ผินหน้าไปทางไหนในเวลานี้…มีแต่ “คนไทยหน้าแห้ง” กับ “ยุคของแพงทั้งแผ่นดิน” ตั้งแต่กลุ่มสินค้าในชีวิตประจำวัน รวมถึงสินค้าที่ต้องใช้ประกอบอาชีพ ไปจนถึงสินค้าพลังงาน ค่ารถ-ค่าโดยสาร ฯลฯ ที่ต่างก็เรียงแถวไต่กระดานปรับราคาขึ้นแทบทุกชนิด จนทำให้ ชีวิตคนไทยปี 2565“ ต้อง “แบกรับค่าครองชีพที่สูง” สวนทางระดับ “รายได้นิ่ง-รายได้ดิ่งลง” ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ กลุ่มชีวิตที่ได้รับผลกระทบอันดับแรก ๆ หนีไม่พ้นบรรดา ’พ่อค้า-แม่ขาย“ ที่จำเป็น “ต้องสู้-ต้องจำใจรับ” กับสถานการณ์ ส่วนจะ “ปรับตัวอย่างไร?” หรือจะ “ทำได้แค่ไหน?” วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปฟังเสียงสะท้อนคนกลุ่มนี้…

เริ่มจากหัวอกของ แอนท์-ปุณฑริกา ห้วยเรไร กับ อู๊ด-ชัยบูรณ์ ปิยะรังษี สามีภรรยาที่มี “อาชีพทำขนมโบราณขาย” มานานกว่า 10 ปี ทั้งสองเป็นเจ้าของร้านขนมแม่สมใจ โดยแอนท์ ภรรยาของอู๊ด บอกกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า เดิมนั้นเธอกับสามีทำงานออฟฟิศ แล้วต้องลาออก เพราะเงินเดือนไม่พอใช้ เนื่องจากมีลูกหลายคน โดยเธอตั้งใจแต่แรกแล้วว่าจะออกมายึดอาชีพค้าขาย ซึ่งช่วงที่ใกล้จะลาออกก็ต้องมามองดูว่าจะค้าขายอะไรดี เธอจึงมีโจทย์ให้ตัวเอง กล่าวคือ อันดับแรก ต้องลงทุนไม่เยอะ อันดับสอง ต้องทำคนเดียวเองได้ และอันดับสามคือ ต้องเก็บไว้ขายได้นาน ๆ เพื่อที่หากเกิดเหตุสุดวิสัย หรือเจอฟ้าเจอฝน เมื่อออกไปขายไม่ได้ ก็จะได้ไม่เจ็บตัว เพราะทุนจมไปกับค่าสินค้า เธอจึงตัดสินใจรับ
ผลไม้มาขาย

ชีวิตเปลี่ยนเลยนะ พอมาเริ่มต้นอาชีพนี้ เพราะตะกร้าผลไม้หนัก แถมเราต้องยกคนเดียวหมด เรียกว่าปวดแขนปวดไหล่ และเหนื่อยมาก ก็ทนขายอยู่เป็นปีจึงเลิกขาย แต่ยังไม่ทันจะเริ่มทำอาชีพใหม่ มรสุมชีวิตก็เข้ามาอีกลูก เมื่อพี่อู๊ด (สามี) มาล้มป่วย ทำให้ต้องออกจากงาน เราจึงไปรับปลาเล็กปลาน้อยมาทอดขาย แต่ก็ต้องเลิกทำ เพราะไม่มีปลามาทอดขาย ต่อมาก็หันไปทำของกินขายอีกหลายอย่าง ซึ่งก็ขายดีนะ แต่มีเหตุให้ต้องเลิกทำ ก็ย้ายอาชีพมาขายยำแหนม แต่เจ้าของสถานที่บังคับให้ขาย 35 บาท เรารับไม่ได้เพราะหมูแพง ถ้าจะพอให้มีกำไรคุ้มทุนต่าง ๆ ก็ต้องขายที่ราคา 50-55 บาท แต่ไม่อยากต่อล้อต่อเถียงกับเจ้าของตลาด เราก็เลยเปลี่ยนมาขายซาลาเปาทอด ขนมไข่หงส์ ไข่นกกระทา กล้วยทอด มันทอด แอนท์ เล่าให้ฟัง

