ย้อนกลับไปเมื่อปี 2505 รมว.การต่างประเทศของไทยและสหรัฐในเวลานั้น คือ พ.อ.พิเศษ ถนัด คอมันตร์ และนายดีน รัสก์ ลงนามในร่วมกันในแถลงการณ์การทูตระดับทวิภาคี “ถนัด-รัสก์” (Thanat–Rusk Communiqué) มีสาระสำคัญว่า หากไทยเผชิญกับการรุกรานจากประเทศเพื่อนบ้าน สหรัฐจะมอบความช่วยเหลือให้แก่ไทย “อย่างทันท่วงที” การให้คำมั่นดังกล่าวของรัฐบาลวอชิงตันเป็นการขยายขอบเขต การเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงแก่ไทยเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่สองประเทศเริ่มมีความสัมพันธ์กัน จากการลงนามสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ ปี 2376
แถลงการณ์ดังกล่าวเน้นย้ำการเป็นพันธมิตรอันแข็งแกร่งระหว่างสหรัฐกับไทย ท่ามกลางบรรยากาศของสงครามเย็น อย่างไรก็ดี อีก 60 ปี ต่อมา นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศคนปัจจุบันของสหรัฐ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อต้นเดือนนี้ และลงนามในเอกสารสำคัญร่วมกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.การต่างประเทศของไทย ในเอกสารสำคัญสองฉบับ ได้แก่ แถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Communiqué on Strategic Alliance and Partnership) และบันทึกความเข้าใจในการส่งเสริมความยืดหยุ่นด้านห่วงโซ่อุปทาน (Memorandum of Understanding on Promoting Supply Chain Resilience)
บลิงเคนกล่าวถึงแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ว่าโดยส่วนตัวเขามองความตกลงฉบับดังกล่าว “มีความสำคัญอย่างมาก” เนื่องจากเป็นการขยายมิติของความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี และเป็นการวางรากฐานให้กับกรอบความร่วมมือใหม่ ที่ไทยและสหรัฐสามารถร่วมงานกันได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้นในอนาคต ซึ่งรวมถึง การส่งเสริมและขับเคลื่อนเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล
ทั้งนี้ แถลงการณ์ถนัด-รัสก์ ถือเป็นพื้นฐานที่มั่นคงให้กับความเป็นพันธมิตรระหว่างไทยกับสหรัฐในปัจจุบัน และแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ คือการขยายขอบเขตวิสัยทัศน์และความร่วมมือ เพื่อยกระดับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับสหรัฐให้ก้าวไปในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมั่นคง และปีหน้ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทั้งสองประเทศ เนื่องจากเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 190 ปีด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในอีกมุมหนึ่ง การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของบลิงเคนเกิดขึ้น หลังสหรัฐเจตนา “ห่างหาย” และ “เว้นวรรค” จากภูมิภาคแห่งนี้ไปนานถึง 4 ปีเต็ม ในยุครัฐบาลวอชิงตันชุดก่อนหน้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งแน่นอนว่า กลายเป็นการ “เพิ่มโอกาสโดยปริยาย” ให้กับการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน
ในฐานะที่ไทยคือพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดของสหรัฐในเอเชีย การปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่การทูตหมายเลขหนึ่งแห่งรัฐบาลวอชิงตัน ซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐ และรมว.การต่างประเทศจีน เดินทางมายังประเทศไทย กำลังจะทำให้ไทยกลับมาเป็น “ศูนย์กลาง” ของการช่วงชิงอิทธิพลในพลวัตภูมิศาสตร์การเมืองของภูมิภาคแห่งนี้
ภารกิจของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลวอชิงตันชุดปัจจุบันของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่เกิดขึ้นกับไทย “อย่างจำเพาะเจาะจง” ในระยะนี้ ทั้งการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ของ พล.อ.ลอยด์ ออสติน รมว.กลาโหม อาจเรียกว่าได้ “เป็นการชดเชยการทอดทิ้งทางยุทธศาสตร์” เมื่อมองย้อนหลังไปยังนโยบายต่างประเทศของไบเดนตลอดปีที่แล้ว ซึ่งแทบไม่กล่าวถึงไทยในแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ ฉบับปี 2564 การที่ พล.อ.ออสติน เดินสายเยือนสิงคโปร์ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เมื่อเดือน มิ.ย. 2564 ตามด้วยการส่งรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส เยือนสิงคโปร์และเวียดนาม ในอีกสองเดือนหลังจากนั้น ทว่ากลับไม่มีไทย
จนท้ายที่สุด สหรัฐมอบวัคซีนโควิด-19 ชุดแรกให้แก่ไทย หลังจากมอบให้อีกหลายประเทศทั้งในและนอกภูมิภาคแห่งนี้ “ไปนานแล้ว” ความเคลื่อนไหวทั้งหมดดังกล่าวนั้น สะท้อนว่าไบเดนและทีมงาน “อาจหลงลืม” ว่าจีนจับตาอยู่ทุกฝีก้าว และวิเคราะห์สถานการณ์อยู่ตลอดเวลา
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 นายหยาง เจียฉือ รมว.การต่างประเทศของจีนในเวลานั้น เคยกล่าวในบริบทของสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ว่า “จีนเป็นประเทศใหญ่กว่า ส่วนที่เหลือคือประเทศเล็กกว่า นี่คือความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้” ระเบียบโลกดั้งเดิมในภูมิภาคแห่งนี้กำลังเผชิญกับ “ความท้าทายที่แตกต่าง” เมื่อเทียบกับพลวัตการเมืองระหว่างประเทศในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา บรรยากาศที่สัมผัสผิวเผินอาจดูเหมือนสงบนิ่งไร้คลื่นลม แต่ “การทูตแบบไผ่ลู่ลม” ซึ่งไทยใช้มานาน จะยังสามารถนำพาบ้านเมือง ให้รอดพ้นจากการขับเคี่ยวระหว่างมหาอำนาจไปได้ บนหลักการของการ “รักษาสมดุล”.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : REUTERS