละครั้ง อาจมีขึ้นในวันพระ หรือช่วงข้างขึ้นข้างแรมที่นํ้าขึ้นลงไม่สูงมาก จะนัดหมายนำสินค้าทางการเกษตร นำมาขายแลกเปลี่ยนกัน ฯลฯ ส่วนหนึ่งนี้แสดงให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน เห็นบรรยากาศการแลกเปลี่ยนสินค้า การค้าขาย ตลาดของชุมชน

แม้แต่ช่วงที่มี การขุดคลองเชื่อม อย่างเส้นคลองภาษีเจริญ ดำเนินสะดวก ความเป็นชุมชนริมนํ้าก็เริ่มขยายออกไปเพิ่มขึ้น จากตลาดเล็ก ๆ ที่แลกเปลี่ยนกันในชุมชน เมื่อมีคนภายนอกเข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยน มาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น ตลาดก็ขยายใหญ่ สินค้าก็มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น

“การแลกเปลี่ยนสินค้าในลักษณะดังที่กล่าวมีมายาวนาน อย่างสมัยอยุธยา นอกจากสินค้าในท้องถิ่น พืชผักผลไม้ หมากจากในสวน ข้าวจากไร่นาหรือของสด กุ้ง ปลา ฯลฯ ที่หาได้จากแม่นํ้าลำคลอง อีกส่วนหนึ่งจะเห็นสินค้าประเภทเครื่องเทศ สินค้าจากต่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นในรูปแบบนี้ต่อเนื่องมา

จากที่กล่าวพอเมื่อมีถนน รูปแบบการค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้าในรูปแบบนี้ปรับเปลี่ยนลดบทบาทลง กระทั่งกลับมาฟื้นฟู ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ลักษณะสินค้าปรับเปลี่ยน มีความหลากหลาย มีสินค้าของฝากของที่ระลึกจากภายนอกเข้ามาเพิ่มเติม”

อาจารย์สาขาวิชาการท่องเที่ยว และหัวหน้างานศิลปวัฒนธรรม อาจารย์ญาณาธรให้มุมมองเพิ่มอีกว่า ตลาดนํ้าสำหรับตนเองมองแยกเป็นสองส่วน โดย ส่วนที่มีมาแต่เดิม และได้รับการฟื้นฟูกลับมามีชีวิตชีวาซึ่งก็มีหลายสถานที่ที่ได้รับความนิยม อย่างเช่น ตลาดนํ้าอัมพวา ตลาดนํ้าท่าคา จังหวัดสมุทรสงคราม ตลาดนํ้าดำเนินสะดวก ตลาดนํ้าที่มีชื่อเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวในจังหวัดราชบุรี หรือ ตลาดนํ้าดอนหวาย ตลาดนํ้าเก่าแก่ดั้งเดิมของจังหวัดนครปฐม ฯลฯ ตลาดนํ้าที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน บอกเล่าวิถีชีวิตชาวคลอง ชาวสวน

อีกส่วนหนึ่งเป็นตลาดนํ้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่ภาครัฐส่งเสริม หรือชุมชน ภาคเอกชนให้ความสำคัญร่วมกันพัฒนาขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีหลายสถานที่ เป็นจุดหมายให้กับนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวสัมผัสบรรยากาศ เช็กอินถ่ายภาพ อย่างเช่น ตลาดนํ้าวัดพระยาสุเรนทร์ ตลาดนํ้าที่ตั้งอยู่ในบริเวณริมคลองพระยาสุเรนทร์ ตลาดนํ้าตลิ่งชัน ในกรุงเทพฯ หรือ ตลาดนํ้าวัดตะเคียน จังหวัดนนทบุรี เป็นต้น ซึ่งส่วนนี้ก็พาย้อนให้ได้สัมผัสบรรยากาศ วิถีชีวิตวันวาน หรือมีสตอรี่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ บอกเล่าเอกลักษณ์ของชุมชน

จากรูปแบบของตลาดนํ้าทั้งสองส่วน สิ่งที่แสดงให้เห็น เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมบางส่วน ได้เห็นบรรยากาศของการพายเรือนำสินค้ามาจำหน่าย นำมาแลกเปลี่ยนกัน ฯลฯ ทั้งนี้เล่าย้อนกลับไป สมัยก่อนจะเรียก ตลาดเรือ นำสินค้าใส่เรือมาค้าขายแลกเปลี่ยนกัน จากนั้นเรียกเป็น ตลาดท้องนํ้า ค้าขายในแม่นํ้าลำคลอง กระทั่งมาในยุคหลังคำถูกตัดสั้นลงเรียกเป็น ตลาดนํ้า กระทั่งมาถึงยุคที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวตลาดนํ้าก็ใช้คำนี้เรียกflflfloating market อธิบายสื่อความหมายสื่อสารกับนักท่องเที่ยวมีความเข้าใจ