แอนท์-ปุณฑริกา กับ อู๊ด-ชัยบูรณ์

เธอคนนี้ผ่านสถานการณ์ยาก ๆ มาเยอะ ซึ่งเมื่อ “ทีมวิถีชีวิต” ถามเธอถึง “วิธีรับมือยุคข้าวของแพง” เช่นนี้ ว่าในฐานะแม่ค้าเธอแก้สถานการณ์อย่างไรเพื่อให้อยู่รอด? โดย แอนท์ บอกว่า สิ่งแรกที่ต้องคิดให้ออกคือ จะทำยังไงให้ประคองตัวได้?“ ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ชีวิตแม่ค้าเช่นเธอลำบากมาตั้งแต่โควิด-19 ระบาดรอบแรกแล้ว จนเมื่อสถานการณ์ดูดีขึ้น เธอก็คิดว่าน่าจะพอลืมตาอ้าปากได้ แต่แล้วก็ต้องเจอกับ “ภาวะเศรษฐกิจฝืดทำให้ต้องปรับตัวอีกรอบ โดยเธอได้ขยายความเรื่องนี้ว่า ถ้าถามว่าช่วงไหนลำบากกว่ากัน ก็ต้องบอกตามตรงว่าลำบากคนละแบบ คือก่อนหน้านี้ ช่วงโควิดนั้นขายของไม่ได้ก็ลำบากแบบหนึ่ง มาตอนนี้ ขายของได้แต่ต้นทุนแพงหูฉี่ นี่ก็อีกแบบหนึ่ง ก็ต้องพยายามคิดว่าจะแก้ปัญหายังไงดี แต่ดู ๆ แล้วก็ยาก เพราะเป็นปัจจัยที่เราควบคุมเองไม่ได้ ซึ่งที่ร้านต้องใช้น้ํามันปาล์มเพื่อทอดของขายในแต่ละวันเยอะ แต่น้ํามันปาล์มที่ใช้แพงขึ้นมากไม่รู้กี่เท่า จากเดิมเคยซื้อขวดละ 29-30 บาท แต่ราคาขึ้นมาเรื่อย ๆ จนเป็นขวดละ 70-72 บาท คิดดูว่าต้นทุนมันจะสูงไปถึงไหน

วิธีปรับตัวเหรอ? เมื่อต้นทุนขึ้น เราก็ต้องปรับราคาไปด้วย โชคดีที่ลูกค้าโอเค เขาเข้าใจกัน รับได้ ก็เลยยังพอขายได้ เดิมทีซาลาเปาทอดจะขาย 5 ลูก 20 บาท ก็ต้องขยับเป็น 25 บาท ส่วนกล้วยทอด มันทอด ก็เหมือนกัน เคยขาย 6 ชิ้น 20 บาท ก็ต้องปรับเป็น 25 บาทเช่นกัน แล้วตอนนี้ก็กำลังจะกลับไปขายยำแหนมอีกรอบ เพราะสู้ราคาน้ํามันไม่ไหว เธอบอก

ส่วน “คาถาสู้” อีกหนึ่งคาถาของแม่ค้าขนมเจ้านี้นั้น แอนท์ เผยว่า คือคำว่า “ขยัน-ประหยัด-อดทน” โดยเธอบอกว่า จากที่เคยท่องจำอยู่แล้ว ก็ยิ่งต้องจำให้ขึ้นใจมากขึ้น กับต้องสะกดจิตตัวเองด้วยว่า… เหนื่อยอีกนิด..ทนอีกหน่อยนะ“ 

รายถัดมา นุ้ย-อารยา มหัสธนวงศ์วาน ที่มี “อาชีพแม่ค้าขายบ๊ะจ่างห่อใบบัว” โดยยึดหัวหาดที่ตลาดน้ําอัมพวา ชีวิตแม่ค้ารายนี้ไม่ธรรมดา ก่อนหน้าที่จะมาเป็นแม่ค้านั้นเธอเป็นถึงผู้จัดการฝ่ายจัดเลี้ยงของโรงแรมประจำจังหวัด แต่ต่อมาก็ตัดสินใจผันตัวเองมาขายบ๊ะจ่าง เพราะเห็นโอกาสจากตลาดน้ําอัมพวาแห่งนี้ เธอกับคุณแม่จึงช่วยกันคิดและมองหาวัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อมาทำของขายแนวโบราณ โดยเริ่มจากข้าวเหนียวหมูห่อใบตอง แล้วเปลี่ยนมาทำบ๊ะจ่างห่อใบบัวกับข้าวห่อใบบัวขาย

อาชีพค้าขายยุคนี้ ทำอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องรู้จักพลิกแพลง ดัดแปลงสิ่งรอบตัวนำมาทำขาย

