ซึ่งกับ “หัวอกพ่อแม่ผู้ปกครอง” ก็ย่อม “หวั่นใจ!!” กันมิใช่น้อย และไหนจะมีกรณี “โควิดโอมิครอนกลายพันธุ์” ให้ต้อง “ระทึก!!” กันอีกต่างหาก… ซึ่งตราบใดที่โควิดยัง “แพร่เร็ว-ติดง่าย-กลายพันธุ์เรื่อย ๆ” เช่นนี้…ตราบนั้น “แผนรับมือเฉพาะหน้า + แผนรับมือระยะยาว” ก็ยัง “สำคัญ”…

นี่ยังเป็น “การบ้านข้อใหญ่” ของผู้ที่เกี่ยวข้อง

รวมถึงยังเป็น “โจทย์ใหญ่” สำหรับสถานศึกษา

ที่จะ “ต้องทำให้ดี-ต้องตีให้แตก” เพื่อป้องกันเด็ก

ทั้งนี้ กับการทำการบ้าน-ตีโจทย์ดังกล่าวนี้ วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะชวนดู “ข้อเสนอแนะ” เกี่ยวกับกรณีนี้ ภายใต้สภาวะทางสุขภาพในไทยที่ยังไม่แน่นอน ไม่ว่าจะจาก “ภัยโควิด” หรือ “ภัยคุกคามทางสุขภาพรูปแบบใหม่” ในโลกยุคใหม่…ที่อาจเกิดสถานการณ์ใหม่ ๆ อีก โดยมีนักวิชาการเสนอแนวทางน่าสนใจว่า… ประเทศไทยควรสนับสนุนผลักดันกรณี “โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ” โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติแบบนี้ ที่ถือเป็นโอกาสสำคัญในการเตรียมความพร้อม “เสริมสร้างเกราะคุ้มกันทางสุขภาพที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น” เพื่อใช้รับมือความท้าทาย ทั้งกับปัจจุบัน และที่อาจเกิดในอนาคต

ข้อเสนอแนะดังกล่าวนี้ เป็นส่วนหนึ่งในบทความ “ทำให้ทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพเพื่อรับมือในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งจัดทำโดย อัญชุลี อ่อนศรี และได้รับการเผยแพร่ไว้ผ่านทาง เว็บไซต์เดอะประชากร โดยทางผู้จัดทำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ เน้นย้ำให้สังคมไทยให้ความสำคัญกับเรื่อง “ความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษาและสุขภาพ” เนื่องจากมองว่า… โรงเรียนมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้เรื่องของสุขภาพ ที่สามารถจะนำมาใช้เป็น…

“กลไกสำคัญ” ในการให้ความเข้าใจแก่เยาวชนไทย

เพื่อให้เกิดการ “สร้างเกราะคุ้มกันด้านสุขภาพ” ได้

ในบทความที่น่าสนใจดังกล่าวได้มีการสะท้อนไว้ว่า… จากข้อมูลรายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทย ปี 2565 โดย องค์การยูนิเซฟ ก็ได้มีการชี้ให้เห็นว่า… ผลกระทบที่รุนแรงของโควิด-19 จนทำให้ต้องมีการ “ชัตดาวน์ทางการศึกษา” นั้น ทำให้มี เด็กและเยาวชนประสบปัญหาการเข้าถึงการศึกษา สุขภาพ และอาหาร จนส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและสุขภาพจิต รวมถึงส่งผลต่อพฤติกรรมสุขภาพ…

จนอาจทำให้เกิด “ภาวะถดถอยทางสุขภาพระยะยาว”

นี่ยิ่งสะท้อนว่า “โรงเรียนคือกลไกสำคัญในเรื่องนี้”

ทั้งนี้ ทาง องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้มีการเริ่มต้นแนวคิด “โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ (Health Promoting School)” ไว้ตั้งแต่ปี 2538 โดยให้ “คำจำกัดความ” ไว้ว่า… โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ คือโรงเรียนที่มีความสามารถในการเป็นสถานที่ทำให้เกิดสุขภาพอนามัยที่ดีต่อสุขภาพนักเรียน บุคลากรในโรงเรียน ครอบครัว และชุมชน ผ่านทางกลไกการขับเคลื่อน 6 ประเด็น ได้แก่… 1.นโยบายสุขภาพในโรงเรียน 2.สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ 3.สิ่งแวดล้อมทางสังคม 4.ทักษะส่วนบุคคลด้านสุขภาพ 5.ความเชื่อมโยงกับครอบครัวและชุมชน 6.บริการสุขภาพของโรงเรียน

ทาง อัญชุลี อ่อนศรี สะท้อนไว้ในบทความอีกว่า… หลังจากแนวคิดนี้ของ WHO ได้รับการยอมรับ ประเทศต่าง ๆ ได้นำแนวคิดไปปรับใช้ตามบริบทที่แตกต่างกันไป ซึ่งกับ ประเทศไทย ก็ได้นำแนวคิดนี้มา กำหนดเกณฑ์มาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ประเมินทั้งด้านกระบวนการและผลลัพธ์ทางสุขภาพของนักเรียนในสถานศึกษาต่าง ๆ ขณะที่ในปี 2564 องค์การยูเนสโก และ WHO ได้เปิดตัวแนวคิด “ทำให้ทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ” โดยที่…

ได้มีการ “กำหนดมาตรฐานระดับโลก” เอาไว้…

เพื่อที่จะ “ยกระดับ-อัพเกรดมาตรฐานให้สูงขึ้น”

กับ “มาตรฐานใหม่” เกณฑ์ โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ หรือ Global Standards for Health-promoting School ที่พัฒนา ต่อยอดจากแนวคิดเดิมนั้น มีเป้าหมาย ลดช่องว่าง และเพิ่มความยืดหยุ่นมากขึ้น ให้กับกระบวนการดำเนินงานของโรงเรียนต่าง ๆ โดยเน้นพัฒนาทั้งระบบให้มีความยั่งยืน และให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีการเปิดกว้างให้เกิดการออกแบบกระบวนการ และที่สำคัญยังมีเป้าหมายเพื่อที่จะ “ขยายการพัฒนาที่ครอบคลุมสุขภาพอนามัยในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน” ที่รวมถึงบุคลากรโรงเรียน ผู้ปกครองเด็กนักเรียน และชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่

“แนวคิดนี้ยิ่งสำคัญและเด่นชัดมากยิ่งขึ้นในยุคนี้ ที่พบว่า…โลกวันนี้มีภัยทางสุขภาพใหม่ ๆ เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งยิ่งทำให้แนวคิดการเสริมสร้างโรงเรียนสุขภาพเช่นนี้มีความสำคัญมากขึ้น เพราะนอกจากเป็นเรื่องของความปลอดภัยทางสุขภาพแล้ว ยังช่วยทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่าโรงเรียนจะเป็นสถานที่ปลอดภัย” …นี่ก็เป็นอีกหลักใหญ่ใจความที่น่าสนใจ

ในไทยตอนนี้…ฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็เสริมสร้างกันอยู่…

โดยที่…จะยิ่งดีถ้าทุก ๆ ฝ่ายร่วมด้วยช่วยเสริม”

เพื่อ “เร่งทำให้ทุกโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพได้ดี”.