“สิ่งเหล่านี้เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตัวอาคารบ้านเรือนของชุมชนริมนํ้าที่ได้เห็นเมื่อไปในสถานที่นั้น ๆ แม้จะปรับเปลี่ยนไปหรือมีการซ่อมแซมให้สมบูรณ์สวยงาม กลิ่นอายของบ้านเรือนเก่าริมแม่นํ้า ลำคลอง ทั้งวิถีชีวิตชาวสวนที่ได้เห็นการเกษตรกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ อย่างเช่นที่ตลาดนํ้าท่าคา ที่อยู่ท่ามกลางสวนมะพร้าว ความเป็นธรรมชาติ วิถีชีวิตจริงเหล่านี้เป็นมนต์เสน่ห์ของตลาดนํ้า”

ในด้านสถาปัตยกรรมจากที่กล่าว นอกจากลักษณะบ้านเรือนริมนํ้า ถ้าศึกษาต่อเนื่องไป ยังได้เรียนรู้ถึงการปลูกสร้าง การออกแบบที่เข้ากันกับพื้นที่รวมไปถึงสภาพสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่น่าศึกษา สืบค้นได้จากตลาดนํ้า ซึ่งส่งต่อการเรียนรู้ต่อเนื่องไปอีกหลากหลายมิติ

อาจารย์สาขาวิชาการท่องเที่ยว และหัวหน้างานศิลปวัฒนธรรม อาจารย์ญาณาธรให้มุมมอง ปันประสบการณ์การเที่ยวชมตลาดนํ้าเพิ่มอีกว่า ตลาดนํ้าฉายภาพวิถีชีวิตในอดีตให้คนรุ่นหลังได้เห็น อย่างบางสถานที่มีกิจกรรมการตักบาตรทางนํ้า หรือบางตลาดนํ้า มีกิจกรรมนั่งเรือชมวิถีชาวสวน ลัดเลาะไปตามลำคลอง ชมบ้านเรือนริมคลอง ได้เพลิดเพลิน ใกล้ชิดธรรมชาติ ฯลฯ เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทั้งชุมชนเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ ซึ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญ ร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะด้วยทางตรงหรือทางอ้อม

“การร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษาความดั้งเดิมของชุมชนจะนำมาซึ่งความยั่งยืน ตลาดนํ้าจะยังคงมนต์เสน่ห์ ยังคงเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยว ทั้งยังมีความหมายคุณค่าทางด้านจิตใจให้กับคนในชุมชน ส่วนถ้าเป็นการพัฒนาสร้างขึ้นมาใหม่ ก็มีความน่าสนใจอีกหลายมิติเช่นกัน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สร้างรายได้กระจายรายได้ให้กับคนในชุมชนและนอกชุมชนในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการร่วมกันรักษาความสะอาด ให้ความสำคัญกับแม่นํ้า คูคลอง ขยะต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมบรรยากาศที่ดี ที่เหมาะกับการไปเที่ยวชม และยังส่งต่อไปถึงการเป็นเส้นทางสัญจรทางนํ้าที่ดีต่อไป”

ส่วนการพัฒนาตลาดนํ้า อาจารย์ญาณาธรให้มุมมองเพิ่มอีกว่า สิ่งสำคัญควรต้องคำนึงถึงชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชนที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมอนุรักษ์และพัฒนาหรือจัดทำตลาดนํ้าที่จะเกิดขึ้น

อีกทั้งการรักษาความเป็นของจริง สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์อัตลักษณ์ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต อาคารบ้านเรือนอาหาร ฯลฯ ทั้งนี้เสน่ห์ของตลาดนํ้าคือ วิถีชีวิต จริงของผู้คนในพื้นที่นั้น ร้านรวง บ้านเรือนที่อาศัยที่เปิดเป็นร้านค้าริมนํ้า หรือเรือที่นำสินค้าจากสวนจากที่มีอยู่ในชุมชนมาขาย หรือการจับจ่ายของผู้คนที่เดินทางมา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นเสน่ห์ เป็นสีสันสำคัญให้กับตลาดนํ้า

“ตลาดนํ้าไม่ว่าจะเป็นตลาดดั้งเดิมหรือตลาดนํ้าใหม่ ๆ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวพักผ่อน แต่ทั้งนี้หากตลาดนํ้าเหล่านั้นยังคงมีมนต์เสน่ห์ มีความเป็นวิถีของชุมชนชาวนํ้าให้สัมผัส หรือมีสตอรี่ มีบรรยากาศที่หลงเหลือ หรือมีกิจกรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงดึงดูด สร้างความน่าสนใจเป็นจุดขาย ให้กลับมาเที่ยวซ้ำ ประทับใจ”

อาจารย์สาขาวิชาการท่องเที่ยว และหัวหน้างานศิลปวัฒนธรรม อาจารย์ญาณาธร ให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า ตลาดนํ้าแต่ละสถานที่มีความน่าสนใจ มีอยู่ในหลายพื้นที่โดยส่วนใหญ่พบในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง ด้วยเพราะสภาพภูมิประเทศ วิถีชีวิต เป็นสิ่งที่น่าศึกษาและจากที่กล่าวตลาดนํ้ามีพัฒนาการ มีรายละเอียด มีเรื่องน่ารู้หลายมิติ…

บอกเล่าวิถีชีวิตริมนํ้า บอกเล่าเอกลักษณ์วัฒนธรรม. 

พงษ์พรรณ บุญเลิศ