นุ้ย-อารยา

นี่เป็นแนวคิดของ นุ้ย แม่ค้าบ๊ะจ่าง อดีตผู้จัดการฝ่ายจัดเลี้ยงโรงแรม ทั้งนี้ แม่ค้ารายนี้เล่าอีกว่า ก่อนหน้านี้ชีวิตแม่ค้าของเธอก็ต้องพลิกไปพลิกมาตั้งแต่ “ยุควิกฤติโควิด” สายพันธุ์อู่ฮั่นจนมาถึงโอมิครอน ซึ่งก็ส่งผลกระทบกับเธออย่างหนัก ก่อนจะมาเจอ “วิกฤติยุคของแพง” อีก แถมช่วงนี้เป็นช่วงคาบเกี่ยวที่เธอไปเช่าตึกเพื่อขยายร้านพอดี ทำให้ทุกอย่างชะงักหมด ทั้งการขายออฟไลน์และออนไลน์ แต่เธอบอกว่า ยังไงก็ยอมแพ้ไม่ได้ ยังไงก็ต้องดิ้นรนสู้เพื่อให้รอด“ นั่นก็เพราะเธอมี “สิ่งที่ต้องแบกรับไว้” ที่จำเป็นจะต้องดูแล

ไหนจะครอบครัว ไหนจะลูกน้องที่ร้านอีกล่ะ ทำให้ร้านเราจะล้มไม่ได้ เราจึงเอาเงินเก็บที่มีทั้งหมดมาหมุนก่อน เพื่อให้ร้านไปต่อได้ ถามว่าคำว่าพลิกวิกฤติเป็นโอกาสใช้ได้ไหม ก็ได้นะ อย่างตอนที่เขาห้ามนั่งกินในร้าน ตอนนั้นเราก็ปรับตัวด้วยการทำอาหารกล่องขาย ขายดิลิเวอรี่บ้าง ก็พอจะตู๊ ๆ สู้ ๆ ไปได้ เป็นฉากชีวิตที่แม่ค้ารายนี้บอกเล่าไว้

ก่อนที่เธอจะเล่าขยายความผลจากเรื่อง ภาวะเงินเฟ้อ-ข้าวของแพง สำหรับเธอว่า ถึงตอนนี้ก็ยังดีกว่าช่วงที่โควิดระบาดหนักนิดหน่อย เพราะข้าวของแพงก็ยังพอสู้ไหว แต่… ปรากฏว่าขายไม่ค่อยได้ ขายไม่ค่อยดีเลย ซึ่งปัจจัยหลักเกิดจาก “กำลังซื้อคนที่ลดน้อยลง” เช่น จากเคยซื้อ 10 ก็ลดเหลือแค่ 2 เป็นต้น

ถามว่า จะปรับตัวสู้ยังไง?“ กับเรื่องนี้ นุ้ย-อารยา เธอบอกว่า เรื่องปรับราคา ตอนนี้คงปรับได้ไม่มาก เพราะคนคงซื้อไม่ไหว จึงใช้วิธี “ลดปริมาณลง” เช่นจากเดิม 350 กรัม ก็ลดลงมาเป็น 300 กรัม และยอม “ลดกำไรลง” คือจากเดิมอาจได้กำไร 10 บาท ก็เอาแค่ 5 บาท นอกจากนั้นก็ “หาช่องทางเสริม” เพื่อหาทางเสริมรายได้เข้ามาอีกทาง

อย่างตอนนี้ก็รับซื้อมะพร้าวกะทิจากชาวบ้านที่ขายไม่ออก เอามาทำขนมหวาน ด้วยการนำไปแช่แข็ง ก่อนจะราดซอสคาราเมล ซึ่งปรากฏว่าขายดีติดตลาดเฉยเลย ก็ถือว่าเรายังพอมีโชคอยู่บ้าง“ แม่ค้าที่ชื่อ นุ้ย-อารยา บอกกับเรา

ทางด้าน แป้ง-มนตรา ชื้นสมจิตต์ ซึ่ง “ทำเบเกอรี่ขาย” โดยเป็นเจ้าของร้าน chita.bake and brew รายนี้เล่าว่า ทำร้านกาแฟและทำขนมขายเป็นอาชีพเสริมจากงานประจำ เพราะชอบกินและสนใจทำขนมหวานอยู่แล้ว รวมถึงเธอมีความฝันอยากมีร้านกาแฟและขนมร้านเล็ก ๆ ของตัวเอง จนที่สุดความฝันนี้ของเธอก็สำเร็จ โดยเส้นทางฝันเส้นทางนี้ของเธอนั้น เริ่มจากไปเรียนทำขนม ก่อนจะนำความรู้กลับมาฝึกทำ และนำไปให้เพื่อน ๆ กับคนรู้จักลองชิม พอผลตอบรับกลับมาดี เธอก็เริ่มทำขายจริงจัง โดยเริ่มจากช่องทางออนไลน์ ขายผ่านอินสตา แกรม ซึ่งก็มีออร์เดอร์เข้ามาเรื่อย ๆ ก่อนมาเจอ “วิกฤติโควิด+วิกฤติสินค้าแพง”

แป้ง-มนตรา

ตอนนี้แม้เรายังไม่ปรับราคาขึ้น แต่ช่วงหลัง ๆ มายอดขายก็ลดลงไปเยอะทีเดียว ถามว่าค้าขายตอนนี้หนักมั้ย บอกเลยว่าหนักมาก แต่ก็เข้าใจ เพราะที่ผ่านมาโดนอะไร ๆ กันมาเยอะ ทำให้หลายคนต้องเซฟค่าใช้จ่ายกันมากขึ้น ทางเจ้าของร้าน chita.bake and brew กล่าว และว่า แน่นอน ของแพงขึ้นต้นทุนก็เพิ่มขึ้นตาม แต่ก็พยายามตรึงราคาเพื่อลูกค้าไว้

ถามว่าอยู่ได้ไหม ก็พยายามประคองให้รอดช่วงนี้ไปก่อน ไม่ค่อยได้กำไรก็ไม่เป็นไร ตอนนี้ก็อาศัยเงินเดือนจากงานประจำมาช่วย เหนื่อยหน่อย แต่ต้องสู้ เพราะไม่อยากปล่อยให้ร้านของเราล้ม เพราะร้านนี้คือความฝันของเรา“ เป็นคำบอกเล่าและความในใจของ แป้ง-มนตรา กับการฟันฝ่าวิกฤติโควิด+วิกฤติสินค้าแพง ที่กระทบฝันของเธอไม่น้อย

ขณะที่ ปิ๊ก-สุรพงษ์ แดงประเสริฐ ที่ทำ “อาชีพขายอาหารปิ้งย่าง” โดยเขาเป็นเจ้าของร้านบุฟเฟ่ต์ Gukinju (กู-กิน-จุ) สำหรับรายนี้เล่าว่า ก่อนจะมาทำอาชีพนี้ เคยเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวมาก่อน จนมีเพื่อนมาแนะนำให้เปิดร้านปิ้ง-ย่าง ซึ่งก็เป็นจังหวะที่เขาเองกำลังสนใจอยู่พอดี แต่พอช่วงที่กำลังจะเปิดร้าน ก็เจอกับโควิด-19 พอดี ทำให้ตอนนั้นจึงพักโครงการเอาไว้ก่อน จนเมื่อมีการปลดล็อกดาวน์ เขาก็ใช้เวลาอยู่ราว 3-4 เดือน ที่สุดก็ได้เปิดร้านบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง

ตอนนั้นมั่นใจว่าธุรกิจต้องไปได้ดี จึงตัดสินใจเปิดร้าน แต่ระหว่างที่กำลังไปได้สวย โควิดก็กลับมาระบาดหนักอีก ทำให้ลูกค้าลดลง และก็กลับมาเพิ่มขึ้นช่วงที่โควิดเบาลง ซึ่งพอกำลังจะได้ลืมตาอ้าปาก ก็มาเจอวิกฤติของแพงเข้าให้อีก ซึ่งรอบนี้สำหรับเราถือว่าหนักมาก ๆ เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น“ ทาง ปิ๊ก บอก

พร้อมกับเล่าถึง “ต้นทุนที่พุ่งขึ้น” ว่า เริ่มจากเนื้อหมูที่ราคาสูงขึ้น 30-40% ทำให้ร้านบุฟเฟ่ต์กระทบมาก ที่ผ่านมาทางร้านก็เคยขยับราคาขึ้นไปแล้ว 20 บาท ซึ่งการที่ราคาขยับขึ้น 10-20 บาท ก็มีผลต่อจำนวนลูกค้า จนช่วงนั้นยอมรับเลยว่า ร้านเหงาไปเลย เพราะยอดลูกค้าลดลงกว่า 50% ซึ่งกว่าที่ลูกค้าจะเข้าใจและรับได้ก็ใช้เวลาอยู่หลายเดือน แต่ก็ยังกลับมาไม่เท่าเดิม

“ตอนนี้ก็ต้องยอมแบกภาระไปก่อน เพื่อดึงลูกค้าไว้ แม้กำไรจะลดลง 20-30% ก็ต้องยอม ทำให้ทุกวันนี้เราก็ต้องมาควบคุม ต้องมารัดเข็มขัดทุกอย่าง แต่ที่จะต้องคงไว้ ไม่สามารถลดลงได้ นั่นก็คือเรื่องของคุณภาพวัตถุดิบ ยังต้องเลือกใช้วัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพมาบริการให้ลูกค้า” เจ้าของร้านปิ้งย่างบุฟเฟ่ต์กล่าว และก็บอกด้วยว่า ค้าขายช่วงนี้ยอมรับเลยว่าเหนื่อยหนัก ก็พยายามปรับตัวให้อยู่รอด และบางทีก็อาจต้องยอมเสี่ยงดวง อย่างตอนนี้ก็กำลังแพลนว่าจะเปิดสาขาใหม่ ก็หวังว่าเราคงจะไม่โชคร้ายไปตลอด หวังว่าจะมีโชค…จะมีดวงดีกับเขาบ้าง“ เจ้าของร้านบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่างที่ชื่อ ปิ๊ก- สุรพงษ์ กล่าวพ้อ ๆ

…นี่เป็น “เสียงสะท้อน” ใน “ยุคของแพงทุกหย่อมหญ้า” โดยที่ “ยุควิกฤติโควิดก็ยังไม่ปิดฉาก” ซ้ํายังมีทีท่าน่าห่วงว่าอาจจะทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง ในขณะที่ตอนนี้ก็กระทบหนักกันทั่วหน้าแล้ว ซึ่งการค้าขายก็กระทบตั้งแต่ร้านแผงลอยไปจนถึงระดับร้านหรู ที่ทุกคนต่างก็หวังว่า… “สถานการณ์วายป่วง” แบบนี้จะผ่านไปได้ในเวลาอันใกล้ แต่ในระหว่างที่เวลานั้นยังไม่มาถึง กับ วิถีชีวิตคนทำมาค้าขาย“ ทั้งหลายนั้น…

จำต้องตะโกน…สู้เว้ย!!“ ดัง ๆ.

‘ตัว K’ หรือ ‘ต้มกบ’ ก็ ‘แย่กับแย่!!’

รศ.ดร.สมชาย – ดร.ปิยภัสร

เศรษฐกิจไทยตกถึงจุดต่ำสุดแล้วหรือยัง??“ เป็นคำถามที่คนไทยต่างต้องการคำตอบ หลังต้องเจอพิษวิกฤติ
โควิดต่อด้วยวิกฤติของแพงต่อเนื่อง ซึ่งก็เคยมีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ออกมาเตือนคนไทยให้ “ระวัง!!” ทั้งกับ ภาวะเศรษฐกิจแบบ “ตัว K หางดิ่งลง” และแบบ “ต้มกบ” โดยภาวะเศรษฐกิจ ตัว K“ นั้น ทาง รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ อธิบายไว้ว่า… เป็นเศรษฐกิจแบบ เดี๋ยวขึ้น-เดี๋ยวลง“ ซึ่งส่วนที่เป็น K หางชี้ขึ้นก็พอทำเนา แต่ส่วนที่เป็น K หางชี้ลง“ นี่น่าห่วง เพราะสะท้อน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่ดี“ ที่จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ให้ทันกับความไม่แน่นอน เพื่อไม่ให้หาง K ดิ่งลงกว่านี้…ซึ่งก็อยู่ที่ว่า ทำได้-ไม่ได้“ …ส่วนภาวะเศรษฐกิจ ต้มกบ“ นั้น ทาง ดร.ปิยภัสร ธาระวานิช หัวหน้าสาขาการเงิน วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลไว้ก่อนหน้านี้ว่า… สถานการณ์ธุรกิจไทยในปัจจุบันนี้คล้ายกับเศรษฐกิจแบบต้มกบ กล่าวคือ ไม่แย่ลงทันทีทันใด แต่จะค่อย ๆ แย่ลงต่อเนื่อง ดังนั้น…ถ้าไม่รู้สึกตัว และไม่รีบแก้ไขปัญหาไว้ก่อน ก็จะตกอยู่ในสภาพเหมือนกับ กบถูกต้มในหม้อ…สุกแบบไม่ทันได้พยายามกระโดดหนี!!“.

ทีมวิถีชีวิต : รายงาน